คดีประกันภัย - ทนายนิธิพล

Last updated: 27 ต.ค. 2564  |  12431 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีประกันภัย  - ทนายนิธิพล

 

                                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858/2515

                       ข้อความจริงซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ปกปิดไว้ไม่เปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบในเวลาทำสัญญาประกันภัย แม้อาจจูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหากได้ทราบข้อความจริงนั้น ไม่ถึงกับให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญาด้วยก็ตามข้อความจริงในระดับความสำคัญทั้งสองประการนี้ย่อมมีผลให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะเช่นเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865
ผลแห่งโมฆียะกรรมตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นอยู่กับการพิเคราะห์ความสำคัญของข้อความจริง แต่ในชั้นขณะทำสัญญาประกันภัยเท่านั้น ฉะนั้น แม้จะปรากฏว่าผู้เอาประกันชีวิตมิได้มรณะด้วยโรคที่ตนเคยป่วยมาก่อนทำสัญญาประกันชีวิตและได้ปกปิดไว้ไม่เปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผลของสัญญาซึ่งเป็นโมฆียะไปแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ผู้รับประกันภัยชอบที่จะบอกล้างสัญญาได้

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2515

                       ผู้เสียหายกู้เงินจำเลยที่ 2 โดยทำสัญญากู้กันไว้มีข้อความด้วยว่า ผู้เสียหายได้นำเรือนหนึ่งหลังมาวางไว้เป็นประกัน วันเกิดเหตุผู้เสียหายไม่อยู่ จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันรื้อเรือนหลังที่ผู้เสียหายเอามาระบุไว้เป็นประกันเงินกู้ ด้วยเจตนาที่จะเอามาหักใช้หนี้ที่ผู้เสียหายเป็นหนี้จำเลยที่ 2 อยู่ ดังนี้ การกระทำของจำเลยหามีเจตนาที่จะลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ไม่ ยังไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1977/2526

                        โจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต สภาพแห่งข้อหาคือสัญญาประกันชีวิต คำขอบังคับคือจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือการที่จำเลยรับประกันชีวิตร.ผู้ตายโดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์และร.ตายโดยอุบัติเหตุโจทก์ได้บรรยายฟ้องในข้อที่กล่าวนี้ชัดแจ้งถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนข้อที่ว่าสัญญาเป็นโมฆียะและจำเลยบอกล้างแล้ว เป็นเรื่องที่จำเลยจะยกขึ้นปฏิเสธฟ้องโจทก์ซึ่งถ้าหากจำเลยยกขึ้นก็เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องกล่าวโดยแจ้งชัดถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ หาใช่หน้าที่ของโจทก์จะต้องบรรยายฟ้องแก้คำให้การของจำเลยไว้ล่วงหน้าไม่ฉะนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้ตายมิได้ป่วยด้วยโรคหืดหลอดลมหรือคออักเสบมาก่อน หรือหากเคยป่วยโดยโรคดังกล่าวมาก่อนก็มีเหตุหลายประการดังที่โจทก์บรรยายในฟ้องที่ทำให้สัญญาไม่เป็นโมฆียะ จึงเป็นการบรรยายเกินเลยจากที่กฎหมายบังคับ แม้ข้อที่ว่า ร.ป่วยจริงหรือไม่โจทก์ยกขึ้นอ้างขัดกันก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
                       ผู้ตายมิได้เป็นโรคหืด แต่มีอาการหอบหืดซึ่งเป็นอาการของการแพ้อากาศ และอาการดังกล่าวได้หายไปก่อนที่ผู้ตายยื่นคำขอเอาประกันชีวิตแล้ว ผู้ตายไปตรวจและรับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นครั้งคราวด้วยเรื่องหวัดและแพ้อากาศซึ่งมิใช่โรคที่ระบุในแบบสอบถามให้ผู้ขอเอาประกันชีวิตตอบ เห็นได้ว่าหากจำเลยทราบถึงการที่ผู้ตายเคยไปตรวจและรับการรักษาที่โรงพยาบาลและประวัติการเจ็บป่วยของผู้ตายดังกล่าวแล้วก็ไม่เป็นเหตุจูงใจให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมรับประกันชีวิตผู้ตายหรือเรียกเบี้ยประกันภัยให้สูงขึ้น การที่ผู้ตายได้แจ้งในแบบสอบถามขณะเอาประกันชีวิตว่า ไม่เคยรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเคยปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับโรคหรืออาการของโรคหืด จึงไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2464/2524

                    โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องจำเลยผู้ก่อวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 ไม่ใช่ฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาประกันภัยจึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคแรก อันจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือของฝ่ายที่ต้องรับผิดมาแสดงจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้และไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะมิใช่กรณีมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
โจทก์อ้างว่าต้นฉบับกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ที่บริษัท ส.ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกจากบริษัท ส.บริษัทส. แจ้งว่ายังค้นหาเอกสารไม่พบโจทก์ย่อมมีสิทธินำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลเข้าสืบถึงการรับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ซ.4500 คันเกิดเหตุจากบริษัท ส. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา123

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2598/2520

                    คำสนองรับประกันภัยที่แก้ไขคำเสนอ คนของผู้รับประกันภัยนำไปตกลงกับผู้ขอเอาประกันภัย เป็นคำเสนอต่อหน้าขึ้นใหม่เกิดสัญญาเมื่อตกลงกันทันที บันทึกล่วงหน้าของผู้รับประกันภัยเป็นเอกสารตาม มาตรา 867 ได้ ไม่ต้องส่งมอบกรมธรรม์ เงื่อนไขในใบสมัครที่ว่าต้องได้ออกและส่งมอบกรมธรรม์ก่อน ไม่มีผลบังคับ
คำแถลงเกี่ยวกับอาชีพของผู้ขอประกันภัยไม่เป็นความจริง แต่ผู้รับประกันภัยไม่ถือเป็นสำคัญ ไม่ทำให้สัญญาประกันภัยไม่สมบูรณ์
มีคำเตือนให้ผู้รับประกันภัยใช้เงิน ผู้รับประกันภัยตอบปฏิเสธเป็นการผิดนัดตั้งแต่วันปฏิเสธ ต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันปฏิเสธนั้น

 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505/2508

                     เมื่อผู้จัดการสาขาของบริษัทจำเลยซึ่งประกอบธุรกิจการค้าในทางรับประกันภัยและประกันชีวิตเป็นเพียงผู้หาผู้ที่จะเอาประกันและดำเนินการเบื้องต้นเท่านั้นมิใช่ตัวแทนของบริษัทจำเลยในการทำกรมธรรม์ประกันชีวิตอำนาจในการที่จะรับประกันหรือไม่เป็นอำนาจของสำนักงานใหญ่การที่ผู้จัดการสาขารู้ข้อความจริง จะถือว่าบริษัทจำเลยต้องรู้ข้อความจริงด้วยหาได้ไม่
เมื่อข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยรู้ข้อความจริงหรือรู้ว่าข้อแถลงเป็นความเท็จหรือควรจะรู้กรรมธรรม์ประกันชีวิตก็ตกเป็นโมฆียะเมื่อผู้รับประกันบอกล้างแล้ว ก็ตกเป็นโมฆะ ผู้รับประโยชน์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าประกัน

 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1451/2521

                     รถยนต์ที่ บ.เอาไปประกันภัยค้ำจุนกับจำเลยที่ 2 เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดย บ.เป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ในสัญญาประกันภัยก็ลงที่อยู่ของ บ.ที่เดียวกับที่ตั้งของห้างจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 รับว่าได้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไว้จริง จึงน่าเชื่อว่า บ.เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 โดยไม่เปิดเผยชื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 เอารถยนต์ไปประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมิได้เปิดเผยชื่อกลับแสดงตนให้ปรากฏและรับเอาสัญญาประกันภัยซึ่ง บ.ตัวแทนได้ทำไว้แทนตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806
โจทก์และจำเลยที่ 2 ท้ากันให้ศาลวินิจฉัยโดยไม่ต้องสืบพยานว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนหรือไม่ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงในคำให้การของจำเลยที่ 1 มาวินิจฉัย ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยความรับผิดตามสัญญาประกันภัยที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ท้ากัน หาใช่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นที่สละแล้วไม่
 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2525

                     โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์รายพิพาทไว้กับจำเลย แต่กรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อผู้เอาประกันภัยผิดพลาดไป กรณีถือได้ว่าจำเลยกับโจทก์มีเจตนาอันแท้จริงที่จะผูกพันต่อกันในฐานะคู่สัญญา เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2520

                    จำเลยทำสัญญารับประกันภัยทรัพย์สินของโจทก์ กรมธรรม์ประกันภัยระบุว่ารับประกันวินาศภัยเฉพาะเพลิงไหม้หรือฟ้าผ่า ปรากฏว่าได้เกิดวินาศภัยแก่ทรัพย์สินของโจทก์ ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยโดยหม้อน้ำระเบิด ทำให้ทรัพย์สินหลายอย่างต้องวินาศไป สาเหตุเกิดจากสายไฟฟ้าที่ต่อเข้ากับเครื่องมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับใช้กับเครื่องปั๊มน้ำเย็นได้ รับความร้อนสูงเกินขนาดจนฉนวนชำรุดไหม้ละลาย สายลวดทองแดงกระทบกันเกิดการลัดวงจร เป็นเหตุให้มอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องปั๊มน้ำหยุดทำงาน ไม่ส่งน้ำเย็นเข้าหม้อต้มน้ำส่วนน้ำร้อนที่มีอยู่ในหม้อต้มน้ำก็จะไหลออกแต่อย่างเดียว ในขณะเดียวกันเตาเหล็กซึ่งใช้ระบบหัวฉีดก็ยังพ่นความร้อนเข้าไปในท่อให้ความร้อนภายในหม้อต้มน้ำอยู่ตลอดเวลา ไอน้ำในหม้อต้มน้ำได้รับความร้อนสูงเรื่อย ๆ ก็ขยายตัว มีความดันเกินกว่าหม้อต้มน้ำร้อนจะทนทานได้ จึงเกิดระเบิดขึ้นดังนี้ ความวินาศของโจทก์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ยังไม่พอฟังว่าเกิดเพราะเพลิงไหม้อันจำเลยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1603/2518

                     อ.เอาประกันภัยอาคารโรงงานซึ่งระหว่างก่อสร้างและวัตถุดิบไว้กับจำเลย โดยยกประโยชน์ตามกรมธรรม์ให้โจทก์ มีเงื่อนไขตามกรมธรรม์ว่า ถ้าการค้าหรือการอุตสาหกรรมที่ผู้เอาประกันดำเนินอยู่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เพิ่มการเสี่ยงวินาศภัย ผู้เอาประกันต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อนวินาศภัยเกิดขึ้น มิฉะนั้นสัญญาประกันภัยระงับทันที และมีข้อตกลงว่า อัตราดอกเบี้ยประกันจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ขึ้นเมื่อก่อสร้างโรงงานเสร็จ ดังนี้ การที่จำเลยได้เรียกให้อ. ชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเมื่อก่อสร้างโรงงานเสร็จและเริ่มเดิมเครื่องจักรทำการผลิต เจตนาของจำเลยเป็นเพียงการใช้สิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น หาเกี่ยวกับปัญหาที่ว่าการเดินเครื่องจักรทำการผลิตเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อวินาศภัยเพิ่มขึ้นโดยละเมิดเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยไม่
เมื่อจำเลยเรียกให้ อ. ชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้นอ.มีหนังสือตอบจำเลยมีใจความว่าขอส่งคืนกรมธรรม์เนื่องจากอ. ได้เอาประกันภัยวัตถุดิบไว้กับบริษัทอื่นแล้ว อ. ประสงค์จะเอาประกันเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ซึ่งยังมิได้เอาประกันไว้ เงินเอาประกันเครื่องจักรขอให้เป็นไปตามเดิม ดังนี้ เจตนาของ อ. มีความหมายเป็นคำเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์เดิม โดยจะเอาประกันภัยเครื่องจักรแทนวัตถุดิบ ซึ่งได้ย้ายไปเอาประกันไว้กับบริษัทอื่น หาเป็นการบอกเลิกสัญญาไม่ และการที่ อ. แสดงเจตนาตามคำเสนอต่อจำเลยซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมตกเป็นอันไร้ผลเมื่อเกิดอุบัติเหตุอัคคีภัยเสียก่อนที่หนังสือ อ. จะไปถึงบริษัทจำเลย กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมจึงยังมีผลผูกพันจำเลย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 สันนิษฐานให้เป็นคุณแก่ผู้เอาประกันภัย ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยถูกวินาศภัยไปทั้งหมด ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะเรียกร้องเอาชดใช้ค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เอาประกัน เว้นแต่ผู้รับประกันภัยพิสูจน์หักล้างได้ว่าความเสียหายของทรัพย์สินต่ำกว่าจำนวนเงินที่เอาประกัน
อ. เอาประกันภัยวัตถุดิบไว้กับจำเลย แล้วนำวัตถุดิบนั้นไปประกันภัยไว้กับบริษัทอื่นอีก แม้เมื่อเกิดความเสียหายจากอัคคีภัยขึ้น อ.ได้ยอมรับค่าเสียหายจากบริษัทรับประกันภัยอื่นนั้นไปบางส่วนแล้วก็ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิหน้าที่ของจำเลย ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 871 และจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเมื่อความวินาศภัยก่อน ซึ่งต้องรับผิดมากกว่าผู้รับประกันภัยคนหนึ่ง ตามมาตรา 870 วรรคท้ายจำเลยจึงต้องรับผิดในจำนวนวินาศภัยจริงที่ส่วนที่ยังไม่ได้ใช้
เครื่องปรับอากาศทำความเย็นซึ่งติดตั้งอยู่ที่ผนังด้านนอกของอาคารที่เอาประกันภัย เป็นเพียงเครื่องอุปกรณ์ หาใช่ส่วนควบของอาคารไม่ เมื่อเกิดอัคคีภัยไหม้อาคารและเครื่องปรับอากาศก็ไป ผู้เอาประกันภัยจะเรียกเอาชดใช้ค่าเสียหายในส่วนเครื่องปรับอากาศไม่ได้

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2500

                    ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ว่าผู้รับประกันจะยอมรับใช้เงินให้ในกรณีมีอุบัติเหตุนั้น คำว่า 'อุบัติเหตุ' ก็คือเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันคิดหรือความบังเอิญเป็นซึ่งหมายความว่าเป็นเหตุที่เกิดหรือเป็นขึ้นโดยมิได้จงใจฉะนั้น จึงรวมถึงเหตุที่เกิดขึ้นโดยประมาทด้วย

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468/2521

                  แม้ในคดีอาญา ว.ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของโจทก์ถูกฟ้องศาลฟังว่าว. ไม่ใช่คนร้ายวางเพลิงทรัพย์ของโจทก์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลย แต่เมื่อมูลคดีเป็นคนละอย่างไม่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง (คดีนี้) ที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัย ทั้งคู่ความในคดีแพ่งมิใช่คู่ความในคดีอาญา จึงถือข้อเท็จจริงในคดีอาญามาพิพากษาคดีแพ่งไม่ได้
บริษัทโจทก์มีส่วนรู้เห็นให้มีการวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเพื่อหวังเงินประกัน จำเลยผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดเพราะวินาศภัยเกิดขึ้นเพราะความทุจริตของบริษัทโจทก์ผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879

 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2498

              ฟ้องบรรยายว่ารถของจำเลยชนรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยจากโจทก์เสียหาย โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาเรียกร้องจากจำเลยต่อไป ดังนี้เป็นเรื่องที่โจทก์อยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยซึ่งมีต่อจำเลย โจทก์ย่อมใช้สิทธิในนามของตนเองได้ตาม มาตรา 880,226 หาใช่เป็นเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องอันต้องทำเป็นหนังสือตาม มาตรา 306 ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2364/2522

                 โจทก์ได้รับความเสียหายจากรถยนต์ของ ส. ชนโดยประมาทส. ได้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุกับบริษัทจำเลยเพื่อให้รับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก เช่นนี้ แม้โจทก์จะได้ฟ้องผู้เอาประกันภัยไว้อีกคดีหนึ่งและคดีนั้นยังไม่ถึงที่สุดโจทก์ก็ชอบที่จะยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887ว่าด้วยประกันภัยค้ำจุนได้ ความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยและมีลักษณะเป็นการประกันวินาศภัยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 20 หมวด 2 การฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจึงต้องถืออายุความ 2 ปีนับแต่วันเกิดวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคแรก โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเกิดวินาศภัยรถยนต์ชนกันเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2517 และได้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2519 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2370/2526

                  โจทก์เอาประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุไว้แก่จำเลย ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทไปชนรถยนต์ของ ร. เสียหายร. จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และจำเลย คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ร. โจทก์และจำเลยไม่ชำระ ร. จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงชำระหนี้ตามคำพิพากษาทั้งหมดให้แก่ ร. ไป ดังนี้ โจทก์ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของ ร. ด้วยอำนาจกฎหมายมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ ร. ไปแล้วคืนจากจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ร่วมได้
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2370/2526

                โจทก์เอาประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุไว้แก่จำเลย ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทไปชนรถยนต์ของ ร. เสียหายร. จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และจำเลย คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ร. โจทก์และจำเลยไม่ชำระ ร. จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงชำระหนี้ตามคำพิพากษาทั้งหมดให้แก่ ร. ไป ดังนี้ โจทก์ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของ ร. ด้วยอำนาจกฎหมายมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ ร. ไปแล้วคืนจากจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ร่วมได้
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

 

 

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้