152 จำนวนผู้เข้าชม |
ฟ้องซ้ำ หลักเกณฑ์ของกฎหมายเป็นอย่างไร
การฟ้องซ้ำ เป็นหลักการทางกฎหมายที่มุ่งป้องกันไม่ให้คู่ความนำคดีที่เคยมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วมาฟ้องร้องกันใหม่ในประเด็นเดียวกันอีก และส่งเสริมความยุติธรรมในระบบกฎหมาย
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ได้ระบุว่า: "คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
(2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์"
หลักเกณฑ์ของการฟ้องซ้ำ
คู่ความเดียวกัน : โจทก์และจำเลยในคดีก่อนและคดีใหม่ต้องเป็นบุคคลเดียวกัน หรือผู้สืบสิทธิจากคู่ความเดิม
ประเด็นเดียวกัน : คดีใหม่ต้องมีประเด็นพิพาทเดียวกับคดีก่อน และอาศัยเหตุเดียวกันในการฟ้องร้อง
คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด : คดีก่อนต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดแล้ว แต่หากยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด แต่หากเป็นเรื่องเดียวกันและคู่ความเดียวกันก็จะเป็นการฟ้องซ้อน ซึ่งจะอธิบายในบทความต่อๆไปครับ
ข้อยกเว้นของการฟ้องซ้ำ
การบังคับคดี: หากเป็นการดำเนินการเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
วิธีการชั่วคราว: เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวที่สามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกได้ตามพฤติการณ์
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2349/2553: แม้จำเลยในคดีใหม่จะเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีก่อน และที่ดินพิพาทเป็นแปลงเดียวกัน แต่เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับโอนสิทธิในที่ดินพิพาทมาจากผู้ฟ้องคดีก่อน การฟ้องคดีใหม่จึงไม่ถือเป็นการฟ้องซ้ำ
สรุป การฟ้องซ้ำเป็นหลักการที่สำคัญในระบบกฎหมายไทย เพื่อป้องกันไม่ให้คู่ความนำคดีที่เคยมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วมาฟ้องร้องกันใหม่ในประเด็นเดียวกัน การเข้าใจหลักเกณฑ์และข้อยกเว้นของการฟ้องซ้ำจะช่วยให้คู่ความและทนายความสามารถดำเนินคดีได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
สำนักงานกฎหมาย สำนักงานทนายความ
แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น