Last updated: 25 พ.ค. 2566 | 313 จำนวนผู้เข้าชม |
ขั้นตอนการเปิดบริษัทหรือจดทะเบียนบริษัท
1. การจัดตั้งชื่อบริษัทเพื่อนำไปจดทะเบียน ซึ่งก่อนทำการจดทะเบียนบริษัท จะต้องมีชื่อบริษัทขึ้นมาก่อนโดยชื่อเหล่านั้นต้องไม่ซ้ำหรือคล้ายกับบริษัทอื่นๆ ที่จดทะเบียนไปแล้ว โดยการคิดชื่อเพื่อใช้ในการจดทะเบียนนั้นเราสามารถยื่นจองได้สูงสุดถึง 3 ชื่อ และจะได้รับการพิจารณาจากชื่อแรก หากชื่อแรกซ้ำหรือไม่ผ่านเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง นายทะเบียนก็จะพิจารณาชื่อในลำดับถัดไปแทน
ส่วนการยื่นจองชื่อเพื่อจดทะเบียนบริษัท สามารถทำได้ 2 แบบ คือ
- ยื่นด้วยตนเองต่อนายทะเบียน ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่พื้นที่หรือใกล้เคียง หรือหากคุณอยู่ต่างจังหวัด ก็สามารถยื่นได้ที่สำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด
- จองผ่านอินเตอร์เน็ต โดยกรอกข้อมูลที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th
2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและยื่นต่อนายทะเบียน หนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่มีขึ้นเพื่อใช้สำหรับแสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท ต้องมีการระบุที่อยู่ วัตถุประสงค์ จำนวนหุ้น และข้อมูลของผู้ก่อตั้งอย่างน้อย 3 คน รวมถึงขึ้นต้นว่าบริษัทและลงท้ายด้วยคำว่าจำกัด ซึ่งในการยื่นหนังสือหนังสือบริคณห์สนธินั้น ต้องยื่นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่นายทะเบียนแจ้งผลการรับรองชื่อบริษัท
3. จัดให้มีการจองซื้อหุ้นบริษัทและนัดประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อตั้งเท่านั้นโดยทุกคนต้องถือคนละ 1 หุ้นหรือมากกว่า จากนั้นเมื่อทำการขายหุ้นบริษัทจนครบแล้ว จะต้องออกหนังสือเพื่อทำการนัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยกำหนดการประชุมจะจัดหลังออกหนังสืออย่างน้อย 7 วัน
4. การจัดประชุมเพื่อจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท ในวาระการประชุมควรประกอบด้วยสาระสำคัญ คือการตั้งระเบียบข้อบังคับของบริษัท การเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัทและอำนาจของคณะกรรมการ การเลือกผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เพื่อทำการตรวจสอบและรับรองงบการเงิน ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีที่คัดเลือกมารับหน้าที่จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น การรับรองสัญญาที่ผู้ก่อตั้งทำขึ้นก่อนการจดทะเบียนบริษัท กำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ริเริ่มกิจการหรือผู้ก่อตั้ง ไปจนถึงการกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ
5. เลือกคณะกรรมการบริษัทเพื่อดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ในวาระการประชุมควรเลือกคณะกรรมการเพื่อมาทำหน้าที่แทนผู้ก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในนามบริษัท ด้วยการทำหน้าที่เก็บเงินชำระค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของราคาจริง จากนั้นเมื่อเก็บค่าหุ้นครบแล้ว ก็จะทำการขอจดทะเบียนบริษัท โดยต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีการประชุม แต่ถ้าหากเกิดความล่าช้าและไม่เป็นไปตามระยะเวลาดังกล่าว จะถือว่าการประชุมเป็นโมฆะและต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้ง
6. ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ จะดำเนินการจากการคิดจากเงินทุนจำนวนแสนละ 50 บาท โดยไม่ว่าจะมีเศษเกินมากี่บาทก็ให้คิดเป็นจำนวนเต็มแสนเท่านั้น ซึ่งการชำระค่าธรรมเนียมเกณฑ์การชำระขั้นต่ำอยู่ที่ 500 บาท และสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนบริษัท คิดตามทุนการจดทะเบียนแสนละ 500 บาทเช่นกัน แต่ขั้นต่ำในการชำระต้องไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท ค่ารับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท
7. รับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนบริษัทและมอบหนังสือรับรองแล้ว ก็ถือว่าบริษัทได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ โดยสมบูรณ์ตามที่บริษัทมีทุกประการ
การจ่ายภาษีบริษัทเป็นภาษีเงินได้ประเภทนิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีเงินได้ที่ต้องเสียหลังจากที่จดทะเบียนบริษัท โดยมีหลักการคำนวณจาก กำไรสุทธิ (ทางภาษี) ปกติแล้วจะต้องยื่นปีละ 2 ครั้ง เรียกว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี และ ภาษีเงินได้นิติบุคคลเต็มปี (สิ้นปี)โดยการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี จะใช้แบบแสดงรายการที่ชื่อว่า แบบ ภ.ง.ด. 51 ซึ่งมีกำหนดยื่นภายใน 2 เดือนนับจากวันครึ่งรอบบัญชี ปีไหนรอบบัญชีไม่เต็ม 12 เดือนก็ไม่ต้องยื่น ส่วนแบบสิ้นปี จะเรียกว่า ภ.ง.ด. 50 ยื่นภายใน 150 วันนับจากวันสิ้นรอบบัญชี ต้องยื่นทุกปีหลังจากที่จดทะเบียนบริษัท
หากคุณประสงค์จะให้ทางสำนักงานกฎหมายทนายความของเราดำเนินการจดทะเบียนบริษัทให้แก่คุณ คุณสามารถติดต่อได้ตามช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ สำนักงานของเราพร้อมและยินดีที่จะช่วยเหลือคุณ
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น