Last updated: 4 ธ.ค. 2567 | 14 จำนวนผู้เข้าชม |
ไม่ชำระเงินค่าผ่อนทองคำ จะมีโทษอย่างไร และข้อควรระวังในการผ่อนทอง
การผ่อนทองคำเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ที่ต้องการครอบครองทองคำสามารถทยอยชำระเงินเป็นงวด ๆ จนครบจำนวนไม่ว่าจะรับทองคำก่อนและรับทองคำเมื่อผ่อนชำระจนครบถ้วน เมื่อชำระครบตามข้อตกลง อย่างไรก็ตาม การผ่อนทองคำมีประเด็นทางกฎหมายที่ควรพิจารณาเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การทำความเข้าใจข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผ่อนทองคำไม่ควรมองข้าม เพื่อให้แน่ใจว่าการผ่อนทองคำนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ความหมายของการผ่อนทองคำ
การผ่อนทองคำคือการเช่าซื้อทองคำโดยแบ่งชำระเงินเป็นงวด ๆ ตามที่ตกลงกับผู้ให้ผ่อนทอง ซึ่งอาจเป็นการผ่อนกับร้านทองโดยตรงหรือเป็นการผ่อนทองกับบุคคลธรรมดา การผ่อนทองคำช่วยให้ผู้ซื้อสามารถครอบครองทองคำได้โดยไม่ต้องชำระเงินทั้งหมดในครั้งเดียว ทำให้สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้นและไม่กระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของผู้ซื้อมากนัก การผ่อนทองคำยังสามารถทำได้ผ่านสถาบันการเงินหรือบัตรเครดิตในกรณีผ่อนกับร้านทอง ซึ่งอาจมีเงื่อนไขการผ่อนที่แตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละสถานที่
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การผ่อนทองคำเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายประการ ดังนี้:
สัญญาเช่าซื้อ: หากการผ่อนทองคำมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าซื้อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ ซึ่งหมายความว่าการผ่อนทองคำควรมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อความถูกต้องและสามารถใช้เป็นหลักฐานในทางกฎหมาย
ยักยอกทรัพย์: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ระบุว่า ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในกรณีของการผ่อนทองคำ หากผู้ซื้อผิดสัญญาและไม่นำทองคำมาคืนภายในเวลาที่กำหนด ก็อาจเข้าข่ายการยักยอกทรัพย์ได้
ข้อควรระวังในการผ่อนทองคำ
การผิดสัญญาเช่าซื้อ: หากเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อทองคำได้รับทองคำมาแล้วก่อนชำระค่างวดจนครบถ้วน และผิดสัญญาเช่าซื้อ เมื่อผิดสัญญาเช่าซื้อแล้ว ผู้ให้ผ่อนทองได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมกับเรียกทองคำคืนแล้ว หากไม่คืนภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็อาจจะมีความผิดในข้อหายักยอกทรัพย์ได้ ตามมาตรา 352 และยังผิดสัญญาทางแพ่ง ที่ผู้ให้ผ่อนทองมีสิทธิยกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288/2558 การระวังไม่ให้ผิดสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากผลกระทบที่ตามมาอาจรุนแรงถึงขั้นถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและเสียค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย
การกู้ยืมเงินแฝง: หากเป็นการผ่อนทองคำที่เรียกดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยใช้การผ่อนทองคำแทนการกู้ยืมเงิน ดอกเบี้ยที่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยก็จะถือเป็นโมฆะและการผ่อนทองนั้นถือเป็นนิติกรรมอำพรางของการกู้ยืมเงิน จึงต้องบังคับตามกฎหมายในเรื่องกู้ยืมเงิน
เลือกผู้ให้เช่าผ่อนทองที่มีความน่าเชื่อถือ: เพราะในกรณีที่เป็นการผ่อนทองโดยจะได้รับทองต่อเมื่อผ่อนชำระค่างวดจนครบถ้วนแล้ว หากผ่อนทองไปแล้วจนครบถ้วนและผู้ให้เช่าผ่อนทองไม่ยอมส่งมอบทองคำให้ ในลักษณะนี้ก็จะเป็นการถูกฉ้อโกง ที่จะต้องนำหลัฏฐานไปแจ้งความกับพนักงานสอบสอบในข้อหาฉ้อโกงในลำดับต่อไป
สรุป การผ่อนทองคำเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ที่ต้องการครอบครองทองคำสามารถทยอยชำระเงินได้ ทำให้ไม่ต้องรับภาระในการชำระเงินก้อนใหญ่ในครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม ควรตระหนักถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น การศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดต่าง ๆ ในสัญญา รวมถึงการเลือกผู้ขายที่มีความน่าเชื่อถือ จะช่วยให้การผ่อนทองคำเป็นไปอย่างปลอดภัยและไม่เกิดปัญหาทางกฎหมายในภายหลัง
หมายเหตุ: บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและเป็นคำแนะนำทางกฎหมายในเบื้องต้น หากท่านมีข้อสงสัยหรือปัญหาทางกฎหมาย ควรปรึกษาทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมและถูกต้องตามสถานการณ์ของท่าน
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
สำนักงานกฎหมาย สำนักงานทนายความ
แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น
2 ธ.ค. 2567
25 พ.ย. 2567