Last updated: 19 พ.ย. 2567 | 166849 จำนวนผู้เข้าชม |
เบี้ยวค่าแชร์ก็ติดคุกได้
คิดว่าคงมีหลายๆ คนเข้าใจว่าการเล่นแชร์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วการเล่นแชร์ไม่ผิดกฎหมายสามารถเล่นได้แต่ต้องเป็นการเล่นแชร์ตาม พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ซึ่งกำหนดหลักสำคัญเช่น
1. ห้ามนิติบุคคลจัดให้มีการเล่นแชร์หรือเป็นท้าวแชร์ ดังนั้นแล้วการเล่นแชร์ผู้ที่สามารถจัดให้มีการเล่นแชร์ได้ หรือเป็นท้าวแชร์ได้จึงมีได้แต่เฉพาะบุคคลธรรมดา หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับหนึ่ง-สามเท่าของเงินกองกลางแต่ละวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าสองแสนบาท และนิติบุคคลนั้นต้องหยุดดำเนินการวงแชร์นั้น
2. ห้ามท้าวแชร์ตั้งวงแชร์รวมกันเกิน 3 วง หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. มีลูกแชร์รวมทุกวงไม่เกิน 30 คน วง หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ห้ามท้าวแชร์โพสต์ประกาศโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนร่วมเล่นแชร์หากฝ่าฝืนระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
5. ความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ดังที่กล่าวมานี้ เป็นความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ลูกแชร์สามารถแจ้งความท้าวแชร์ได้ แต่ลูกแชร์ไม่ใช่ฐานะของผู้เสียหายเพราะเป็นความผิดต่อรัฐ
โดนเบี้ยวแชร์ทำอย่างไรดี
โดยปกติแล้วการเล่นแชร์เป็นนิติกรรมทางแพ่ง หากมีลูกแชร์ไม่ส่งเงินเข้ากองกลางหรือท้าวแชร์ไม่จัดสรรเงินให้ลูกแชร์เป็นเรื่องของการผิดสัญญากัน จึงต้องเป็นการฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกเงินคืนให้แก่กัน โดยดำเนินการฟ้องด้วยตนเองต่อศาลแพ่ง จะแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องเป็นคดีอาญาไม่ได้
ส่วนกรณีที่เป็นคดีอาญาต้องดูจากเจตนาเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
กรณีลูกแชร์
กรณีแรก คือ ลูกแชร์ไม่เคยส่งเงินเข้ากองกลางและได้เปียแชร์ไปแล้ว หนีวงแชร์หายไปเลยทำให้ท้าวแชร์ต้องสำรองเงินตัวเองจ่ายไปก่อน กรณีเช่นนี้สามารถแจ้งความยักยอกทรัพย์ เป็นคดีอาญาได้ ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สามารถไปแจ้งความเพื่อให้ทางตำรวจดำเนินการหรือจะจ้างทนายความดำเนินการแทนก็ได้
กรณีที่สอง คือลูกแชร์เคยส่งเงินเข้าวงแชร์มาบ้างแล้ว หนีวงแชร์หายไปเลย กรณีนี้เป็นการผิดสัญญาทางแพ่งไม่ใช่ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นคดีอาญา ท้าวแชร์ต้องจ้างทนายความเพื่อดำเนินการฟ้องเรียกเงินคืน
กรณีท้าวแชร์
กรณีแรก คือท้าวแชร์ไม่ได้มีเจตนาจะตั้งวงแชร์ตั้งแรกแต่เปิดวงแชร์ให้ทุกคนนำเงินเข้ากองกลางพอถึงการเปียแชร์ในงวดแรกท้าวแชร์กลับนำเงินกองกลางหนีไป กรณี เช่นนี้ สามารถแจ้งความฉ้อโกงเป็นคดีอาญาได้ ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สามารถไปแจ้งความเพื่อให้ทางตำรวจดำเนินการหรือจะจ้างทนายความดำเนินการแทนก็ได้
กรณีที่สอง คือ ท้าวแชร์มีการตั้งวงแชร์และมีการเล่นแชร์กันจริงๆแต่ต่อมาภายหลังไม่สามารถนำเงินกองกลางเปียแชร์ให้ลูกแชร์ได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามหรือที่เรารู้จัดกันว่า บ้านล้ม หรือวงแชร์ล้ม กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าผิดสัญญาทางแพ่งไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นคดีอาญา ลูกแชร์ต้องจ้างทนายความเพื่อดำเนินการฟ้องเรียกเงินคืน
ฎ. 2444/2532
ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ คือต้องเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินโดยการหลอกลวง ดังนี้ การที่จำเลยได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายโดยการเล่นแชร์ ซึ่งเล่นกันจำนวน 90 มือ มีการประมูลแชร์และเก็บเงินจากผู้เล่นให้แก่ผู้ประมูลได้ถึง 57มือแล้ว ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าวงผิดนัด ไม่เก็บเงินจากผู้เล่นแชร์และไม่ดำเนินการประมูลแชร์ต่อไปตามหน้าที่ จึงเป็นการผิดสัญญาเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผูกพันทางแพ่ง การกระทำของจำเลยหาเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่.
หากคุณต้องการทำเรื่องฟ้องต่อศาลหรือให้สำนักงานร่างคำร้องทุกข์เพื่อยื่นต่อสถานีตำรวจสามารถติดต่อสำนักงานทนายนิธิพล ทางช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ได้เลยครับ ทางสำนักงานยินดีและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและดูแลคดีของคุณ
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
แฟนเพจสำนักงานกฎหมาย : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น