คดีละเมิด - ทนายนิธิพล

Last updated: 27 ต.ค. 2564  |  28586 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีละเมิด - ทนายนิธิพล

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ

           

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5296/2540

               จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงบนถนนที่ลื่นเพราะผิวจราจรเปียกและมีเศษดินตกอยู่ทั่วไปแล้วแซงรถยนต์คันอื่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวนชนรถที่แล่นสวนทางมาเป็นการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเมื่อเป็นเหตุให้ผู้ขับและผู้ที่โดยสารอยู่ในรถที่แล่นสวนทางมาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับอันตรายสาหัส 4 คน และถึงแก่ความตายในวันเกิดเหตุ 4 คน โดยที่ผู้ได้รับอันตรายสาหัสรายโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นกะโหลกศีรษะแตกร้าวมีเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองและตับแตก จึงสมควรที่จะต้องลงโทษจำเลยในสถานหนัก ส่วนการที่จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแต่เพียงบางส่วนและช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ฝ่ายผู้เสียหายและโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 นั้น พอถือเป็นเหตุปรานีให้รับโทษสถานเบาได้ แต่ไม่อาจถือเป็นเหตุรอการลงโทษให้ได้เพราะไม่อาจชดเชยกับความสูญเสียและความเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่เกิดแก่บรรดาผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติพี่น้องของผู้ตายและผู้ได้รับบาดเจ็บได้ ทั้งเป็นเรื่องที่จำเลยต้องรับผิดในทางแพ่งอยู่แล้ว
 

              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7194/2539

             คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าเมื่อวันที่16พฤศจิกายน2537เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมาย(ก)จำเลยได้เสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท2เข้าสู่ร่างกายโดยวิธีรับประทานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย(ข)จำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกได้ปฎิบัติหน้าที่ผู้ประจำรถโดยเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกไปตามทางหลวงและถนนสาธารณะโดยขณะขับรถได้เสพเมทแอมเฟตามีนตามคำฟ้องข้อ(ก)เข้าสู่ร่างกายโดยวิธีรับประทานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนต่างเวลาและต่างจำนวนกันแต่กลับยอมรับว่าเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยเสพตามฟ้องข้อ(ก)กับที่จำเลยเสพขณะขับรถยนต์บรรทุกตามฟ้องข้อ(ข)เป็นจำนวนเดียวกันและเสพในครั้งหนึ่งคราวเดียวกันแม้การเสพเมทแอมเฟตามีนเพียงอย่างเดียวจะเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองแต่ความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกไปตามทางหลวงและทางสาธารณะโดยขณะขับรถได้เสพเมทแอมเฟตามีนก็เป็นกรรมเดียวที่เกิดจากการกระทำหลายอันเพราะต้องอาศัยองค์ประกอบความผิดคือการเสพเมทแอมเฟตามีนประกอบกับการขับรถไปตามทางหลวงหรือทางสาธารณะด้วยจึงจะเป็นความผิดดังนั้นการกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2538

                  ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของจำเลยที่1ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คำนวณเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องมีเพียง194,114.18บาทจึงไม่เกินสองแสนบาทห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งจำเลยที่1ฎีกาว่าเหตุพิพาทคดีนี้เกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่2แม้ศาลจะฟังว่ารถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถเก๋งก็เป็นเหตุสุดวิสัยฎีกาของจำเลยที่1ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่1ขับรถโดยประมาทมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทมาตราดังกล่าวข้างต้น ในคดีอาญาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่2ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522มาตรา43,46,157รัฐเป็นผู้เสียหายจำเลยที่1ไม่ใช่คู่ความหรือผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าวในการพิพากษาคดีนี้ศาลจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา880เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ารถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนแน่นอนเท่าใดศาลจึงกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา438การที่โจทก์ไปตกลงค่าเสียหายกับผู้เอาประกันภัยและจ่ายค่าเสียหายไปโดยไม่ปรากฏว่าค่าเสียหายมีเพียงใดโจทก์จะเรียกร้องเอาเงินที่โจทก์จ่ายไปดังกล่าวเต็มจำนวนหาได้ไม่

 

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2531

                 ข้อเท็จจริงในคด๊อาญาตามคำพิพากษาถึงที่สุดที่จำเลยที่ 2ถูกฟ้องในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถผู้อื่นเสียหายตาม พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43,157 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1ไปเฉี่ยวชนรถเก๋งของ ส. ได้รับความเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยมาฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ขับรถบรรทุกดังกล่าวโดยประมาทเฉี่ยวชนรถของ ส. เสียหายและโจทก์ได้ซ่อมแซมรถของ ส. ไปแล้ว จึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเช่นนี้ตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจาราณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติให้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น ย่อมใช้บังคับกับผู้ที่เป็นคู่ความในคดีอาญาเท่านั้นหรือในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ก็ใช้บังคับกับผู้ที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญานั้นด้วย แต่ข้อหาในคดีอาญาที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องดังกล่าวเป็นความผิดซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนหรือ ส. เจ้าของรถที่ถูกเฉี่ยวชนมิใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว จึงมิได้เป็นคู่ความในคดีนั้น หาก ส. ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ในมูลกรณีเดียวกันนี้ ก็ไม่ผูกพันที่จะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้อง ฉะนั้น โจทก์ซึ่งอ้างว่ารับช่วงสิทธิของ ส. ย่อมจะไม่ต้องผูกพันให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าวด้วย เป็นเรื่องที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งกันใหม่
                 โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน และเริ่มสืบพยานโจทก์ด้วยการส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น และเมื่อสืบพยานประเด็นโจทก์ได้ 2 ปาก โจทก์ขอเลื่อนคดีนัดนั้นและ 3 นัดต่อมา แล้วโจทก์ขอให้ส่งประเด็นคืนศาลเดิม ศาลเดิมนัดสืบพยานโจทก์แต่โจทก์ขอเลื่อนคดี 2 ครั้ง ครั้งแรกอ้างเหตุทนายความป่วย ครั้งที่สองอ้างเหตุผลว่าเอกสารที่ส่งมาไม่ใช่เอกสารที่ประสงค์ขออ้าง ครั้นถึงครั้งที่สาม ผู้รับมอบฉันทะโจทก์มาศาลยื่นคำร้องของโจทก์ขอเลื่อนคดีอ้างว่าโจทก์ถอนทนายคนเดิม และไม่สามารถตั้งทนายใหม่ได้ทัน ทนายจำเลยที่ 2 คัดค้าน ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตปรากฏว่าก่อนที่ศาลจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีในนัดที่สาม ศาลได้กำชับว่าในนัดหน้าหากไม่มีพยานมาศาลให้ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน และในวันที่ศาลนัดเป็นนัดที่สามโจทก์มีพยานบุคคลที่จะสืบอีก 2 ปาก เป็นพยานหมาย แต่โจทก์มิได้ขอให้ศาลหมายเรียพพยานดังกล่าว ทั้งมิได้ขอให้ศาลออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลภายนอกมาประกอบการสืบพยานบุคคลอีกด้วย ประกอบกับปรกกฏจากคำฟ้องและใบแต่งทนายความว่า ทนายความที่โจทก์อ้างว่าได้ถอนจากการเป็นทนายมีสำนักงานอยู่ที่ที่สำนักงานโจทก์ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการถอนทนายจริงพฤติการณ์โจทกืเป็นการไม่ใส่ใจในการดำเนินคดีและประวิงคดี ศาลชอบที่จะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี.
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3869/2531

               จำเลยขับรถยนต์โดยสารแซงรถยนต์บรรทุกของโจทก์และชนรถยนต์บรรทุกของโจทก์ในขณะที่รถยนต์บรรทุกของโจทก์กำลังเลี้ยวขวาแม้รถยนต์บรรทุกไม่ได้เลี้ยวตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด แต่การที่รถยนต์บรรทุกของโจทก์ขับชิดทางด้านซ้ายตลอดมาจนกระทั่งเกิดเหตุไม่ได้ขับชิดทางด้านขวาของเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนในขณะให้สัญญาณไฟเลี้ยวขวาเพื่อเป็นการเตรียมที่จะเลี้ยวขวา ดังนี้ รถยนต์บรรทุกของโจทก์มีส่วนประมาท ก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วยโจทก์จึงควรมีส่วนรับผิดในค่าเสียหายที่รถยนต์โดยสารก่อขึ้นหนึ่งในสาม

 

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10392/2553

                จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกไม้ยางให้แก่จำเลยที่ 2 หลังเลิกงานจำเลยที่ 2 ยินยอมให้ลูกจ้างนำรถไปเก็บไว้เอง เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษารถและนำรถกลับมาบรรทุกไม้ยางให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องไปส่งลูกจ้าง การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปในเวลากลางคืนในขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาหลังเลิกงานด้วยความยินยอมของจำเลยที่ 2 และเพื่อนำไปเก็บไว้ยังที่พักของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 เพื่อประโยชน์ของนายจ้างเองที่จะนำรถกลับมาใช้งานให้จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถชนผู้ตายและบุตรระหว่างขับรถกลับบ้าน ถือว่าเป็นการขับรถไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดกับจำเลยที่ 1

 

              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5967/2557


             คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2553 จะใช้ถ้อยคำว่า พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 แล้วมีคำพิพากษายกฟ้องก็ตาม ก็ถือเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริง อันเป็นประเด็นแห่งคดีไว้แน่นอนแล้วว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบ ให้ศาลเห็นโดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ ๑ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายสาหัส และแม้ ป.วิ.อ. มาตรา 47 จะบัญญัติว่า “คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าศาล จะรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาส่วนอาญา” ได้ในคดีส่วนแพ่งจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ ซ. และ ค. ถึงแก่ความตาย และเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง และเนื่องจากมูลหนี้ละเมิดตามฟ้องเป็น การชำระหนี้อ้นไม่อาจแบ่งแยกได้จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วย

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552

                  จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามจากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษาก็ตาม ก็มิใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำไม่ ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร ไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการ หลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน อาการแพ้ยาดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษา หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรแห่งวิชาชีพแพทย์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิด จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้
ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงาม ถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ซึ่งโจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ประกอบอาชีพด้วยหรือไม่

 

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9386/2559
                         

                 ชื่อสกุลที่ถูกต้องของลูกหนี้มีอยู่ในรายงานสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 7 ฟ้องคดีล้มละลาย จำเลยที่ 7 เป็นทนายความ ควรมีความรอบคอบและระมัดระวังในการขอคัดข้อมูลประวัติบุคคลจากทางราชการเพื่อนำไปเป็นหลักฐานการฟ้องคดีล้มละลายซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 7 ไปขอคัดชื่อสกุลของโจทก์ มิใช่ของลูกหนี้ แล้วใช้แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่ไปขอคัดมาฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 7 ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังตามสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ทนายความ นับเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ครั้นเมื่อจำเลยที่ 7 รู้ในภายหลังว่าฟ้องลูกหนี้ผิดเป็นฟ้องโจทก์ แทนที่จำเลยที่ 7 จะถอนคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เพื่อลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้อง อันจะทำให้คำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เสร็จสิ้นไป แต่จำเลยที่ 7 กลับใช้วิธีแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้ไขชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ ซึ่งไม่อาจทำได้ และผลก็ไม่เหมือนกับการถอนคำฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 7 ในส่วนนี้นับว่าเป็นการทำโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การกระทำของจำเลยที่ 7 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 จะกล่าวอ้างว่าเป็นความผิดของทางศาลด้วย เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดหาได้ไม่

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12849/2558

                  จำเลยที่ 2 เจ้าของอาคารศูนย์การค้า ซ. จัดลานจอดรถเพื่อให้บริการแก่ร้านค้าที่มาเช่าพื้นที่และลูกค้าของร้านค้าเพื่อจอดรถยนต์ขณะเข้าไปใช้บริการยังร้านค้าที่เช่าพื้นที่ในอาคารศูนย์การค้าและมอบให้บริษัท น. เป็นผู้จัดการให้บริการด้านสาธารณูปโภคทั้งหมดรวมทั้งการรักษาความปลอดภัยภายในอาคารและนอกอาคารโดยมีการแบ่งผลประโยชน์จากการจัดเก็บรายได้จากร้านค้าที่เช่าพื้นที่และรับบริการ จำเลยที่ 2 กับบริษัท น. เป็นบริษัทในเครือเดียวกันและมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้อาคารศูนย์การค้า ซ. ร่วมกัน โดยจำเลยที่ 2 จัดเก็บค่าเช่าพื้นที่อาคาร ส่วนบริษัท น. จัดเก็บค่าบริการด้านสาธารณูปโภค การที่บริษัท น. เข้าทำสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยกับจำเลยที่ 1 เพื่อให้จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลรักษาความปลอดภัยที่อาคารศูนย์การค้าจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่อาคารศูนย์การค้า จำเลยที่ 2 เจ้าของอาคารศูนย์การค้าจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยอาคารศูนย์การค้าย่อมแสดงให้ผู้มาใช้บริการที่อาคารศูนย์การค้าเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า พฤติการณ์ของบริษัท น. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบการค้าร่วมกัน ย่อมถือได้ว่าบริษัท น. กับจำเลยที่ 2 เป็นตัวการด้วยกันในการทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 รักษาความปลอดภัยอาคารศูนย์การค้า เมื่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายเพราะความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย

 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9489/2558
                   โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อขับรถบรรทุกชนท้ายรถโดยสาร ทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ข้อ ก. เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ต้องนำรถโดยสารไปซ่อมเป็นจำนวนเงินตามบัญชีใบประเมินราคาการซ่อม ค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ฟ้องมาตามฟ้องข้อ ก. โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นค่าซ่อมรถโดยตรง เพียงแต่โจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้โดยอิงกับใบประเมินราคา ซึ่งหากมีการซ่อมรถก็มีรายการและราคาตามใบประเมินราคานี้ ดังนั้น แม้รถโดยสารจะถูกผู้ให้เช่าซื้อขายไปในลักษณะขายซากรถโดยไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ หรือโจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่า ผู้ให้เช่าซื้อขายซากรถไปโดยที่ยังไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถโดยตรง แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยกระทำละเมิดทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย โจทก์ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องข้อ ก. ได้

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893/2558

                  แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นสื่อมวลชน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ๆ แต่ก็หาอาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น การที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เคยนำเสนอภาพและข่าวไปก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าชายหญิงในภาพเป็นใครมาเผยแพร่ซ้ำโดยระบุในเนื้อข่าวว่า ชายในภาพที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักคือโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต้องแจ้งชื่อ ลักษณะแห่งความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ต่อพนักงานสอบสวนเป็นหน้าที่ที่ผู้เสียหายต้องกระทำในการร้องทุกข์กล่าวโทษ จะถือว่าโจทก์ยินยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชนหาได้ไม่ แม้โจทก์จะเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ย่อมมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว มิใช่ว่าเมื่อเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะแล้วจะทำให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่มิใช่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงตาม มาตรา 423 โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของตนโดยประการอื่นตามมาตรา 423 ได้ โดยจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น และแม้จะมีบุคคลอื่นกระทำละเมิดด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้กระทำละเมิดรายนั้น ๆ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลปรับลดค่าเสียหายที่ตนต้องรับผิดลง


                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4097/2558
                   การที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ลงมติออกเสียงในที่ประชุมลำพัง ซึ่งไม่ถูกต้องตรงตามกับความจริง เท่ากับโจทก์โต้แย้งว่ามติของที่ประชุมไม่ชอบ โจทก์ในฐานะสมาชิกของสมาคมย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ในคราวนั้นได้ ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ ตาม ป.พ.พ. มาตรา100 เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวเกินหนึ่งเดือน มติที่ประชุมใหญ่จึงมีผลใช้บังคับหาเสียไปไม่ และการที่จำเลยทั้งห้าร่วมประชุมและลงมติในการประชุมดังกล่าวจึงมิได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2551
                   ตาข่ายป้องกันลูกกอล์ฟออกนอกรั้วสนามฝึกซ้อมกอล์ฟส่วนที่จำเลยต่อเติมเป็นไนล่อนซึ่งมีลักษณะเบา สายลมสามารถพัดผ่านทะลุได้ การที่จำเลยต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต กับการที่การต่อเติมมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าการต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาตแต่แข็งแรงก็ไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ หรือการต่อเติมได้รับอนุญาตแต่การกระทำไม่แข็งแรงก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ มิใช่ว่าหากต่อเติมแล้วมิได้มี การขออนุญาตต่อทางราชการแล้ว จะเป็นการกระทำละเมิดไปทั้งหมด


                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2551
                  โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมของธนาคาร ท. ให้แก่ ส. หรือผู้ถือ แม้เป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือ แต่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นคือผู้รับเงินตามเช็ค มิใช่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค โจทก์ทั้งสองก็มิได้เป็นผู้ทรงเช็ค จึงมิใช่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1000 ที่จะมีอำนาจฟ้องธนาคารจำเลยให้รับผิดชดใช้เงินตามเช็ค ทั้งการที่จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคาร ท. ไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงิน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในอันที่จะทำให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายได้

 

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2548
             

                โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องบังคับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานกระทำละเมิด โดยโจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออ้างว่าจำเลยมีหน้าที่จัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ในการดำเนินคดี รวบรวมพยานหลักฐาน เร่งรัด ติดตามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และมีหน้าที่ประสานกับพนักงานอัยการในการส่งเอกสารเพิ่มเติมแล้วนำพยานที่เกี่ยวข้องไปสอบข้อเท็จจริงและรับรองเอกสาร จำเลยกลับปล่อยปละละเลยโดยไม่รับดำเนินการจัดหา เร่งรัด และติดตามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ส่งไปให้พนักงานรับการดำเนินคดีแก่ผู้รับประเมิน จนเป็นเหตุให้คดีขาดอายุความทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวพอแปลได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว 

 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2544

                   โจทก์ผู้รับตราส่งฟ้องจำเลยผู้ขนส่งให้รับผิด เนื่องจากจำเลยมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534และสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องนำสินค้าที่รับขนไปส่งมอบให้แก่โจทก์และรับเวนคืนใบตราส่ง แต่จำเลยไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ กลับส่งมอบให้ผู้ซื้อโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่ง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขนของทางทะเล แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะกล่าวอ้างมูลละเมิดมาด้วย แต่เมื่อจำเลยผิดสัญญารับขนของทางทะเลและโจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายอันเกิดจากมูลผิดสัญญาได้ จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับ

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12725/2555

                  ความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เป็นความรับผิดของตนเองที่เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ส่วนความรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง เป็นความรับผิดของผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลในความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เช่นนี้ ความรับผิดตามมาตรา 420 มิใช่เป็นความรับผิดอันเกิดจากข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ส่วนความรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง เป็นความรับผิดอันเกิดจากข้อสันนิษฐานของกฎหมายโดยไม่ต้องพิจารณาว่า ผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะนั้นได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ ความรับผิดตามมาตราทั้งสองดังกล่าวจึงอาศัยหลักเกณฑ์ต่างกันไป
                  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มอบหมายให้ ถ. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับควบคุมรถยนต์ลากจูง และรถกึ่งพ่วงของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าที่สนามบินภูเก็ต แล้ว ถ. ขับควบคุมรถด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับ ถ. มิได้พักผ่อนให้เพียงพอ เกิดอาการง่วงหรือหลับใน ทำให้ไม่สามารถควบคุมและห้ามล้อรถได้ เป็นเหตุให้รถพลิกคว่ำลงข้างถนน ทำให้เครื่องรีดแผ่นเหล็กหลังคาและอุปกรณ์เสียหาย แม้คำฟ้องของโจทก์จะอ้างว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วง แต่ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า ควบคุมด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง คำบรรยายฟ้องเช่นนี้จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่เป็นหลักของข้อหาว่า ถ. กระทำละเมิดตามมาตรา 420 ให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 425 หาได้บรรยายฟ้องหรือตั้งประเด็นว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงในขณะเกิดเหตุเป็นเหตุให้รถดังกล่าวพลิกคว่ำลงข้างทางทำให้เครื่องรีดแผ่นเหล็กและอุปกรณ์ที่อยู่บนรถนั้นเสียหายจึงต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น อันเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้ ถ. ต้องรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในฐานะนายจ้างอีกประการหนึ่งไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ถ. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงด้วยความประมาทเลินเล่อตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์กลับอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2519

                  จำเลยเป็นบิดามารดาของผู้เยาว์ เป็นผู้มีฐานะดีมีรถใช้ในกิจการ 4 คัน ได้ยินยอมให้ผู้เยาว์ซึ่งมีอายุ 19 ปี 6 เดือน ขับรถไปใช้ได้ และได้ความว่าผู้เยาว์เป็นคนสายตาสั้น ดังนี้ จำเลยย่อมรู้ดีว่าการขับรถของผู้เยาว์ย่อมเกิดอันตรายได้โดยง่าย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่บิดามารดา ที่จะพึงดูแลบุตร เมื่อผู้เยาว์ขับรถของจำเลยไปทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยต้องรับผิดในผลที่ผู้เยาว์กระทำละเมิดด้วย แม้ในระหว่างสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถที่เช่าซื้อมา แต่ผู้เช่าซื้อก็ชอบที่จะใช้ประโยชน์ของรถ และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อมีผู้ละเมิดทำให้รถที่เช่าซื้อเสียหาย ผู้เช่าซื้อจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ละเมิดได้ และเมื่อผู้เช่าซื้อตาย สิทธิดังกล่าวก็ตกทอดมายังทายาทที่จะฟ้องเรียกร้องได้
 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2551

                  จำเลยที่ 1 เคยถูกพนักงานอัยการประจำศาลแขวงเป็นโจทก์ฟ้องในความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของรถยนต์คันที่ถูกจำเลยขับมาชน จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีของศาลแขวง เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาของศาลแขวง ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาของศาลแขวง จึงไม่ผูกพันโจทก์
เหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าลูกปืนล้อรถพ่วงด้านขวาแตกเป็นเหตุให้ล้อรถพ่วงหลุด รถยนต์บรรทุกจึงเสียการทรงตัวและชนถูกรถยนต์คันที่เอาประกันภัยกับโจทก์ไว้นั้น กรณียังไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะผู้ใช้งานรถต้องตรวจตราอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถซึ่งย่อมมีทั้งอุปกรณ์ที่อยู่ภายนอกและภายใน อุปกรณ์บางชิ้นตรวจสอบได้ด้วยสายตา บางชิ้นเสื่อมสลายไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ต้องตรวจตราจากผู้ใช้งานทั้งสิ้นไม่ว่าจะตรวจสอบเองในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือโดยผู้อื่นที่มีหน้าที่ก็ตาม จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าลูกปืนล้อรถเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายใน ไม่ใช่หน้าที่ตรวจสอบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงผู้ขับเท่านั้นไม่ได้

 

 

 

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้