Last updated: 6 ส.ค. 2565 | 15660 จำนวนผู้เข้าชม |
ในปัจจุบันมีการรับจ้างเปิดบัญชีกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าการนำบัญชีนั้นไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม โดยการเปิดบัญชีจะมีผู้ว่าจ้างได้ติดต่อให้ผู้รับจ้างเปิดบัญชีเป็นชื่อของผู้รับจ้าง เพื่อให้ผู้ว่าจ้างจะนำบัญชีดังกล่าวและบัตรเอทีเอ็มไปใช้ประโยชน์อื่นใดหรือนำบัญชีดังกล่าวไปทำธุรกรรมแบบมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีความผิดอย่างไร ตรงจุดนี้ทางศาลจะพิจารณาถึงผู้รับว่าจ้างว่ามีองค์ประกอบความผิดอย่างไรบ้าง และได้รู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ ซึ่งจะมีความผิดตามกระบวนกฎหมายดังจะกล่าวต่อไปนี้
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 วางหลักไว้ว่า ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วางหลักไว้ว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
เมื่อผู้ว่าจ้างได้นำบัญชีไปหลอกหลวงผู้อื่น ย่อมจะมีความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 341 หรือความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มาตรา 343 เมื่อมีผู้เสียหาย ผู้เสียหายย่อมแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีที่ผู้เสียหายได้โอนเงินไป และเมื่อดำเนินคดีแล้วบัญชีหรือเงินในบัญชีดังกล่าวก็จะถูกอายัดไว้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีให้มารับทราบข้อกล่าวหา โดยจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่หากผู้รับจ้างเปิดบัญชีสามารถพิสูจน์ได้ว่าตนนั้นเป็นเพียงผู้รับจ้างเปิดบัญชี ในศาลก็ต้องพิสูจน์ให้ได้อีกว่าผู้รับจ้างเปิดบัญชีนั้นมีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดหรือไม่อย่างไร ถ้าพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด ก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับโทษฐานเป็นผู้สนันสนุนในการกระทำความผิด ซึ่งต้องได้รับโทษ 2 ใน 3 ส่วนของฐานความผิดนั้นๆ แต่หากพิสูจน์ไม่ได้ดังที่กล่าวมาในข้างต้นก็เสี่ยงที่จะได้รับโทษฐานเป็นตัวการในกระทำความผิด สำหรับการรับจ้างเปิดบัญชีหรือการหลอกให้ผู้อื่นโอนเงินให้นั้นยังอาจจะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการว่าจ้างและรับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นอีกด้วย เช่น กระทำความผิดเกี่ยวกับการพนัน แรงงานต่างด้าวหรือยาเสพติด เป็นต้น
ดังนั้น จึงไม่ควรรับจ้างเปิดบัญชีหรือเอาบัญชีของตนเองไปให้ใครยืมใช้เป็นเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นหากผู้ที่เอาบัญชีไปใช้นำเอาไปใช้ในทางที่ผิด เจ้าของบัญชีจะต้องมีส่วนได้รับโทษหรือต้องไปสู้คดีในศาล ซึ่งไม่คุ้มกับเงินที่ได้รับจากการเปิดบัญชีให้แก่บุคคลอื่นหรือคุ้มค่ากับการที่เอาบัญชีของตนเองไปให้บุคคลอื่นยืมใช้ บทความนี้เขียนมาเพื่อเป็นการเตือนและให้รับทราบถึงผลกระทบที่จะได้รับ หากท่านได้มาอ่านบทความนี้แล้วก็ควรรีบไปปิดบัญชีโดยด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายหรือความเสียหายที่อาจะมีมากยิ่งขึ้น หากเมื่อมีผู้เสียหายดำเนินคดีก็ควรติดต่อไปเจรจากับผู้เสียหายและเจรจาตกลงกันให้ได้เพื่อให้ผู้เสียหายพอใจและยินยอมถอนคำร้องทุกข์
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 2120/2563 นางสาว ส.ถูกคนร้ายร่วมกันหลอกลวงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น โจทก์ร่วมหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของบุคคลที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ว่าจ้างให้เปิดบัญชีธนาคารและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเบิกถอนเงินสด โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด แต่จำเลยที่ 5 อ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงให้หาคนมาเปิดบัญชีเงินฝากโดยจำเลยที่ 1 จะนำไปดำเนินใช้ในการดำเนินธุรกิจของชาวต่างชาติ ส่วนจำเลยที่ 6 และที่ 7 อ้างว่าถูกจำเลยที่ 5 ชักชวนให้หาคนมาเปิดบัญชีเพื่อให้คนต่างชาติโอนเงินมาเข้าบัญชีเพื่อทำธุรกิจอีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำบัญชีเงินฝากไปกระทำความผิด แต่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ให้การในชั้นสอบสวนว่าได้รับค่าจ้างให้หาคนมาเปิดบัญชีพร้อมทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเบิกถอนเงินสด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ได้รับค่าจ้างเพื่อหาคนมาเปิดบัญชีเงินฝาก ย่อมเล็งเห็นได้ว่าคนร้ายจะใช้สมุดบัญชีเงินฝากและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าของบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิดกฎหมาย จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 จะอ้างว่าถูกหลอกใช้ไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 จึงเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเบิกถอนเงินสดของผู้อื่นโดยมิชอบ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342,83,86,269/5,269/7)
คำพิพากษาที่ 105/2561 การที่จำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝาก ป. รวม 9 ครั้ง เป็นเงิน 4,173,000 บาท ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก ป. เพื่อนำไปให้ ต. ผู้ที่ขายเมทแอมเฟตามีนให้ ศ. กับพวก ถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (2), มาตรา 60
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย
Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์
เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.
เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145