คดีที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ดิน ครอบครองปรปักษ์ บุกรุก เรียกที่ดินคืน - ทนายนิธิพล

Last updated: 27 ต.ค. 2564  |  39843 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ดิน ครอบครองปรปักษ์ บุกรุก เรียกที่ดินคืน - ทนายนิธิพล

 

                                             ครอบครองปรปักษ์

                                        คำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ

                     คำพิพากษาฎีกาที่ 1557/2549 

                     ผู้ครอบครองที่ดินมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตนอย่างเป็นเจ้าของ แม้จะเข้าใจว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ความเป็นจริงเป็นที่ดินมีโฉนด ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อครอบครองเกินกว่า 10 ปี ที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

                     คำพิพากษาฎีกาที่ 8411/2544 
 
                     ที่ดินพิพาทเพิ่งออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2539เหตุนี้การครอบครองปรปักษ์จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป แม้จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2522 อันเป็นเวลาก่อนที่ที่ดินพิพาทออกโฉนดที่ดิน ก็ไม่อาจนับระยะเวลาที่ครอบครองนั้นรวมเข้ากับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ได้ เนื่องจากการครอบครองปรปักษ์ที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญซึ่งเรียกว่าที่ดินมือเปล่านั้นไม่อาจเกิดมีขึ้นได้เลย ไม่ว่าจำเลยครอบครองช้านานเพียงใด จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ทั้งจำเลยไม่อาจหวนกลับไปอ้างว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทได้อีก เพราะนอกจากเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลล่างแล้วบัดนี้ที่ดินพิพาทกลายเป็นที่ดินมีโฉนด ซึ่งผู้ใดประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ต้องกระทำโดยวิธีครอบครองปรปักษ์เท่านั้น

                        คำพิพากษาฎีกาที่ 10545/2553

                        ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) บุคคลใดต้องใช้สิทธิทางศาลจะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ แต่กรณีคำร้องขอของผู้ร้องการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์รถยนต์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติรับรองให้ผู้ร้องมาใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาล ปัญหาว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247



                           คำพิพากษาฎีกาที่ 772/2505 

                           เมื่อได้ครอบครองที่พิพาทมามากกว่า 10 ปี โดยได้เข้าอยู่ในที่นั้น ปลูกเรือนอยู่ปลูกต้นมะพร้าวเป็นเขต ย่อมแสดงว่าได้ครอบครองโดยสงบ โดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 
คำว่า "โดยสงบ" ในมาตรา 1382 นั้น หมายความว่า ครอบครองอยู่ได้ดดยไม่ได้ถูกกำจัดให้ออกไป หรือไม่ได้ฟ้องร้องเพียงแต่โต้เถียงกันยังไม่หมายความถึงไม่สงบ

                           คำพิพากษาฎีกาที่ 522/2480 

                           ไปอยู่ในที่ดินซึ่งเขาปกครองอยู่โดยเขาชวนให้เข้าไปอยู่และได้ปลูกต้นไม้ลงในที่ดินแต่ไม่ปรากฎว่าได้ปลูกในตอนไหนหรือครอบครองที่ดินตอนไหนเป็นส่วนสัด ผู้เข้าไปอยู่ไม่ได้สิทธิครอบครองเข้าแย่งการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นครอบครองอยู่ก่อนต่างฝ่ายต่างหวงห้ามและถือว่าตนเป็นเจ้าของนั้น แม้เป็นเวลาช้านานเท่าใด ผู้เข้าแย่งก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง

                           คำพิพากษาฎีกาที่ 2902/2535 
 
                          คำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินกล่าวว่า ผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 2645 ย่อมมีความหมายว่า ผู้ร้องทั้งสองได้ร่วมกันครอบครองที่ดินทั้งโฉนด ไม่จำต้องระบุเนื้อที่ดินความกว้างยาว อาณาเขต หรือแนบสำเนาโฉนดมา และที่กล่าวว่าได้ครอบครองเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว ก็มีความหมายว่าได้ครอบครองติดต่อกันมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเกินกว่าสิบปี เป็นการเริ่มครอบครองเมื่อก่อนสิบปี เป็นคำร้องขอที่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 แล้วไม่เคลือบคลุม ตามคำร้องขอกล่าวว่าผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งรับรองกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสองอันเป็นการจะต้องใช้สิทธิทางศาล ผู้ร้องทั้งสองหาได้กล่าวว่ามีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้องทั้งสองอันจะต้องทำเป็นคำฟ้องบุคคลผู้โต้แย้งสิทธิไม่ผู้ร้องทำเป็นคำร้องขอชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 188 แล้ว ที่ดินพิพาทมีการจดทะเบียนเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตลอดมาเกือบทุกปีนับแต่ที่ฝ่ายผู้ร้องอ้างว่าได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทการอ้างว่าได้เข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจึงถูกกระทบสิทธิมาตลอด ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยความสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาสิบปีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1382 การครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากผู้คัดค้านจดทะเบียนรับโอนมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอก็ยังไม่ครบสิบปี แม้จะฟังว่าฝ่ายผู้ร้องได้ครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด ผู้ร้องทั้งสองก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์.



                           คำพิพากษาฎีกาที่ 1531/2525 

                           โจทก์ครอบครองที่พิพาทในระหว่างที่บิดามารดาโจทก์กำลังเป็นความกับจำเลยอยู่ในศาล และอยู่ในระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษาแม้จะเกิน 10 ปี โจทก์ก็อ้างว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ยันจำเลยผู้เป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ใช่บุคคลภายนอกแต่เป็นบุตรและบริวารของบิดามารดาเมื่อบิดามารดาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตกลงยอมยกที่พิพาทให้เป็นของจำเลยและศาลได้พิพากษาคดีไปตามยอมแล้วคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลย่อมผูกพันโจทก์ด้วย

                           คำพิพากษาฎีกาที่ 2579-2580/2524 

                          โจทก์เคยฟ้องจำเลยกับพวกขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายืน ผลแห่งคำพิพากษาก็คือโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ โจทก์ยังขืนอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งๆ ที่โจทก์แพ้คดีทั้งสามศาล จึงเป็นการอยู่ในที่ดินของผู้อื่นโดยละเมิด หากจะนับเวลาครอบครองปรปักษ์ก็ต้องนับตั้งแต่ศาลฎีกาพิพากษายังไม่ถึง 10 ปี

                        คำพิพากษาฎีกาที่ 1093/2517 

                        คดีก่อนโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยตามมูลสัญญาเช่า โดยอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นมูลละเมิดโดยอ้างว่าศาลฎีกาได้พิพากษาว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ในคดีอีกเรื่องหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธิจะอยู่ในบ้านอีกต่อไป ประเด็นแห่งคดีทั้งสองเรื่องไม่เหมือนกันโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วในคดีที่จำเลยฟ้องขอให้โจทก์โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้จำเลย ว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ผลแห่งคำพิพากษาย่อมผูกพันจำเลยผู้เป็นคู่ความ จำเลยจะอ้างในคดีนี้อีกว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยหาได้ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะอยู่ในบ้านพิพาท การที่จำเลยอยู่ต่อมาจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
โจทก์จำเลยเป็นความแย่งกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทกันตลอดมา กล่าวคือ พ.ศ. 2509 โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยพ.ศ. 2510 จำเลยกลับฟ้องให้โจทก์โอนบ้านพิพาทคืนจำเลย จนปี พ.ศ. 2515ศาลฎีกาจึงชี้ขาดว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ระหว่างระยะเวลาดังกล่าวการครอบครองบ้านพิพาทของจำเลย หาเป็นการครอบครองด้วยความสงบตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ไม่ จะนับเวลาในช่วงนี้รวมเข้ากับระยะเวลาที่จำเลยครอบครองมาก่อนนั้นเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์มิได้



                         คำพิพากษาฎีกาที่ 8700/2550 
 
                        จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ช. เมื่อ ช. ขายที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บิดาโจทก์ทั้งห้าก่อนจำเลยทั้งสองครอบครองครบกำหนดสิบปี จำเลยทั้งสองไม่อาจยกการครอบครองดังกล่าวขึ้นยันบิดาโจทก์ทั้งห้าได้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสองจึงขาดตอนตั้งแต่บิดาโจทก์ทั้งห้าได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนแล้ว จำเลยทั้งสองจะต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองที่ดินพิพาทใหม่ จะนำระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของ ช. มานับรวมด้วยไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากบิดาโจทก์ทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์มายังไม่ครบสิบปี จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 จะเป็นผู้มอบอำนาจหลายคน แต่ต่างเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและบ้านพิพาท จึงเป็นผู้มีอำนาจร่วมกันมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยเสียอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7 (ข) ซึ่งกำหนดไว้ 30 บาท ปรากฏว่าใบมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ติดอากรแสตมป์ 30 บาท โจทก์ที่ 5 จึงมีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้

                         คำพิพากษาฎีกาที่ 5801/2544 
 
                         จำเลยครอบครองและได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแต่เมื่อ ส. ขอออกโฉนดที่ดินจำเลยไม่ได้คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ ส. ที่ดินตามโฉนดที่ดินซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 เป็นต้นไป ต่อมามีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของโจทก์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 เนื่องจากโจทก์ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ซึ่งยังไม่ถึง 10 ปี เมื่อโจทก์เป็นบุคคลภายนอกได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง การครอบครองปรปักษ์ที่มีอยู่ก่อนนั้นจึงสิ้นไปแม้จำเลยครอบครองต่อมาก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้วันที่ 7 มิถุนายน2539 ยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามมาตรา 1382



                       คำพิพากษาฎีกาที่ 3473/2551 

                      ผู้ร้องอุทธรณ์และฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง มิใช่สินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย และหนี้ตามคำพิพากษามิใช่หนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ศาลจะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องหรือเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่ เพราะแม้จะเป็นหนี้ร่วม โจทก์ก็ไม่อาจยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลอดชำระหนี้แก่โจทก์ได้เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วยการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกปัญหาว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก่อนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง และพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทของผู้ร้อง โดยไม่วินิจฉัยปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องหรือเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ
การที่ จ. ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทมาจากผู้ที่เป็นบิดามารดาและต่อมา จ. ก็ยกที่ดินพิพาทให้บุตรคือผู้ร้อง น่าเชื่อว่าหลังจาก จ. ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทแล้ว จ. ได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทต่อจากบิดามารดาในฐานะเจ้าของจนกระทั่งยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง เมื่อ จ. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี จ. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้จะยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนจากบิดามารดามาเป็นชื่อ จ. ก็ตาม และเมื่อ จ. ยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องในปี 2510 ผู้ร้องก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ได้รับการยกให้จาก จ. ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องเพราะผู้ร้องได้มาก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยในปี 2519 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในปี 2530 จึงไม่มีผลทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องกลายเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยแต่อย่างใด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง โจทก์ก็ไม่อาจบังคับคดีเอาแก่สินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่เพราะไม่มีผลต่อรูปคดี

                       คำพิพากษาฎีกาที่ 7382/2548 
 
                       จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของนานเกินกว่า 10 ปี ต่อมาเมื่อปี 2535 จำเลยขอรังวัดที่ดินของตนซึ่งมีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของ ก. จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนเองโดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งยังยอมรับว่าที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของตนเอง แต่อยู่ในเขตโฉนดที่ดินของ ก. จึงถือได้ว่าจำเลยได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว และแม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนเป็นเวลาเกิน 10 ปี ที่จำเลยอาจได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้วก็ตาม ถือได้ว่าจำเลยได้สละกรรมสิทธิ์ที่ได้มาดังกล่าวให้แก่ ก. แล้ว และการครอบครองที่มีมาก่อนดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 การครอบครองที่ดินที่จะเป็นเหตุให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ใหม่ได้อีกจึงต้องเริ่มต้นนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยได้ครอบครองที่ดินใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากจะถือว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินใหม่ทันทีหลังจากที่ได้รับรองแนวเขตเป็นต้นไป แต่เมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์อีก

                    คำพิพากษาฎีกาที่ 4779/2536 

                    โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามต่างรับโอนที่ดินที่มีโฉนดไขว้สับกัน และต่างฝ่ายต่างครอบครองที่ดินที่ตนรับโอนมาเกินกว่า10 ปี ดังนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงต่างได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้รับโอนและครอบครองมาแม้จำเลยทั้งสามจะมีชื่อในโฉนดที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ก็จะอ้างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จำเลยทั้งสามมิได้มีเจตนารับโอนไม่ได้ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดโดยแลกเปลี่ยนกันและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้

                      คำพิพากษาฎีกาที่ 6756/2544 

                      แม้จำเลยจะเข้าใจผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2749ที่จำเลยซื้อมาตั้งแต่ปี 2472 ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ที่ดินแปลงดังกล่าว จึงไม่ใช่การครอบครองที่ดินของตนเองอันจะอ้างครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินซึ่งเป็นของโจทก์อันเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่น ลักษณะครอบครองของจำเลยแสดงออกโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลานานกว่า10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และการนับระยะเวลาครอบครองนั้นนับตั้งแต่เวลาที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินตลอดมา หาใช่นับแต่วันที่ทำการรังวัดแล้วทราบว่าครอบครองที่ดินสลับแปลงกันไม่

 

                                                     กรรมสิทธิ์ที่ดิน

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2542

                           คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1นำเจ้าพนักงานรังวัดออกโฉนดที่ดิน เลขที่ 8430ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนด กลับขอให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจึงบังคับตามคำขอไม่ได้ พิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 อีก แม้คำขอท้ายฟ้องจะขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 มิให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของโจทก์ตลอดไปก็ตามแต่ตามคำฟ้องก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกภายหลังจากศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีก่อนแล้ว การที่โจทก์ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 มิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ได้ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในเขตจังหวัด ตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 61(2) การเพิกถอน โฉนดที่ดินพิพาทจึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์มีหนังสือร้องขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะ พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินพิพาทของโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการให้ย่อมถือได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกจำเลยที่ 2 โต้แย้งแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2550

                        การจะได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นได้มีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ให้ใช้ ป.ที่ดินฯ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ว่า ให้ผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ ป.ที่ดินฯ ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน แจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และวรรคสองบัญญัติว่า การแจ้งการครอบครองตามความในมาตรานี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด และตาม ป.ที่ดินฯ มาตรา 3 บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ในกรณีต่อไปนี้ (1) ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามบทกฎหมายก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ หรือได้มาซึ่งโฉนดที่ดินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ (2) ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพหรือกฎหมายอื่น และมาตรา 4 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 6 บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วยจากบทบัญญัติ 3 มาตราดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิทธิครอบครองโดยชอบจะต้องเป็นการได้มา หรือครอบครองโดยชอบก่อน พ.ร.บ. ให้ใช้ ป.ที่ดินฯ หรือได้มาโดยการจัดที่ดินเพื่อการครอบครองชีพหรือกฎหมายอื่นแต่ผู้ครอบครองเดิมได้ครอบครองที่ดินพิพาทในปี 2498 อันเป็นเวลาภายหลัง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวประกาศใช้แล้วและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้ครอบครองที่ดินโดยชอบตามบทกฎหมายใด ดังนั้น การครอบครองของผู้ครอบครองเดิมดังกล่าว จึงเป็นการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ครอบครองเดิมก่อนขายให้แก่จำเลย และตาม ป.ที่ดินฯ มาตรา 2 บัญญัติว่า ที่ดินที่มิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นของรัฐ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าเป็นที่ดินของรัฐอยู่
ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 12 เป็นกรณีที่เมื่อมีบุคคลใดอ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใดอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ บุคคลนั้นก็สามารถยื่นคำร้องโดยอ้างในคำร้องว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใดอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับเท่านั้น และเมื่อได้ยื่นคำร้องดังกล่าวแล้ว ผลของการยื่นคำร้องจะเป็นไปตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ คือ เมื่อคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติได้รับคำร้องตามมาตรา 12 แล้ว ให้สอบสวนตามคำร้องนั้น ถ้าปรากฏว่าผู้ร้องได้เสียสิทธิหรือเสื่อมเสียประโยชน์อย่างใด ๆ ก็ให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้ตามที่เห็นสมควร หาทำให้ผู้ร้องมีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใดไม่ เป็นเพียงทำให้ผู้ร้องมีสิทธิได้ค่าทดแทนในกรณีหากปรากฏว่าผู้ร้องได้เสียสิทธิหรือเสื่อมเสียประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งตามมาตรา 12 มีข้อยกเว้นอยู่ในวรรคสามว่า การยื่นคำร้องดังกล่าวมิให้ใช้บังคับแก่กรณีสิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตาม ป.ที่ดินฯ ซึ่งก็หมายความว่า หากผู้ร้องเป็นผู้ที่มีสิทธิครอบครองในที่ดินหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.ที่ดินฯ อยู่ก่อนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นใช้บังคับ ดังนั้น ตามฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า ผู้ครอบครองเดิมในที่ดินพิพาทได้ยื่นคำร้องตามมาตรา 12 ดังกล่าวแล้วนั้น และคณะอนุกรรมการป่าสงวนแห่งชาติได้มีมติให้กันที่ดินพิพาทออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเป็นผลให้กรมป่าไม้จะต้องดำเนินการกันที่ดินพิพาทที่มีการคัดค้านดังกล่าวออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ได้ประกาศขึ้นภายหลัง จึงเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน การที่คณะอนุกรรมการป่าสงวนแห่งชาติได้มีมติให้กันที่ดินพิพาทออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติก็เป็นเพียงความเห็นของคณะอนุกรรมการเท่านั้นหามีผลตามกฎหมายในอันที่กรมป่าไม้จะต้องปฏิบัติตาม เนื่องจากความเห็นของคณะอนุกรรมการดังกล่าวจะต้องเสนอให้คณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติพิจารณาก่อน เมื่อคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติยังไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าว จึงหามีผลผูกพันให้กรมป่าไม้ต้องปฏิบัติตามดังที่จำเลยได้กล่าวอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น เมื่อผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเดิมเป็นผู้ซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์อย่างใด ๆ ตามกฎหมายในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้ครอบครองเดิมในที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยจึงหามีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ และความเห็นของคณะอนุกรรมการป่าสงวนแห่งชาติที่ให้กันที่ดินพิพาทออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติก็หามีผลลบล้างทำให้ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่อย่างใด ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อจำเลยเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิอย่างใด ๆ ในที่ดินพิพาทและที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นที่ดินของรัฐประเภทป่าสงวนแห่งชาติที่สามารถนำมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ และกรมป่าไม้ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวให้แก่โจทก์นำไปปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 26 (4), 36 ทวิ แล้ว โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องจัดซื้อหรือเวนคืนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของรัฐเสียก่อนตามที่จำเลยกล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้
มติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมายเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้เพียงใด ก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายในเรื่องนั้นบัญญัติไว้ ในกรณีเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ดังนั้น บุคคลใดจะมีสิทธิที่จะได้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดหาใช่จะถือตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแต่เพียงอย่างเดียวตามที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่ ซึ่งตามที่ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 4 บัญญัติความหมายของคำว่า "เกษตรกร" หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกรบรรดาซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดใน พ.ร.ฎ. ด้วย และตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ข้อ 6 (6) ระบุว่าต้องเป็นผู้ไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็เพื่อช่วยให้เกษตรกรรมก็เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน และเกษตรกรผู้นั้นจะต้องไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองหรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพหรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรม เมื่อจำเลยมีที่ดินของตนเองจำนวน 108 แปลง และจำเลยประกอบอาชีพอื่นนอกจากด้านการเกษตรโดยประกอบอาชีพค้าขาย มีหุ้นอยู่ในนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัดรวม 16 แห่ง จึงถือได้ว่าจำเลยมีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองและมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพแล้ว และไม่ถือว่าจำเลยเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักแต่อย่างใด จำเลยย่อมขาดคุณสมบัติในการยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน การที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ก.) ในที่ดินพิพาทที่ออกให้แก่จำเลยจึงชอบแล้ว ถึงแม้ในตอนแรก โจทก์ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก 4-01 ก.) ให้แก่จำเลยไปแล้ว แต่เมื่อมาตรวจสอบพบในภายหลังว่า จำเลยเป็นผู้ขาดคุณสมบัติดังกล่าวก็สามารถทำการเพิกถอนได้เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะได้หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ก.) มาตั้งแต่ต้น และเมื่อเพิกถอนการอนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้

 

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้