การแบ่งหนี้หลังหย่าทำได้หรือไม่

Last updated: 15 ก.พ. 2566  |  5750 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การแบ่งหนี้หลังหย่าทำได้หรือไม่



          ก่อนอื่นคำว่า “สามีภรรยา” ที่จะกล่าวถึง หมายถึงสามีภรรยาที่ได้จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น การเป็นแฟนกัน หรืออยู่กินฉันท์สามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ก็ไม่ถือว่าเป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย ซึ่งจะไม่มีสิทธิในทางกฎหมายที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

          หนี้ระหว่างสามีภรรยานั้น สามารถแบ่งแยกได้เป็น 2 กรณี คือ

         1.กรณีที่หนี้นั้นเป็นหนี้ร่วมของสามีภรรยา

         2.กรณีที่หนี้นั้นเป็นหนี้ส่วนตัวของสามีภรรยา

         กรณีที่หนี้นั้นเป็นหนี้ร่วมของสามีภรรยา

         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1489 “ ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย ”

         มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้

         (1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ กล่าวคือ หนี้ที่ใช้ในการดูแลครอบครัวนั้นไม่ได้หมายถึงแค่ตัวสามีหรือภริยาเท่านั้น แต่รวมไปถึงบุคคลอื่นในครอบครัวด้วย เช่น บุตรเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ถ้าสามีหรือภริยาไปกู้เงินมาเพื่อใช้รักษาบุตร อีกฝ่ายหนึ่งต้องร่วมรับผิดชอบในหนี้จำนวนนั้นด้วย

        (2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส กล่าวคือ อาจจะเป็นหนี้ที่กู้ยืมมาเพื่อใช้เกี่ยวกับสินสมรส เช่น สามีหรือภรรยาไปกู้เงินมาเพื่อที่จะมารีโนเวท “บ้าน” อันเป็นสินสมรส เช่นนี้ หนี้ที่กู้มานั้นสามีภรรยาต้องร่วมกันรับผิด

        (3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน กล่าวคือ เช่น สามีหรือภรรยาไปกู้เงินมาสร้างห้องแถว เพื่อจะปล่อยเช่าในที่ดินของอีกฝ่าย เช่นนี้ หนี้ที่กู้มานั้นสามีภรรยาต้องร่วมกันรับผิด

        (4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน กล่าวคือ หนี้ที่สามีหรือภรรยาได้ก่อขึ้นเพื่อมาใช้ในประโยชน์ส่วนตัว และการให้สัตยาบันนั้นจะทำด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ เช่น สามีหรือภรรยากู้เงินมาซ่อมแซมบ้านให้แม่ของตนเอง เช่นนี้ หากอีกฝ่ายให้สัตยาบัน (รับรอง) หนี้นั้นก็จะเป็นหนี้ร่วมที่สามีภรรยาต้องรับผิดร่วมกัน

        จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า กฎหมายไม่ได้บอกว่าหนี้ที่ก่อขึ้นทั้งหมดนั้นจะต้องเป็นหนี้สินที่สามีและภริยาต้องร่วมกันรับผิดชอบ แต่มีหนี้เพียง 4 ประเภทที่กล่าวมาเท่านั้น ที่กฎหมายให้เป็นหนี้ร่วมกันระหว่างสามีภรรยา ซึ่งจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้นหนี้ที่สามีภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส นับตั้งแต่จดทะเบียนสมรส สามีภริยาต้องร่วมรับผิดชอบในหนี้สินร่วมกัน โดยหนี้ร่วมนี้จะต้องชำระหนี้จากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย แม้เจ้าหนี้จะฟ้องบังคับคดีแค่คนเดียวก็สามารถยึดสินสมรสได้ คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอกันส่วนไม่ได้ ทั้งหมดรวมถึงทรัพย์สินของคู่สมรสอีกฝ่าย

          กรณีที่หนี้นั้นเป็นหนี้ส่วนตัวของสามีภรรยา

 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1488 “ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น”

          จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า สามีหรือภริยาที่ก่อหนี้นั้นไม่ว่าจะก่อนหรือระหว่างสมรส หากเป็นหนี้ส่วนตัวการชำระหนี้ดังกล่าวจะต้องชำระด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน แต่ถ้ายังเหลือหนี้อยู่ จึงค่อยชำระด้วยสินสมรสส่วนที่เป็นของฝ่ายนั้น ตัวอย่างเช่น ภรรยาไปก่อหนี้ส่วนตัวมา 1 ล้านบาท ภรรยามีทรัพย์สินส่วนตัว 3 แสนบาท และมีสินสมรสร่วมกันกับภริยา 1 ล้านบาท เช่นนี้ เวลาใช้หนี้ เจ้าหนี้ต้องยึดเอาจากสินส่วนตัวของภรรยาก่อน 3 แสนบาท แล้วหลังจากนั้นจึงไปยึดเอาจากสินสมรสในส่วนที่เป็นของภรรยา ซึ่งก็คือครึ่งหนึ่งของสินสมรส หมายความว่าเจ้าหนี้จะยึดเอาจากสินสมรสได้เพียง 5 แสนบาทเท่านั้น จะเห็นได้ว่า ยังเหลือหนี้อีก 2 แสนบาท หนี้ที่เหลือนี้ เจ้าหนี้ไม่สามรถยึดเอาจากสินสมรสของสามีได้ เจ้านี้ต้องรอให้ภรรยาซึ่งเป็นลูกหนี้หาเงินมาใช้เพิ่มเติมภายหลัง

          ดังนั้นถึงแม้สามีภรรยาจะได้หย่าร้างกันไป หากมีสามีภรรยายังคงมีหนี้สินร่วมกันอยู่ สามีภรรยายังคงต้องรับผิดร่วมกันอยู่ จะแบ่งหนี้กันไม่ได้ แต่หากหนี้นั้นเป็นหนี้ส่วนตัว เช่น หนี้บัตรเครดิตที่นำไปใช้จ่ายส่วนตัว หนี้ที่เกิดจากการค้ำประกันให้บุคคลอื่น หรือหนี้ที่เกิดจากการกู้ไปให้บุคคลอื่น ด้วยความเสน่หา เป็นต้น หนี้ดังกล่าวจะไม่ต้องรับผิดร่วมกันแต่อย่างใด

          คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2734/2545 จำเลยที่ 1 นำเงินที่กู้มาได้ไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านป้า เพราะป้าดูแลจำเลยที่ 1มาตั้งแต่เล็กรวมทั้งดูแลบุตรของจำเลยที่ 1 ด้วย การนำเงินกู้ไปซ่อมแซมบ้านของป้าก็เพื่อประโยชน์และความผาสุกของบุตรทั้งสามคนของจำเลยทั้งสอง กรณีจึงเป็นหนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(1)จึงเป็นหนี้ร่วมที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีต้องร่วมรับผิดด้วย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745/2530 จำเลยกับผู้ร้องเป็นสามีภริยากันได้ร่วมกันประกอบอาชีพจัดสรรที่ดินและสร้างตึกแถวขาย หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดจากจำเลยผิดสัญญาขายที่ดินพร้อมตึกแถวที่จำเลยเป็นผู้จัดสรรดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 และมีผลให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากสินสมรสและสินส่วนตัวได้ตามมาตรา 1489 โจทก์ชอบที่จะบังคับชำระหนี้จากสินสมรสได้ทั้งหมด ผู้ร้องไม่มีสิทธิกันส่วนของตนไว้

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2550 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ภริยาของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และกู้ยืมเงินจากโจทก์ได้โดยไม่คัดค้าน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรับรู้หนี้กู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวในระหว่างสมรสและจำเลยที่ 2 ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2537 จำเลยที่ 1 เป็นสามีโจทก์ได้สมยอมแกล้งเป็นหนี้จำเลยที่ 2 พี่สาว และสมยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมยึดทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ หรือให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และให้ถอนการยึดทรัพย์ทั้งหมดที่จำเลยที่ 2 ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้แล้ว ตามคำฟ้องดังกล่าว การยอมความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเรื่องของบุคคลทั้งสองไม่มีผลเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 เลยเพราะการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ต่อจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 คงยึดได้เฉพาะสินส่วนตัวและสินสมรสที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 จะยึดสินสมรสส่วนของโจทก์ไม่ได้

 

 



ทนายนิธิพล ที่ปรึกษากฎหมายด้านกฎหมาย

แฟนเพจ : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษากฎหมายด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้