Last updated: 6 ส.ค. 2565 | 6984 จำนวนผู้เข้าชม |
ปัจจุบันแก๊งคอลเซ็นเตอร์กำลังระบาดหนัก หลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ ซึ่งจะติดต่อผ่านช่องทางโทรศัพท์ โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่จะโดนหลอกในลักษณะว่า มีพัสดุผิดกฎหมายส่งมาที่บ้านคุณแต่ไม่สามารถส่งได้ และก็มักจะอ้างตนเป็นตำรวจหรือหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าดังกล่าว หรือบ้างครั้งก็อ้างว่ามีสินค้าตกค้างอยู่เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ โดยอาจจะหลองหลวงผู้เสียหายได้หลายรูปแบบ เช่น
- มีการส่งพัสดุผิดกฎหมายไปยังต่างประเทศและกำลังจะถูกดำเนินคดี
- สืบได้ว่าบัญชีธนาคารเข้าไปเกี่ยวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย
- อ้างว่าเราเป็นหนี้กับหน่วยงานรัฐ ซึ่งต้องชำระเงินโดยด่วนก่อนถูกดำเนินคดี
- บัญชีธนาคารกำลังมีปัญหา ขอข้อมูลส่วนตัวรวมถึงรหัสผ่านต่างๆเพื่อรักษาเงินในบัญชี
- ได้รับเงินรางวัลแต่ต้องจ่ายภาษีเพื่อรับเงินรางวัลนั้น
- มีชื่อเข้าไปเกี่ยวพันกับคดีค้ายาหรือฟอกเงิน ต้องโอนเงินทั้งหมดไปให้ตรวจสอบ
- ได้รับสิทธิ์ขอคืนภาษี แต่ต้องไปทำรายการขอรับเงินคืนที่ตู้เอทีเอ็ม
- มีหมายศาลส่งมา แต่ส่งไปไม่ถึง รบกวนขอข้อมูลส่วนตัว
- โอนเงินไปผิดบัญชี รบกวนโอนคืน
- ทวงหนี้นอกระบบ โดยอ้างชื่อคนที่รู้จัก
- หลอกว่าเป็นบริษัทประกัน
รูปแบบกลโกงที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรูปแบบกลโกงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เท่านั้น ยังมีรูปแบบอื่นๆ และรูปแบบใหม่ของมิจฉาชีพอีกหลากหลายรูปแบบ และมีการทำเป็นขบวนการเพื่อพยายามทำให้เหยื่อหลงเชื่อ
ในส่วนด้านกฎหมายก็มีบทลงโทษ เพื่อให้ผู้ที่หลอกลวงรับผิดในการกระทำเพราะเกิดความเสียหายต่างๆ
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 342 ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
การจะกำหนดโทษแก่ผู้ที่หลอกลวงนั้นจะต้ององค์ประกอบต่างๆ ว่าเข้ากับหลักกฎหมายอะไรบ้าง ผู้เสียหายเมื่อรู้ตัวว่าโดนหลอกลวงจะต้องรีบดำเนินการแจ้งความกับพนักงานตำรวจโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ดำเนินการจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์มารับโทษตามกฎหมายต่อไป
ดังนั้น ประชาชนทั่วไปจะต้องรู้ทันว่ากำลังโดนหลอกจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หากมีการเรียกให้ชำระเงินใดๆ หรือขอข้อมูลส่วนตัว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ อย่ากระทำการตามที่เขาต้องการเด็ดขาด ซึ่งมีผู้เสียหายเกิดขึ้นทุกวัน เมื่อคุณได้อ่านบทความนี้แล้ว คงจะทราบถึงกลโกงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้มากขึ้น
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย
Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์
เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.
เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145