13160 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างกัน คู่พิพาทต่างต้องการได้รับความยุติธรรม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้คู่พิพาทได้พูดคุยกัน เพื่อหาแนวทางระงับข้อพิพาทที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ โดยมีคนกลางทำหน้าที่ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้คู่พิพาทได้มีโอกาสพูดคุยเสนอทางออกร่วมกัน นำไปสู่การแก้ไขข้อพิพาทด้วยความพึงพอใจของคู่พิพาท การไกล่เกลี่ยเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือก คือทางเลือกอื่นนอกจากให้ศาลชี้ขาดตัดสิน และการไกล่เกลี่ยนั้นถือได้ว่าเป็นการระงับข้อพิพาทที่ถูกนำเอามาใช้มากที่สุด เพราะทำให้ได้ทางออกที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ
โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 32) พ.ศ. 2563 มาตรา 3 ได้บัญญัติให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 20 ตรี แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 20 ตรี บัญญัติว่า “ก่อนยื่นฟ้องคดี บุคคลที่จะเป็นคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจหากมีการฟ้องคดีนั้น เพื่อขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ประนีประนอมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในข้อที่พิพาท โดยคำร้องนั้นให้ระบุชื่อและภูมิลำเนาของคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายละเอียดของข้อพิพาท เมื่อศาลเห็นสมควร ให้ศาลรับคำร้องนั้นไว้แล้วดำเนินการสอบถามความสมัครใจของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในการเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย หากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย ให้ศาลมีอำนาจเรียกคู่กรณีที่เกี่ยวข้องมาศาลด้วยตนเองโดยคู่กรณีจะมีทนายความมาด้วยหรือไม่ก็ได้ และแต่งตั้งผู้ประนีประนอมดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไปโดยให้นำความในมาตรา 20 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ถ้าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องสามารถตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันได้ ให้ผู้ประนีประนอมเสนอข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นไปตามเจตนาของคู่กรณี หลักแห่งความสุจริต เป็นธรรม และไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก็ให้คู่กรณีลงลายมือชื่อในข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
ในวันทำข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความตามวรรคหนึ่งคู่สัญญาอาจร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม พร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นต่อศาล หากศาลเห็นว่ากรณีมีความจำเป็นที่สมควรจะมีคำพิพากษาไปในเวลานั้น ก็ให้ศาลมีคำพิพากษาไปตามข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้โดยให้นำความในมาตรา 138 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การขอและการดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล
คำสั่งของศาลที่ออกตามความในมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ประนีประนอมแล้ว แต่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลงโดยไม่เป็นผล หากปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วหลังจากยื่นคำร้องหรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลง ให้อายุความขยายออกไปอีกหกสิบวันนับแต่วันที่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลง”
จะเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ได้กำหนดหลักเกณฑ์การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องไว้ ซึ่งการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ยังไม่ได้มีการเสนอคดีต่อศาล อีกทั้ง การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องนั้นไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลก่อน โดยสามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ เพื่อให้มีการไกล่เกลี่ย โดยกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องนี้ได้เป็นการระงับข้อพิพาททางเลือก ให้คู่กรณีสามารถตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันก่อนจะมีการฟ้องต่อศาล ซึ่งยังไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล และหากสามารถตกลงหรือประนีประนอมกันได้ สามารถร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมได้ตาม มาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเปรียบเสมือนการให้ศาลมีคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีตามที่คู่ความตกลงกัน
ข้อสังเกต ผู้ที่จะสามารถยื่นไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้นั้นมีได้แต่คดีมีข้อพิพาท เพราะจะต้องมีคู่กรณีที่ประกอบด้วยคู่ความ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถูกโต้แย้งเกี่ยวสิทธิหรือหน้าที่ อีกฝ่ายมาโต้แย้งเกี่ยวสิทธิหรือหน้าที่ จึงจะสามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยกันได้เพื่อให้ได้ข้อยุติในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น แต่คดีที่ไม่มีข้อพิพาทจะไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ เนื่องจากคดีที่ไม่มีข้อพิพาท เป็นคดีที่มีคู่ความฝ่ายเดียวซึ่งบุคคลนั้นจำเป็นจะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้รับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ เมื่อมีคู่ความฝ่ายเดียวจึงไม่มีคู่กรณีที่จะเข้ามาเจรจากัน ดังนั้น การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องในคดีไม่มีข้อพิพาทจึงไม่สามารถมีได้
ขั้นตอนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง
ขั้นตอนที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ โดยจะยื่นด้วยตนเอง ยื่นผ่านไปรษณีย์ ยื่นผ่านระบบ cios ก็ได้
ขั้นตอนที่ 2 เจ้าหน้าที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยเสนอผู้พิพากษาพิจารณาสั่งรับคำร้อง
ขั้นตอนที่ 3 เจ้าหน้าที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยส่งคำร้องและเอกสารทางไปรษณีย์ หรือ E-Mail แนบหนังสือเชิญชวนเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย ให้ตอบกลับภายใน 15 วัน นับแต่ส่งคำร้อง
ขั้นตอนที่ 4 การตอบกลับ
- หากตอบรับ ถือว่าประสงค์ไกล่เกลี่ย สามารถกำหนดวันและวิธีการไกล่เกลี่ยได้
- หากไม่ตอบรับ ถือว่าไม่ประสงค์ไกล่เกลี่ย ให้ยุติเรื่องลง
ขั้นตอนที่ 5 คู่กรณีมาศาล เสนอต่อศาลแต่งตั้งผู้ประนีประนอม
ขั้นตอนที่ 6 ผู้ประนีประนอมดำเนินการไกล่เกลี่ย
- หากตกลงกันได้ ทำข้อตกลง/สัญญาประนีประนอมกัน ซึ่งอาจขอให้ศาลพิพากษาตามข้อตกลง/สัญญาประนีประนอมยอมความ
- หากตกลงกันไม่ได้ ให้ยุติการไกล่เกลี่ย ซึ่งอายุความครบ 60 วัน ขยายอีก 60 วันนับแต่ไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลง
ประโยชน์ของการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง
1. สะดวก เพราะไม่ต้องยื่นฟ้องคดีก็ไกล่เกลี่ยได้ อีกทั้งสามารถยื่นคำร้องได้หลายช่องทาง
2. รวดเร็ว เนื่องจากมีขั้นตอนและกระบวนการไม่ยุ่งยากซับซ้อน และใช้เวลาไม่นานก็ยุติข้อพิพาทได้
3. ประหยัด ในเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่าย เพราะการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล
4. เป็นธรรม เพราะมีคนกลางช่วยเหลือในการเจรจาและอยู่ในการดูแลของศาลตลอดกระบวนการ
5. มีผลบังคับ สามารถขอให้ศาลพิพากษาตามยอมได้
ดังนั้น การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องนั้น ถือได้ว่าเป็นระบบที่ส่งเสริมในการระงับข้อพิพาททางเลือกให้แก่ผู้ที่มีกรณีพิพาทเพื่อใช้เป็นช่องทางในการยุติข้อพิพาทก่อนที่จะมีการฟ้องคดีโดยคู่กรณีสามารถร้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ประนีประนอม ดำเนินการไกล่เกลี่ยและหากตกลงกันได้ก็อาจขอให้ศาลมีคำพิพากษาได้ทันที ทำให้ข้อพิพาททางแพ่งสามารถยุติลงได้ในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องคดี ทั้งเป็นการประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆที่ต้องเสียในการดำเนินคดี อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่คู่ความด้วยวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และทำให้ศาลอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะยังประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมต่อไป หากต้องการให้ทนายความร่างคำร้องและส่งคำร้องให้ต่อศาลสามารถติดต่อช่องทางการติดต่อด้านล่างครับ
หากคุณต้องการทำเรื่องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องสามารถติดต่อสำนักงานทนายนิธิพลให้ร่างคำร้องเพื่อให้ท่านไปยื่นต่อศาลให้ได้ โดยมีค่าดำเนินการร่างอยู่ที่ 3-5 พันบาท ประหยัดกว่าการทำเรื่องฟ้องต่อศาลหลายเท่า สามารถติดต่อช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ได้เลยครับ ทางสำนักงานยินดีและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและดูแลคดีของคุณ
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย
Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์
เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.
เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145