ลูกหนี้โอนทรัพย์สินหนี เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ยึดทรัพย์

Last updated: 15 ก.พ. 2566  |  30194 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ลูกหนี้โอนทรัพย์สินหนี เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ยึดทรัพย์



          หากมองในมุมของเจ้าหนี้ แน่นอนว่าผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องการให้ได้รับชำระหนี้ที่ยังคงค้างอยู่กับลูกหนี้ แต่การที่จะเอาทรัพย์สินของลูกหนี้มาบังคับชำระหนี้ให้ครบถ้วนก็มักจะพบเจอปัญหาอยู่เสมอ การกระทำลักษณะหนึ่งของลูกหนี้ที่พบได้บ่อย คือการที่อาจจะโอนหรือยักย้ายทรัพย์สินของตนไปให้บุคคลอื่น ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้กับทรัพย์สินนั้นได้ การกระทำทำนองนี้มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายการกระทำความผิดอาญาที่เรียกว่า “โกงเจ้าหนี้” หรือไม่  

          ทั้งนี้การที่ลูกหนี้ได้ยักย้าย ถ่ายเท หรือซ้อนเร้นทรัพย์สิน ถือว่ามีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 โดยบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

          จะเห็นได้ว่า การโกงเจ้าหนี้จะต้องมีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 องค์ประกอบ

           1. เป็นการกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับการชำระหนี้

           2. เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้เรียบร้อยแล้ว

           3. ลูกหนี้ได้ยักย้าย ถ่ายเท ซ่อนเร้น ทรัพย์สินหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นหรือแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้

          ข้อสังเกต การยักย้ายทรัพย์สินนั้นจะมีลักษณะเป็นการ “โกงเจ้าหนี้” ได้ ก็ต่อเมื่อมีหนี้อยู่จริงระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพราะหากปรากฏว่ามูลหนี้ทางแพ่งระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ไม่มีอยู่จริง หรือเป็นหนี้ที่เป็นโมฆะ หรือหนี้นั้นเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงแต่หนี้นั้นไม่สามารถบังคับได้อาจเป็นหนี้ที่ต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น หนี้การพนัน หรือหนี้ที่มีการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท และไม่มีหลักฐานในการฟ้องคดี เช่นนี้ การยักย้ายทรัพย์สินนั้นก็จะไม่ใช่การยักย้ายทรัพย์สินเพื่อมิให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับการชำระหนี้  ซึ่งหนี้นั้นไม่จำต้องเป็นหนี้เงินเสมอไป อาจจะเป็นหนี้อื่นก็ได้ อย่างเช่น หนี้การโอนที่ดินก็ได้

            กรณีที่เจ้าหนี้ยังไม่ได้มีการใช้ (การยื่นฟ้องต่อศาล) หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ (การส่งหนังสือทวงถาม หากไม่ชำระเงินจะฟ้องศาล หรือที่เรียกว่า “โนติส” กรณีนี้แม้ลูกหนี้จะได้ยักย้ายทรัพย์สินไปในระหว่างนี้ ก็ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้

             กรณีที่ลูกหนี้ยังเหลือทรัพย์ที่เจ้าหนี้สามารถบังคับได้อยู่ หากลูกหนี้ได้ทำการยักย้ายทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่น แต่เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินเหลืออยู่ที่เจ้าหนี้ยังสามารถบังคับได้ เจ้าหนี่อมสามารถบังคับทรัพย์สินที่เหลืออยู่ได้ การยักย้ายทรัพย์สินของลูกหนี้ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

             หากการยักย้ายทรัพย์สินของลูกหนี้ขาดเจตนาพิเศษคือ เจตนาเพื่อที่จะไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ซึ่งหากลูกหนี้ได้กระทำไปโดยเจตนาสุจริต ไม่ได้มีเจตนาดังกล่าว ถึงแม้ลูกหนี้จะยักย้ายทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่น ก็ไม่ถือเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ เช่นการที่ลูกหนี้นำที่ดินไปขายให้แก่บุคคลอื่น เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้

              อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ถือเป็นความผิดต่อส่วนตัว (ยอมความได้) ซึ่งจะต้องมีการร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดี ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้การกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความ  

              ดังนั้น ถึงแม้ว่าลูกหนี้จะได้ทำการยักย้ายทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นก็ตาม แต่ไม่ใช่ทุกกรณีจะเป็นการโกงเจ้าหนี้เสมอไป จะต้องพิจารณาดูพฤติการณ์ องค์ประกอบ เจตนา ประกอบกันด้วย

             คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 93/2507 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น เมื่อมีคำพิพากษาว่าโจทก์และจำเลยมิได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกันแล้วย่อมไม่อาจมีการกระทำความผิดฐานนี้ได้

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2517 จำเลยที่ 1 เอาที่พิพาทไปทำสัญญาขายฝากไว้กับจำเลยที่ 2 มีกำหนดเวลาไถ่คืนเพียง 3 เดือน แล้วไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ดังนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาโอนที่พิพาทให้ จำเลยที่ 2 เพื่อไม่ให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของตนซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้วได้รับชำระหนี้ทั้งหมด การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จำเลยจะอ้างว่าที่ขายฝากเพราะจำเลยที่ 1 เชื่อว่าศาลฎีกาจะต้องพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีหาได้ไม่

              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2899/2543 ก่อนที่จำเลยจะโอนขายที่ดินให้ผู้อื่น โจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงิน อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยังไม่คิดจะฟ้องคดีให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ชำระหนี้ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จึงยังไม่เกิดขึ้น และในกรณีเช่นนี้แม้จำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ก็หาทำให้ผลการกระทำของจำเลย อันไม่เป็นความผิดเปลี่ยนแปลงไป

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2558 ทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนไปให้ผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น หมายถึงทรัพย์ใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการโอนไป

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2506 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 มิได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนแทนผู้เสียหายในคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ฟ้องไม่ปรากฏว่าในการที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2,3 นั้นจำเลยได้กระทำโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ไม่ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701/2553 จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท และฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของศาลชั้นต้น บังคับคดีต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับและสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1675/2532 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ผู้ที่จะมีความผิดจะต้อง มีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตน หรือผู้อื่นได้ รับชำระหนี้จำเลยเป็นหนี้จำนองผู้มีชื่อ 3,000,000 บาท จึงขายทรัพย์จำนองพร้อมสิทธิการเช่า โทรศัพท์เป็นเงิน 3,500,000 บาทเพื่อชำระหนี้จำนองตาม ปกติ แม้จะเป็นการขายหลังจากทราบว่าโจทก์จะใช้ สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อให้ชำระหนี้ ก็ยังเป็นการขายเพื่อชำระหนี้จำนอง ทั้งเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้จำเลยก็ต่อสู้ ว่ามิได้เป็นหนี้โจทก์ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้หรือไม่ ยังโต้เถียง กันอยู่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้

 



ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

แฟนเพจ : ทนายทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้