Last updated: 27 ต.ค. 2564 | 39695 จำนวนผู้เข้าชม |
คดีฉ้อโกงคำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2560
มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับเกิดจากการที่จำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ช. กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน ช. โดยมิได้เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหรือโดยฝืนใจลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 314 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2560
แม้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย การที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานการทำป้ายโฆษณา การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2559
คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่ากระทำละเมิดอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการจดทะเบียนขายฝากที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยไม่ตรวจสอบว่านางสาวป. กับพวกปลอมตนว่าเป็นนางก. เจ้าของที่ดิน และจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งที่พ้นกำหนดเวลาไถ่ถอนการขายฝากกับผู้ซื้อฝากเดิมเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย โดยมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายฝากนี้ เกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีถูกนางสาวป. กับพวกร่วมกันฉ้อโกงโดยหลอกลวงและแสดงตนว่าเป็นนางก. เจ้าของที่ดินทำให้ผู้ฟ้องคดีหลงเชื่อรับซื้อฝากที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างถึงความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมอันเป็นนิติสัมพันธ์ทางแพ่งระหว่างเอกชนซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมทั้งปรากฎว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางก. กับพวกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและร่วมกันปลอมเอกสารต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ส่วนนางก. ก็เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีกับพวกเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากมูลเหตุเดียวกัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรม คำพิพากษาทั้งสองคดีดังกล่าวย่อมมีผลต่อการรับฟังข้อเท็จจริงและคำพิพากษาในคดีนี้ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงควรได้รับการพิจารณาโดยศาลในระบบเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21183/2556
การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16889/2555
จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายซึ่งประกอบอาชีพค้าขายทองคำและเป็นผู้จัดการร้าน มีหน้าที่ขายทองคำของผู้เสียหายให้แก่ลูกค้า และยังมีหน้าที่รับจำนำทองคำของลูกค้าด้วย จำเลยใช้กลอุบายนำสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายที่จำเลยมีหน้าที่ขายให้แก่ลูกค้าไปบอกแก่พนักงานเก็บเงินในร้านของผู้เสียหายว่าเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำแก่ทางร้าน เมื่อพนักงานเก็บเงินส่งมอบเงินซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่จะต้องนำไปมอบให้แก่ลูกค้าที่นำทรัพย์มาจำนำให้แก่จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยก็รับเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตน การกระทำของจำเลยมิใช่เอาเงินของผู้เสียหายไปโดยพลการโดยทุจริต หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำ การที่จำเลยได้เงินของผู้เสียหายไปจึงเกิดจากการที่พนักงานเก็บเงินซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2555
แม้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติให้มีการประกาศโฆษณาคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาดังกล่าวแล้วให้ถือว่าบุคคลภายนอกทุกคนต้องทราบคำพิพากษานั้นและมิได้ระบุถึงผลของการประกาศโฆษณาโดยแจ้งชัด ซึ่งตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้พออนุมานได้ว่าประสงค์จะให้การประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า บุคคลภายนอกทราบคำพิพากษาให้ล้มละลายที่ประกาศโฆษณาแล้วหรือไม่เท่านั้น ดังนี้ ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบถึงคำพิพากษาให้ล้มละลายก็ได้ จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2529
จำเลยทั้งสองขี่รถจักรยานยนต์ซ้อนกันเข้าไปเติมน้ำมันเบนซินที่บ้านผู้เสียหายจำนวน5ลิตรเมื่อเติมน้ำมันเสร็จภริยาผู้เสียหายทวงเงินค่าน้ำมันจำเลยที่2ถือลูกกลมๆอยู่ในมือซึ่งฟังไม่ได้ว่าเป็นลูกระเบิดพูดว่าไม่มีเงินมีไอ้นี่เอาไหมภริยาผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นลูกระเบิดจำเลยทั้งสองขี่รถจักรยานยนต์ออกไปการกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายเพียงเพื่อจะเติมน้ำมันรถจักรยานยนต์โดยไม่ชำระราคาเท่านั้นการที่จำเลยที่2ถือลูกกลมๆอยู่ในมือและพูดเช่นนั้นเป็นวิธีการที่จะใช้แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหาใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2540
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยต้นเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอดๆ เมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลยจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้จะไม่มีการประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว จำเลยกับพวกมิได้เป็นผู้รับอนุญาตให้จัดหางานมิได้เป็นกรรมการหุ้นส่วนหรือผู้จัดการของผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหางานซึ่งเป็นนิติบุคคล ประกอบกับฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่ายังไม่มีตำแหน่งงานหรืออัตรางานในประเทศบาร์เรนตามที่โฆษณาชักชวนแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายอย่างจริงจังเป็นเพียงอุบายหลอกลวงอ้างเรื่องการจัดหางานเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบค่าบริการให้จำเลยเท่านั้นไม่ต่างกับการหลอกลวงโดยอ้างเหตุอื่นๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2559
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
พิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2552
โจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยเจตนาฉ้อโกงตนในวันใดอายุความร้องทุกข์ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น การที่โจทก์ร่วมพยายามโทรศัพท์ถึงจำเลยอีกหลายครั้งหลายหนในเวลาต่อมาทั้งๆ ที่จำเลยรับบ้างไม่รับบ้าง หรือบางครั้งรับปากว่าจะนำเงินไปชำระแต่แล้วก็ผิดนัดเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเพิ่งทราบถึงการกระทำความผิดของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2558
ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 30277 และ 30301 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12888/2558
ประธานกรรมการโจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินของโจทก์ร่วมไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพให้ไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 แล้ว แต่โจทก์ร่วมฎีกาว่าไม่รู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินโจทก์ร่วมไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด และโกงอย่างไร แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันใดที่มิใช่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพไว้ และรู้เรื่องความผิดก่อนไปแจ้งความร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน คดีจึงไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำผิดและรู้เรื่องความผิดตั้งแต่เมื่อใดก่อนวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 อันเป็นวันร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน กรณีไม่อาจทราบแน่ชัดว่าคดียังไม่ขาดอายุความ หรือไม่แน่ชัดว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิฟ้องคดีได้หรือไม่ จึงสมควรยกประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งสองว่าสำหรับข้อหาฉ้อโกงนั้น คดีขาดอายุความแล้ว โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฟ้องคดีข้อหานี้ ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องคดีนี้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองรับเงินจากธนาคารตามเช็คไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริตอันครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นการบรรยายฟ้องรวมการกระทำอื่นซึ่งอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำผิดอื่นนั้นตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้พิจารณาลงโทษความผิดของจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิจารณาตามมาตรานี้โดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 215 และมาตรา 225 ได้เพราะข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คให้จำเลยที่ 2 ไปขึ้นเงินที่ธนาคารจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ได้เงินของโจทก์ร่วมมาจำนวน 125,616 บาท โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 มอบเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มอบเงินคืนให้โจทก์ร่วมแล้วดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ย่อมไม่อาจร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้และมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ แม้ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดโทษจำเลยทั้งสองให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เพราะจะเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยที่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2557
การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นการกระทำโดยหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้เงินหรือทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง โดยผู้กระทำความผิดมีเจตนาให้เกิดผลต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้ที่ถูกหลอกลวงแต่ละคน ส่วนเหตุการณ์ในภายหลังที่ผู้กระทำความผิดได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนอีกหลายคราว ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก หาใช่เป็นการกระทำใหม่อีกกรรมหนึ่งไม่ ผู้เสียหายทั้งสิบได้นำนากหญ้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไปเลี้ยงตามคำแนะนำเชิญชวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก โดยจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก คู่ละ 20,000 บาท แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 นำนากหญ้าไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกและจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ การได้รับเงินในครั้งต่อมาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินไปจากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 แม้จะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน รวม 10 กรรม ตามจำนวนผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6793/2557
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นคดีความผิดต่อแผ่นดิน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม และยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงแก้ไข กรณีย่อมถือว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งโจทก์ชอบที่จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยจำเลยไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2556
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 นั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คดีนี้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2547 โดยผู้เสียหายแต่ละคนต่างให้การในรายละเอียดกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาให้จำเลยได้รับโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปี และลายมือชื่อพนักงานสอบสวนผู้บันทึกกับลายมือชื่อผู้เสียหายแต่ละคนในฐานะผู้ร้องทุกข์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และ 123 วรรคสาม และกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายหลายคนไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้เสียหายทุกคนต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกัน เพียงแต่ผู้เสียหายแต่ละคนต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น เมื่อคดีนี้ผู้เสียหายแต่ละคนร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จึงฟังได้ว่า คดีนี้มีผู้เสียหายตั้งแต่สิบคนขึ้นไปครบองค์ประกอบความผิดใน ป.อ. มาตรา 344 และการที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนให้ประกอบการงาน คือ สร้างภาพยนตร์ให้จำเลย โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง จนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมีการทำงานที่เกี่ยวข้องไปบางส่วน แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนยังสร้างภาพยนตร์ไม่แล้วเสร็จและจำเลยยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างภาพยนตร์นั้น การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 344 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5218/2556
แม้ผู้ประกันจะนำตัวจำเลยมายังศาลชั้นต้นตามกำหนดนัดที่ศาลชั้นต้นระบุไว้ในใบนัดให้ส่งตัวจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ศาลว่าในวันดังกล่าวจำเลยและผู้ประกันมาศาลเพื่อยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อเจ้าพนักงานศาลตรวจสอบแล้วปรากฏว่าล่วงเลยกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ และสอบถามจำเลยแล้วประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ จำเลยและผู้ประกันจึงให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขียนคำร้องเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขียนคำร้องให้จำเลยและผู้ประกันแล้วได้แจ้งให้จำเลยและผู้ประกันรอฟังคำสั่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วจำเลยและผู้ประกันไม่มาฟังคำสั่ง พฤติการณ์ของจำเลยและผู้ประกันดังกล่าวเห็นได้ว่า จำเลยและผู้ประกันมาศาลตามกำหนดนัดในใบนัดของศาลชั้นต้นเพื่อยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าผู้ประกันได้ส่งมอบตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้นแล้ว ผู้ประกันจึงผิดสัญญาประกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7707/2555
ป. ป่าไม้จังหวัดอุดรธานีซึ่งรับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เข้าร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกก่อนใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 (เดิม), มาตรา 84 (เดิม) และมาตรา 89 (เดิม) โดยไม่มีมาตราใดของบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษไว้ก่อนดังกล่าวนั้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย จึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง แม้ต่อมาจะมีการแก้ไข มาตรา 66 และมาตรา 84 โดยก็มิได้บัญญัติให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบสวนกรณีของจำเลยไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ ดังนั้น การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย และการที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมิได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีผลทำให้การสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14783/2555
การที่จำเลยมอบเช็คปลอมให้พนักงานของผู้เสียหายนำไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็คด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อแท้จริงของ ธ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคารมิใช่เงินของโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักเงินของโจทก์ร่วมแต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักเงินของโจทก์ร่วม แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักเงินโจทก์ร่วม และฟังได้ว่าจำเลยฉ้อโกงธนาคารเป็นความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนจากที่โจทก์บรรยายฟ้อง จึงเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และไม่อาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วมได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2555
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้ในคดีฉ้อโกง ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่เมื่อคำขอส่วนแพ่งเป็นคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น อำนาจของพนักงานอัยการที่จะว่ากล่าวเกี่ยวกับคำขอส่วนแพ่งยังคงมีต่อไป และศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสามต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าพนักงานอัยการไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนกลุ่มผู้เสียหายรวมทั้งโจทก์ร่วม และไม่วินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ การฎีกาในปัญหาใด ๆ ต่อศาลฎีกานั้นย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละคน แม้โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาข้าวเปลือกแก่ผู้เสียหายรวม 81 คน แต่ราคาข้าวเปลือกของผู้เสียหายที่โจทก์ขอมาแต่ละคนต่างแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น โจทก์ร่วมย่อมเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะสิทธิเรียกราคาข้าวเปลือกในส่วนของตนเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ฎีกาโจทก์ร่วมย่อมฎีกาได้เฉพาะส่วนของตน จะฎีกาแทนโจทก์หรือผู้เสียหายคนอื่นมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18043/2555
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยทนายความจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดทำคำให้การให้ และศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสองพร้อมบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ประกอบกับจำเลยทั้งสองแถลงว่าประสงค์ที่จะเจรจาเรื่องยอดหนี้ในส่วนแพ่งและขอผ่อนชำระเงินให้ผู้เสียหาย ขอให้นัดพร้อม ต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองตกลงกันโดยผู้เสียหายเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 400,000 บาท จำเลยทั้งสองขอเวลาหาเงินมาชำระให้ผู้เสียหายสักระยะหนึ่ง ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินให้ผู้เสียหายตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อกระบวนพิจารณากระทำในศาลโดยเปิดเผย จึงเป็นการให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจและมิได้สำคัญผิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ จึงไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ แม้จำเลยทั้งสองจะให้การหรือไม่เป็นสิทธิของจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองให้การต่อศาลแล้ว การขอแก้คำให้การจำเลยทั้งสองสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลยทั้งสอง อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลถ้าเห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ได้ การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 โดยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพและให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องโจทก์ ซึ่งมีผลเป็นการแก้คำให้การหลังจากที่ได้ให้การรับสารภาพและตกลงกับผู้เสียหายได้แล้ว โดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด ผู้ที่กระทำความผิดที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทราบคือ พ. กับพวก ซึ่งข้ออ้างของจำเลยทั้งสองแสดงว่าจำเลยทั้งสองรู้แต่แรกแล้วว่าผู้กระทำความผิดเป็นใคร ย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพ เช่นนี้ เห็นได้ว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถหาเงินมาชำระให้ผู้เสียหายตามที่ตกลงกันไว้ได้เพื่อให้มีการสืบพยานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประวิงคดี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุสมควร ไม่ชอบที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การ และคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี มิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป เมื่อจำเลยทั้งสองรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การและพิพากษาคดีไปตามคำให้การรับสารภาพจึงชอบแล้ว ในคดีส่วนแพ่งเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 341 และมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย จำนวน 2,060,000 บาท ซึ่งเป็นคำขอส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไป ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงเงินผู้เสียหายไปและผู้เสียหายยังไม่ได้รับเงินคืนจำนวน 2,060,000 บาท แม้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้เสียหายแถลงติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในส่วนแพ่งเป็นเงิน 400,000 บาท ก็เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองเจรจาตกลงกันเท่านั้น มิใช่ผู้เสียหายไม่ได้รับความเสียหายทางแพ่งตามฟ้อง และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็แถลงต่อศาลว่าผู้เสียหายยังติดใจให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ขอท้ายฟ้อง ดังนี้ โจทก์จึงไม่ต้องสืบพยานหลักฐานในคดีส่วนแพ่งอีก เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันเริ่มพิจารณาศาลชั้นต้นได้สอบจำเลยทั้งสองเรื่องทนายความแล้ว จำเลยทั้งสองแถลงว่าจะหาทนายความเอง ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2554 จำเลยทั้งสองแต่งตั้ง ต. เป็นทนายความ ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง แล้ว ส่วนในวันนัดพร้อมหรือนัดฟังคำพิพากษา ต. ขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยทั้งสอง และศาลชั้นต้นอนุญาตก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแถลงต่อศาลขอเลื่อนคดีเพื่อให้จำเลยทั้งสองแต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดี แต่จำเลยทั้งสองกลับเจรจาตกลงกับผู้เสียหายเพื่อขอชำระเงินแก่ผู้เสียหายและขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ติดใจที่จะให้ทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในวันดังกล่าว ทั้งต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยทั้งสองได้แต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณา ดังนี้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7439/2555
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ลงบันทึกรายการน้ำหนักชิ้นงานที่ตกแต่งเสร็จแล้วให้สูงกว่าน้ำหนักชิ้นงานที่แท้จริงโดยมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพื่อเอาผงเงินและเศษชิ้นงานของโจทก์ร่วมไป ถือว่าเป็นการร่วมกันวางแผนโดยมีเจตนาลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12338/2555
จำเลยทำทีเป็นเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ โดยพวกของจำเลยถามจำเลยว่าในกระเป๋ามีทองเต็มใช่หรือไม่ จำเลยเปิดกระเป๋าสตางค์ออกดู ผู้เสียหายมองเห็นทองรูปพรรณในกระเป๋า 3 ถึง 4 เส้น จำเลยพูดว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท แต่อย่าบอกผู้ใด และบอกให้ผู้เสียหายถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้ในห่อผ้าเช็ดหน้า แล้วผูกผ้าเช็ดหน้าให้ผู้เสียหายถือไว้และให้ยืนรอ โดยจำเลยจะนำเงินมาให้ ผู้เสียหายรออยู่ 1 ชั่วโมง จำเลยไม่กลับมา ผู้เสียหายแกะห่อผ้าเช็ดหน้าออกดู พบว่ามีเงินเหรียญบาท 32 เหรียญ ดังนี้จำเลยกับพวกมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก การที่จำเลยหลอกลวงว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท และให้ถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้ ล้วนเป็นการใช้กลอุบายเพื่อให้ได้ไปซึ่งสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องของผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะหลงเชื่อ แต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้มีเจตนาส่งมอบสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องให้แก่จำเลย สาเหตุที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้ เชื่อว่าเกิดจากการสับเปลี่ยนห่อผ้าเช็ดหน้า ซึ่งเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและลักทรัพย์ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยให้เป็นไปตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และ 225
ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145