Last updated: 3 มิ.ย. 2562 | 14337 จำนวนผู้เข้าชม |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2554
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนสั้นชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำราคา 7,000 บาท พระเครื่องเลี่ยมทองคำราคา 1,800 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ราคา 4,000 บาท กระเป๋าสตางค์ราคา 1,300 บาท ภายในบรรจุบัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ บัตรเอทีเอ็ม ธนบัตร 4,400 บาท รวมเป็นเงิน 18,100 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อาวุธปืนยิงให้ตายหากขัดขืน เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์และให้พ้นจากการจับกุม อันเป็นการกล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์องค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวอยู่ที่การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ซึ่งเมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยลักเอาทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยหรือเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของไปโดยทุจริต เช่นนี้ฟ้องของโจทก์จึงระบุรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้แล้ว โดยไม่จำต้องระบุชื่อผู้เสียหาย มิฉะนั้นหากไม่ทราบชื่อของผู้เสียหายก็จะทำให้ไม่มีทางที่จะฟ้องคดีในความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ได้ซึ่งไม่ใช่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3084/2530
โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืน แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมลักทรัพย์และใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญผู้เสียหาย โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษในข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 392 มาด้วยเมื่อการกระทำตามมาตรา 392 มิใช่การกระทำอันรวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 392 ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2554
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนสั้นชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำราคา 7,000 บาท พระเครื่องเลี่ยมทองคำราคา 1,800 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ราคา 4,000 บาท กระเป๋าสตางค์ราคา 1,300 บาท ภายในบรรจุบัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ บัตรเอทีเอ็ม ธนบัตร 4,400 บาท รวมเป็นเงิน 18,100 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อาวุธปืนยิงให้ตายหากขัดขืน เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์และให้พ้นจากการจับกุม อันเป็นการกล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์องค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวอยู่ที่การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ซึ่งเมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยลักเอาทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยหรือเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของไปโดยทุจริต เช่นนี้ฟ้องของโจทก์จึงระบุรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้แล้ว โดยไม่จำต้องระบุชื่อผู้เสียหาย มิฉะนั้นหากไม่ทราบชื่อของผู้เสียหายก็จะทำให้ไม่มีทางที่จะฟ้องคดีในความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ได้ซึ่งไม่ใช่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10015/2553
การที่จำเลยที่ 1 กับพวกและผู้เสียหายนั่งดื่มเบียร์อยู่ด้วยกัน แล้วจำเลยที่ 1 ล้วงกระเป๋ากางเกงของผู้เสียหายหยิบกระเป๋าเงินออกมา เมื่อเห็นว่าไม่มีเงินในกระเป๋าจึงล้วงหยิบเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายออกมาโดยจำเลยที่ 1 บอกว่าถ้าไม่ให้โทรศัพท์จะทำร้าย หลังเกิดเหตุผู้เสียหายกลับไปบ้านพัก สักครู่หนึ่งจำเลยที่ 1 ก็นำโทรศัพท์เคลื่อนที่มาคืนให้ผู้เสียหายแม้จะคืนโดยโยนลงพื้นเอาเท้าเหยียบแล้วบอกให้ผู้เสียหายคลานมาเอา จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการทำไปด้วยความคึกคะนองมิได้ประสงค์ต่อทรัพย์โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อเอาทรัพย์ไปเป็นของตนเอง อันเป็นการขาดองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงความผิดต่อเสรีภาพตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2542
จำเลยร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนเล็กกลยิงมาทางผู้เสียหาย ทั้งหกในขณะนั่งมาในรถยนต์ซึ่งแล่นมาตามถนนสายพัทลุง-ตรัง โดยจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่ากระสุนปืน ที่จำเลยกับพวกใช้ยิงอาจถูกผู้เสียหายทั้งหกซึ่งนั่งอยู่ ในรถยนต์ได้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งหก เพื่อความสะดวกในการชิงทรัพย์ จำเลยกับพวกลงมือ กระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เนื่องจากกระสุนปืนถูกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้รับความเสียหาย ถูกผู้เสียหายที่ 5 ได้รับบาดเจ็บและกลุ่มผู้เสียหายหลบหนีได้ทัน จำเลยกับพวก ไม่อาจชิงทรัพย์ได้สำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกัน พยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งหกเพื่อความสะดวกในการที่จะ กระทำความผิดอย่างอื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนนอกจากที่กำหนดใน กฎกระทรวงไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าว ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกัน พยายามชิงทรัพย์ตามมาตรา 78 วรรคสาม ฐานร่วมกัน พยายามฆ่าผู้อื่น และฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิด ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8406/2551
ขณะที่จำเลยกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองของผู้เสียหายสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองที่อยู่ในมือนั้น จำเลยก็เพียงมุ่งหมายที่จะให้สร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองหลุดจากคอผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นเพียงแย่งการครอบครองเท่านั้น แต่หลังจากสร้อยคอทองคำและกระดูกเลี่ยมทองขาดตกลงที่พื้นแล้ว จำเลยก็ไม่ได้เข้ายึดถือเอาสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองอันจะเห็นได้ว่ามีการพาทรัพย์เคลื่อนที่ไปแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวจึงยังไม่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปสำเร็จ จึงเป็นพยายามชิงทรัพย์
คำพิพากษาฎีกาที่ 1421/2494
ลักบุหรี่ที่เขาวางขายไว้ที่ร้านแผงลอยไป 1 ซองแล้วเดินเรื่อย ๆ ไป เจ้าทรัพย์กับพวกติดตามในขณะนั้นชั่วระยะทางเพียงเล็กน้อยก็ทัน จำเลยจึงใช้มือชกต่อยพวกเจ้าทรัพย์ ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าทำร้ายเพื่อระงับการติดตามของคนเหล่านั้นโดยหวังผลที่จะพาบุหรี่ที่ลักมานั้นไป และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นผิดอาญาสำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ ที่ได้กระทำลง ย่อมเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2550
จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายโดยกล่าวอ้างแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และขู่ว่าจะยัดยาบ้าให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ขู่เข็ญผู้เสียหายไม่เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 แต่เข้าลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้จำเลยได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของผู้เสียหายผู้ถูกขู่เข็ญ อันเป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3630/2550
เหตุที่จำเลยทำร้ายทุบบริเวณท้ายทอยและหลังของผู้เสียหายที่ 2 ในตอนแรก มีสาเหตุจากการที่ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปปลุกจำเลยขณะหลับอยู่บนรถโดยสารมินิบัสของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งขณะนั้นจำเลยมีการเมาสุรา เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถามจำเลยว่าจะลงจากรถหรือไม่ จำเลยตอบว่าลง และเดินไปที่ประตูด้านหลังของรถยนต์มินิบัสแต่กลับย้อนมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 อีก ผู้เสียหายที่ 2 พยายามใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารต่อสู้กับจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารแล้วลงจากรถวิ่งหนีไปเป็นเพราะจำเลยเมาสุราและไม่ประสงค์จะต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารทำร้ายจำเลยด้วย การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารจากผู้เสียหายที่ 2 ไป ก็เพราะไม่ประสงค์ให้ผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตามมาทำร้ายจำเลยอีก หากจำเลยประสงค์จะชิงทรัพย์จำเลยอาจหยิบเอาเฉพาะเงินจากกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสาร ทิ้งกระบอกตั๋วไว้แล้วหลบหนีไปก็อาจกระทำได้ การที่จำเลยยังคงมีกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตัวอยู่ ทำให้เห็นว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้ผู้ใดนำกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารมาทำร้ายจำเลยอีก การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการพาเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 2 แต่ไม่ได้เกิดโดยเจตนาทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 ที่โจทก์ขอให้ศาลลงโทษจำเลย มีอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพและจำเลยไม่สืบพยานก็ไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ได้ ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 และเมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 การทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 นั้น จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยและบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกัน ผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยใช้กำปั้นและมือทุบตีบริเวณท้ายทอยและด้านหลังหลายครั้ง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่ปรากฏบาดแผล ทั้งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายบริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นอันตรายแก่กายและจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นเพียงความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งรวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายอยู่ในตัว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2551
จำเลยเดินไปหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้พูดหรือทำกิริยาอาการอย่างใดที่ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่หลังจากจำเลยหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหายแล้วได้วิ่งหนีไปนั่งรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่หน้าร้านค้าที่เกิดเหตุเพื่อหลบหนีและผู้เสียหายวิ่งตามไปทันขณะจำเลยนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ดังกล่าว แล้วจำเลยถูกผู้เสียหายกระชากคอเสื้อและบิดกุญแจรถดับเครื่องยนต์เพื่อแย่งเอาเงินคืน จำเลยได้เตะผู้เสียหาย 1 ครั้ง การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยตลอดและยังไม่ขาดตอนจากการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต การที่จำเลยเตะผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายตามไปแย่งเอาเงินคืนนั้นจึงเป็นพฤติการณ์ที่ชี้ชัดว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาขู่เข็ญไม่ให้ผู้เสียหายขัดขวางการหลบหนีเพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเพื่อการพาทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุทั้งเมื่อจำเลยได้ทรัพย์ของผู้เสียหายไปแล้วจำเลยก็วิ่งหนีไปนั่งรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดไว้หน้าร้านค้าที่เกิดเหตุและติดเครื่องยนต์แต่ผู้เสียหายวิ่งตามไปทันจึงกระชากคอเสื้อจำเลยแล้วบิดกุญแจรถดับเครื่องยนต์ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาจะใช้รถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุและใช้รถจักรยานยนต์พาทรัพย์นั้นไปจากที่เกิดเหตุ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษและรอการลงโทษเป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน แม้ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โดยจำเลยไม่ได้ขอให้อนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ เมื่อพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิดและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้วการกระทำของจำเลยสร้างความเดือนร้อนแก่เจ้าของทรัพย์ กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขโทษ และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี จำเลยจึงต้องระวางโทษหนักกว่าอีกกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 340 ตรี เป็นระวางโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 7 ปี 6 เดือน ดังนั้น แม้วางโทษจำคุกขั้นต่ำแก่จำเลยและจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วก็ยังคงต้องลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี 9 เดือน โทษจำคุกจึงเกิน 3 ปี ไม่อาจรอการลงโทษให้จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6546/2548
ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน ผู้เสียหายกำลังขับรถแท็กซี่โดยมีจำเลยซึ่งเป็นผู้โดยสารและไม่เคยรู้จักกันมาก่อนนั่งอยู่ด้านหลัง ใช้วัตถุจี้ที่เอวผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่ามีสตางค์เท่าไหร่เอามาให้หมด ในขณะนั้นผู้เสียหายไม่อาจทราบได้ว่าวัตถุที่จำเลยใช้จี้เอวเป็นไม้เสียบลูกชิ้น แต่การที่ผู้เสียหายรู้สึกเจ็บ ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าวัตถุที่จำเลยใช้จี้เป็นอาวุธที่มีลักษณะปลายแหลมสามารถใช้ประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้เสียหายย่อมจะต้องเกิดความกลัวและไม่กล้าขัดขืน ยอมมอบเงินให้แก่จำเลยไป การกระทำดังกล่าวของจำเลยถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1867/2553
จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมจี้ขู่ผู้เสียหายและเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายและรถยนต์ของบิดาของผู้เสียหายไป เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจำเลยก็ต้องรับโทษหนักขึ้น แม้ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่ต้นแขนซ้ายจากมีดของจำเลยเนื่องจากอุบัติเหตุ จำเลยไม่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการที่จำเลยจะรับโทษหนักขึ้นด้วยเหตุที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น จำเลยไม่จำต้องกระทำโดยมีเจตนา เพียงแต่พิจารณาว่าผลที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น เป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตาม ป.อ. มาตรา 63 หรือไม่ เมื่อจำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหายการที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจากมีดนั้นจึงย่อมเป็นผลธรรมดาที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามมาตรา 339 วรรคสาม
ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วินด์
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
เรามีทีมทนายความผู้มีประสบการณ์
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 086-536-1041 Line:Nitilaw33