274 จำนวนผู้เข้าชม |
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
คำจำกัดความของค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าตกใจ คือจำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อยกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรือแจ้งให้ทราบแต่ไม่ได้ให้ระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด โดยกฎหมายแรงงานในประเทศไทยได้ระบุเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนใน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้าง โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญา จ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่าย ค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญา จ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย
การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่ จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้ การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 17/1 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ ลูกจ้างทราบตามมาตรา 17 วรรคสอง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ ลูกจ้างควรจะได้รับนับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผลตามมาตรา 17 วรรคสอง โดยให้จ่ายในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน
มาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ระบุถึงเงื่อนไขที่นายจ้างสามารถยกเว้นการจ่ายค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ หากลูกจ้างได้กระทำความผิดร้ายแรง เช่น การทุจริต การทำผิดวินัยร้ายแรง การทำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมงาน การละเมิดข้อกำหนดของบริษัทที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อนายจ้าง การละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควรเป็นระยะเวลานาน หรือการกระทำใด ๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่นายจ้าง
มาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เน้นว่านายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้าง เว้นแต่ว่าจะมีเหตุจำเป็น เช่น การทุจริต การทำผิดวินัยร้ายแรง การละเมิดข้อกำหนดอย่างร้ายแรง การทำร้ายร่างกาย หรือการกระทำอื่นที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
ตัวอย่างการคิดเงินชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ตัวอย่างที่หนึ่ง บริษัก ก. กำหนดในสัญญาจ้างว่าจะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 1 เดือน เงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท นาย ข. ได้รับเงินเดือนทุกวันที่ 30 ของทุกเดือน ปรากฎว่าบริษัท ก. เลิกจ้างนาย ข. เมื่อวันที่ 15 ของเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2567 และให้มีผลทันที โดยไม่ได้ให้นาย ข. ทำงานต่อไปอีก ดังนั้นบริษัก ก. จึงต้องชำระเงินชดเชยให้แก่นาย ข. ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2567 รวมเป็นเงินจำนวน 45,000 บาท
ตัวอย่างที่สอง แต่หากเป็นกรณีเดียวกันแต่เปลี่ยนข้อเท็จจริงเป้น บริษัท ก. เลิกสัญญาจ้างวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 โดยให้ออกทันที ซึ่งการเลิกจ้างในกรณีบอกกล่าวล่วงหน้าจะมีผลเมื่อ 30 ธันวาคม 2567 ดังนั้นบริษัก ก. จึงต้องชำระเงินชดเชยให้แก่นาย ข. ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2567 รวมเป็นเงินจำนวน 30,000 บาท
กระบวนการดำเนินการเรียกร้องค่าชดเชย
1. รวบรวมหลักฐาน
- สัญญาจ้างงาน
- หลักฐานการเลิกจ้าง
- หลักฐานการไม่ได้รับค่าชดเชย
2. ยื่นคำร้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
3. ติดต่อกรมแรงงานในพื้นที่เพื่อยื่นคำร้อง
4. หรือดำเนินการฟ้องร้องในศาลแรงงาน โดยลูกจ้างต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และลูกจ้างสามารถดำเนินการฟ้องร้องในศาลแรงงานเพื่อขอค่าชดเชยได้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ยื่นคำร้องต่อกรมแรงงานแล้ว ถูกยกคำร้องก็มีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อขอเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว
สรุป
ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นสิทธิสำคัญที่กฎหมายแรงงานให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง เพื่อป้องกันการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม การเข้าใจข้อกฎหมายและกระบวนการเรียกร้องสิทธิจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
สำนักงานกฎหมาย สำนักงานทนายความ
แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น