Last updated: 27 ต.ค. 2564 | 10024 จำนวนผู้เข้าชม |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2556
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วนำมาแบ่งกันที่บ้านของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้รับทรัพย์ของผู้เสียหายไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนี้ แต่กรณีถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องระหว่างการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์กับรับของโจร มิให้ถือว่าต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 4 มิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2556
จำเลยที่ 2 กับพวก รุมทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายแกล้งหมดสติจึงหยุดทำร้าย จากนั้นจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปอันเป็นเจตนาร่วมกันประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย หลังจากที่การทำร้ายร่างกายขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่ง ปัญหานี้แม้โจทก์ฟ้องมาเป็นความผิดกระทงเดียวและไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เห็นว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษหลายกรรม แต่ก็ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันทำร้ายร่างกาย และร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ซึ่งความผิดฐานปล้นทรัพย์มีความผิดฐานลักทรัพย์ อันเป็นบทเบารวมอยู่ด้วย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นสองกระทงความผิดได้ ไม่เกินคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4398/2555
ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าในการปล้นทรัพย์ผู้กระทำผิดแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." แสดงให้เห็นเจตนาของกฎหมายว่ามุ่งเอาผิดแก่ผู้ร่วมปล้นทรัพย์ทุกคน เพราะผู้กระทำอาจใช้อาวุธนั้นทำร้ายผู้เสียหายได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพวกของจำเลยมีอาวุธปืนไปด้วย แม้จำเลยจะรู้หรือไม่รู้ว่าพวกของจำเลยมีอาวุธปืนจำเลยก็ต้องมีความรับผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง
จำเลยกับพวกเดินทางมาที่เกิดเหตุโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ แม้หลังจากที่ผู้เสียหายใช้อาวุธปืนยิงจำเลย จำเลยกับพวกจะแยกย้ายกันหลบหนีโดยทิ้งรถจักรยานยนต์ไว้ในที่เกิดเหตุก็ตาม แต่การที่จำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ที่มีการใช้สกอตเทปสีดำติดเปลี่ยนเลขทะเบียนรถอำพรางเลขทะเบียนที่แท้จริงเป็นยานพาหนะเดินทางมายังที่เกิดเหตุ แล้วเข้าไปพยายามปล้นทรัพย์ที่บ้านของผู้เสียหาย ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เดินทางมายังบ้านของผู้เสียหายเพื่อกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ และหากปล้นทรัพย์สำเร็จจำเลยกับพวกย่อมใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวพาทรัพย์นั้นไปจากที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22741/2555
ความผิดฐานปล้นทรัพย์และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง โจทก์บรรยายฟ้องความผิดทั้งสองฐานรวมมาในฟ้องข้อ ค. ว่า เหตุที่จำเลยทั้งสี่กระทำการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 นั้น ก็เพื่อสะดวกแก่การปล้นทรัพย์พาหรือเพื่อให้ยื่นให้ทรัพย์นั้น หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว จึงเป็นกรรมเดียวกัน ที่ศาลล่างเรียงกระทงลงโทษความผิดฐานปล้นทรัพย์และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความเสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาให้ได้รับประโยชน์ดุจจำเลยที่ 3 ผู้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2554
การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น อาจขู่ตรง ๆ หรือใช้ถ้อยคำ ทำกิริยา หรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น เป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจว่าจะรับภัยจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญการที่จำเลยกับพวกบังคับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหาย โดย ม. พวกของจำเลยทำท่าทางเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในเสื้อบริเวณเอว แม้มิได้ใช้กำลังประทุษร้าย มิได้ใช้อาวุธมาขู่บังคับหรือพูดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ตาม แต่กิริยาท่าทีของ ม. ดังกล่าว เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจำเลยกับพวกจะใช้กำลังประทุษร้ายจึงต้องจำยอมให้โทรศัพท์เคลื่อนที่แก่จำเลยกับพวกไป การกระทำของจำเลยกับพวกครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุไม่เกิน 20 ปี และกระทำผิดโดยมิได้ใช้อาวุธลักษณะเป็นการกระทำของวัยรุ่นที่คึกคะนอง ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพตลอดมาและชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 20,000 บาท ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ ปรากฏว่าจำเลยเป็นนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2554
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์เพียงข้อหาเดียว โดยมิได้ฟ้องฐานรับของโจรด้วยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ไม้คมแฝกตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 และร่วมกันรับของโจร ซึ่งในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340 ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นการกระทำความผิดหลายอย่างแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัว ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติให้ข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่รวมอยู่ในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องโจทก์กับความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความนั้น มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้หลงต่อสู้ ข้อพิจารณาที่ได้ความว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจรซึ่งต่างจากฟ้องจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัวเองอีกความผิดฐานหนึ่ง แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย อีกกรรมหนึ่งได้ เพราะเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป แต่เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 3 เพียงกรรมเดียว โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มิอาจลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ทุกกรรม เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 คงลงโทษในความผิดฐานร่วมกันรับของโจรซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2553
ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ไม่ได้อันเป็นเหตุในลักษณะคดีแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยไม่มีฝ่ายใดฎีกาว่าจำเลยทั้งสามกับพวกรุมชกต่อยใช้ไม้และขวดเบียร์ตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสอง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กาย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2553
การที่จำเลยทั้งสามไปดักซุ่มตรวจค้นโดยเรียกผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่ผ่านมาให้หยุดรถ เมื่อผู้เสียหายทั้งสองไม่หยุดรถจักรยานยนต์ให้ตรวจค้น จำเลยทั้งสามก็ตามไปทำร้ายและข่มขู่อ้างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจตรวจค้นกระเป๋าสตางค์เอาเงินของผู้เสียหายทั้งสองไป แม้จำเลยที่ 3 จะนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ไม่ได้ลงไปร่วมทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองและเอาเงินไปด้วย แต่จำเลยที่ 3 ก็อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุในลักษณะคอยคุมเชิงและคอยช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ปฏิบัติการปล้นทรัพย์อยู่ แสดงว่ามีเจตนาร่วมกันที่จะดักตรวจค้นปล้นเอาเงินของผู้ที่ขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาตั้งแต่ต้น และได้ร่วมปล้นทรัพย์ด้วยกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันชิงทรัพย์โดยแบ่งหน้าที่กันทำครบ 3 คน ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ ความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งนำไปสู่ความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น เป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เมื่อมีการใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว แม้จะไม่ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจก็เข้าองค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7407/2552
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในการปล้นทรัพย์ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด พาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุมอันเป็นการบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นเพียงบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษหนักขึ้นเท่านั้น หาได้บัญญัติให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดด้วยไม่ ปัญหาที่ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางซึ่งผู้กระทำความผิดใช้เป็นยานพาหนะจะเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดซึ่งศาลพึงสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์ของการกระทำผิดเป็นเรื่อง ๆ ไป คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์ของกลางผ่านผู้เสียหายไปแล้วไปหยุดรอด้านหน้าผู้เสียหาย พวกของจำเลยที่ 1 ลงจากรถจักรยานยนต์ของกลางเดินไปหาผู้เสียหายแล้วใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายและแย่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มารับพวกของจำเลยที่ 1 หลบหนีไป พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 กับพวกคงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาใช้รถจักรยานยนต์ของกลางไปและกลับในการกระทำความผิด เพื่อให้พ้นจากการจับกุมโดยสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น ไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะในการกระทำผิดชิงทรัพย์ของผู้เสียหายโดยตรงแต่อย่างใด รถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 194/2551
ความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง กฎหมายบัญญัติให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น ถ้าในการปล้นทรัพย์ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วยเพื่อนำไปใช้ในการกระทำความผิด เมื่อฟังไม่ได้ว่าในการปล้นทรัพย์จำเลยทั้งสองกับพวกมีอาวุธติดตัวไปด้วยการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง แต่มีความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก คดีทั้งสองสำนวนโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาของศาลมณฑลทหารบกที่ 14 จึงนับโทษในคดีอาญาดังกล่าวต่อจากคดีนี้ไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4800/2550
แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนระบุอ้างแต่ ป.อ. มาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นกฎหมายที่ลงโทษผู้กระทำความผิดให้หนักขึ้น โดยมิได้อ้างมาตรา 340 อันเป็นบทบัญญัติองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ไว้ก็ตาม แต่โจทก์ก็ระบุไว้ที่หน้าคำฟ้องในช่องฐานความผิดว่าปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืน และโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป และให้พ้นการจับกุมประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ก็ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามบทบัญญัติมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงต่อสู้ แสดงว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนดังกล่าว และมีผลเท่ากับโจทก์อ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แล้ว เพียงแต่โจทก์ระบุบทมาตราที่ขอให้ลงโทษขาดตกบกพร่องเท่านั้นคำฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5893/2550
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ แต่ในทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เมื่อความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งมีการใช้กำลังประทุษร้ายรวมด้วยอย่างหนึ่ง และแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหก
เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานปล้นทรัพย์สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องความผิดฐานปล้นทรัพย์ไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 1 ผู้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 และพวกไม่มีเจตนาเอาทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายไปตั้งแต่เริ่มแรก แต่จำเลยที่ 2 เอาทรัพย์สินดังกล่าวหลังจากร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายแล้วอันเป็นการกระทำต่างวาระ จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และลักทรัพย์ รวม 2 กรรม ซึ่งลงโทษได้ตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192
ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองเพราะจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกในคดีอื่นมาก่อน และภายในเวลา ๕ ปี นับแต่วันพ้นโทษ จำเลยได้มากระทำความผิดคดีนี้ซ้ำอีกนั้น ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔ ใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้ล้างมลทินแก่จำเลยทั้งสองซึ่งต้องคำพิพากษาดังกล่าว โดยให้ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นมาก่อน กรณีไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2549
ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ชักชวนผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปรับประทานข้าวต้มด้วยกัน ระหว่างทางจำเลยที่ 3 จอดรถและรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั่งรถไปด้วยโดยเปลี่ยนให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาจอดในที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 3 วิ่งหนีออกไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันรุมชกต่อยผู้เสียหายจนล้มลง ผู้เสียหายแกล้งทำเป็นสลบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันปลดเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปได้แล้วจึงช่วยกันจับผู้เสียหายโยนลงไปในคลองโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายเพื่อปกปิดความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นไปก่อนแล้ว มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายมาแต่แรก การพยายามฆ่าผู้เสียหายเพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง จึงเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งต่างหาก การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2548
จำเลยรับว่ามีคนนำรถยนต์ที่ลักมาให้จำเลยเปลี่ยนเครื่องยนต์ ดังนี้ เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าขณะกระทำความผิด จำเลยได้รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ไม่ได้ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคแรก หรือฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคสอง เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4162/2548
จำเลยทั้งสองเคยให้การและเบิกความว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบไม่มีเหตุผลที่จะชี้ให้เห็นเจตนาอันไม่สุจริตของจำเลยทั้งสองว่านำเอาความเท็จซึ่งควรรู้อยู่แล้วมาแกล้งกล่าวหาโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองเห็นว่าโจทก์เป็นคนร้ายหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติระหว่างคู่ความในคดีปล้นทรัพย์เท่านั้น จะนำมาฟังในคดีนี้ว่าการให้การชั้นสอบสวนและเบิกความในชั้นศาลเป็นการแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จ โดยโจทก์ไม่มีพยานมาสืบว่าความจริงเป็นดังฟ้องอย่างใดหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11107/2554
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 กับพวกร่วมกันวางแผนไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 6 ไปชิงทรัพย์ของผู้เสียหายตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ ย่อมเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ แต่ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานชิงทรัพย์เกี่ยวเนื่องกัน กล่าวคือ พวกจำเลยที่ 1 และที่ 6 กระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 6 ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรด้วย จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2554
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์เพียงข้อหาเดียว โดยมิได้ฟ้องฐานรับของโจรด้วยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ไม้คมแฝกตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 และร่วมกันรับของโจร ซึ่งในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340 ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นการกระทำความผิดหลายอย่างแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัว ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติให้ข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่รวมอยู่ในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องโจทก์กับความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความนั้น มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้หลงต่อสู้ ข้อพิจารณาที่ได้ความว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจรซึ่งต่างจากฟ้องจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัวเองอีกความผิดฐานหนึ่ง แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย อีกกรรมหนึ่งได้ เพราะเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป แต่เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 3 เพียงกรรมเดียว โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มิอาจลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ทุกกรรม เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 คงลงโทษในความผิดฐานร่วมกันรับของโจรซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 627/2553
สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 93 คดีถึงที่สุด ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าวขอให้ศาลชั้นต้นงดเพิ่มโทษ เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 1 ได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และกฎหมายไม่มีข้อยกเว้นไว้ว่าหากคดีถึงที่สุดแล้วจะไม่ได้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 และในกรณีนี้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี เพื่อบังคับให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2553
ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ไม่ได้อันเป็นเหตุในลักษณะคดีแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยไม่มีฝ่ายใดฎีกาว่าจำเลยทั้งสามกับพวกรุมชกต่อยใช้ไม้และขวดเบียร์ตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสอง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กาย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2553
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสามนั้น กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะลงโทษการกระทำของคนร้ายที่ปล้นทรัพย์ด้วยกันว่าถ้าการปล้นทรัพย์นั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสผู้กระทำความผิดทุกคนต้องรับโทษหนักขึ้น ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำร้ายหรือรู้ตัวผู้ร้ายหรือไม่ และไม่ว่าจะอยู่ร่วมกันในขณะที่มีการทำร้ายหรือไม่ เช่น มีการแบ่งหน้าที่กันทำโดยมีคนร้ายเฝ้าดูต้นทางแต่พวกที่เข้าไปปล้นทรัพย์ทำร้ายเจ้าทรัพย์ก็มีความผิดร่วมกัน แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ขาดตอนกันจึงจะเป็นเหตุลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจำเลยที่ 1 และพวกรวมทั้งหมด 6 คน วางแผนปล้นทรัพย์บ้านหลังนี้มาแต่ต้น วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปจับตัวคนรับใช้ในบ้านผู้เสียหายมัดไว้และได้รื้อค้นเอาทรัพย์สินภายในบ้านแล้วกลับไปก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 กับพวกที่เหลือรออยู่เพื่อเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายกับพวกกลับมาบ้านก็ถูกจำเลยที่ 1 กับพวกที่เหลือทำร้ายเพื่อปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อยู่ร่วมเพื่อปล้นทรัพย์ด้วยไม่ปรากฏว่าได้รออยู่นอกบ้านเพื่อดูต้นทางหรือย้อนกลับมาอีก หรือรอฟังผลยังสถานที่นัดหมายกัน ทั้งไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับบ้านที่เกิดเหตุ ทั้งผู้เสียหายกับพวกก็กลับมาหลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับไปแล้วเป็นเวลานานถึง 2-3 ชั่วโมง ไม่ต่อเนื่องกับการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันปล้นทรัพย์มาแต่ต้น การจะคาดหมายว่าหากผู้เสียหายกับพวกกลับมาและขัดขืนย่อมมีการใช้กำลังประทุษร้ายย่อมเป็นการคาดหมายที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15791/2553
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในอายุความและพนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้ว ย่อมสันนิษฐานได้ว่ามีการร้องทุกข์และมีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อชั้นพิจารณาจำเลยไม่ได้คัดค้านโดยเสนอหรือนำสืบเป็นข้อต่อสู้ไว้ ถือว่า ไม่มีข้อคัดค้านตามหนังสือขอแจ้งความเพิ่มเติม กรณีการปลอมแปลงลายมือชื่อของโจทก์ร่วมทีมีต่อพนักงานสอบสวน ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญการกระทำความผิดของจำเลยไว้ โดยสรุปใจความว่า เมื่อวันเกิดเหตุจำเลยได้ปลอมแปลงลายมือชื่อของ ย. แล้วเบิกถอนเงินฝากจำนวน 14,000 บาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ย. ไป ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยตามกฎหมาย อันมีความแจ้งชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าว โดยวิธีการปลอมแปลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินของโจทก์ร่วมจากบัญชีเงินฝากของ ย. อันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้วด้วย โจทก์ร่วมไม่จำต้องระบุอ้างฐานความผิดมาด้วยแต่อย่างใด รูปคดีจะเป็นความผิดฐานใดย่อมเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งแล้วแต่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจที่จะวินิจฉัย แม้การปลอมใบถอนเงินฝากออมทรัพย์ และใช้เอกสารดังกล่าวถอนเงินไปจากโจทก์ร่วม แล้วยักยอกเงินนั้นเป็นของตนจะเป็นการกระทำที่มีลักษณะแตกต่างกัน ต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม แต่การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวก็เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินของโจทก์ร่วมที่จำเลยมุ่งประสงค์จะยักยอกเป็นของตนเป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145