Last updated: 27 ต.ค. 2564 | 46979 จำนวนผู้เข้าชม |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11858/2557
ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า การกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก คือการร่วมกับจ่าสิบตำรวจ อ. จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2555 ของศาลชั้นต้น นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. โดยระบุว่า เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาในชั้นพิจารณากลับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว. พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า การจำนำรถยนต์อันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดของจำเลยเกิดขึ้นที่เขตเพชรเกษม อันเป็นท้องที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ดังนี้ พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่อื่นนอกจากนี้ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนได้ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และถูกจับกุมดำเนินคดีนี้โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล หนองค้างพลู เช่นนี้ แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจะเป็นผู้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ทั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีเขตรับผิดชอบในท้องที่ซึ่งบริษัทผู้เสียหายตั้งอยู่ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยทำการสอบสวนจำเลย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ. ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่ ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 190/2532
ทนายความที่ตัวความแต่งตั้งย่อมมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนตัวความได้ แต่ทนายความไม่มีอำนาจรับเงินซึ่งจะชำระแก่ตัวความเว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากตัวความนั้น โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยเป็นทนายความฟ้อง ส. ต่อศาลในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ต่อมาจำเลยในฐานะทนายความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับตัวแทนของ ส.โดย ส.ยอมใช้เงินจำนวน58,000บาทให้แก่โจทก์หากส.นำเงินที่จะต้องชำระแก่โจทก์ไปชำระแก่จำเลย โดยโจทก์มิได้มอบหมายให้จำเลยมีอำนาจรับไว้ได้ เงินที่จำเลยรับไว้จึงยังมิใช่เป็นเงินของโจทก์ แม้จำเลยจะเบียดบังเอาเงินที่ได้รับไว้นั้นเป็นของตนโดยทุจริต ก็ยังไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2440/2523
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงโดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันหลอกลวงเอาโฉนดที่ดินของโจทก์ไปตั้งแต่ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2494 ดังนี้ความผิดฐานฉ้อโกงโฉนดสำเร็จตั้งแต่จำเลยได้โฉนดจากโจทก์ไป แม้โจทก์จะได้บรรยายฟ้องต่อไปด้วยว่า เมื่อจำเลยได้โฉนดไปแล้วได้ร่วมกันให้จำเลยที่ 2 โอนรับมรดกและต่อมาจึงโอนใส่ชื่อของจำเลยที่ 1 ก็เห็นได้ว่าเป็นการบรรยายให้เห็นพฤติการณ์ไม่สุจริตของจำเลยเท่านั้น มิใช่ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดอีกกระทงหนึ่ง หรือเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกับความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวข้างต้น ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี อายุความสำหรับความผิดตามมาตรานี้จึงมีเพียง 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2522 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราดังกล่าว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(6)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 771/2507
การที่พนักงานตำรวจจดรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันไว้ว่า"โจทก์ได้มาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้จับกุมจำเลยหาว่าบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ คดีเรื่องนี้ผู้แจ้งจะฟ้องร้องด้วยตนเอง จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน" นั้น เห็นได้ว่า โจทก์ได้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดและแจ้งเพื่อจะให้จำเลยได้รับโทษ โดยโจทก์จะฟ้องร้องเอาความผิดแก่จำเลยเสียเอง จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 245/2495
ความผิดฐานสมคบกันกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น ผู้กระทำผิดทุกคนหาจำเป็นจะต้องได้รับมอบหมายทรัพย์ที่ยักยอกโดยตนเองทุกๆ คนเสมอไปไม่ เมื่อได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ที่ได้รับมอบหมายทรัพย์มาก็อาจเป็นความผิดฐานสมคบกันยักยอกทรัพย์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4181/2542
จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหายมีหน้าที่จำหน่ายสินค้า ให้แก่ลูกค้าแล้วนำเงินมามอบให้ผู้เสียหาย จำเลยรับสินค้าไปจากผู้เสียหายแล้ว มิได้นำไปจำหน่ายแก่ลูกค้า แต่นำไปจำนำ และขายฝาก เป็นการเบียดบังทรัพย์สินของผู้อื่นที่อยู่ในความครอบครอง ของจำเลยโดยทุจริต ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะเป็นลูกจ้าง ผู้เสียหายหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยครอบครองทรัพย์ ของผู้เสียหายแล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต จำเลยย่อม มีความผิดฐานยักยอกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรกฎีกาของจำเลยที่ว่า พนักงานของผู้เสียหายไม่มีเงินเดือน แต่จะได้รับรายได้จากค่าคอมมิชชั่นของการขายและเปอร์เซ็นต์ จากการขายเป็นรายเดือน จำเลยจึงไม่ใช่ลูกจ้างผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น จึงไม่เป็นสาระสำคัญ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560
โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2560
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นสมาชิกและทำสัญญาฝากเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ได้รับความเสียหายจากการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ละเลยต่อหน้าที่ในการกำกับดูแลสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เป็นเหตุให้มีการทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์ทำให้สหกรณ์มียอดขาดทุน และเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจได้คืนเงินฝากจากสหกรณ์ โดยมีคำขอให้ชดใช้เงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการกำกับดูแลสหกรณ์จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์บริหารงานไม่เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของสหกรณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 68/2560
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นสมาชิกและทำสัญญาฝากเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ได้รับความเสียหายจากการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ละเลยต่อหน้าที่ในการกำกับดูแลสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เป็นเหตุให้มีการทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์ทำให้สหกรณ์มียอดขาดทุน และเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจได้คืนเงินฝากจากสหกรณ์ โดยมีคำขอให้ชดใช้เงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ต้องปฏิบัติในการกำกับดูแลสหกรณ์จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์บริหารงานไม่เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของสหกรณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118/2560
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นสมาชิกและทำสัญญาฝากเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ได้รับความเสียหายจากการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ละเลยต่อหน้าที่ในการกำกับดูแลสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เป็นเหตุให้มีการทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์ทำให้สหกรณ์มียอดขาดทุน และเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจได้คืนเงินฝากจากสหกรณ์ โดยมีคำขอให้ชดใช้เงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ต้องปฏิบัติในการกำกับดูแลสหกรณ์จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์บริหารงานไม่เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของสหกรณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3462/2560
การที่จำเลยจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและบุคลากรของมหาวิทยาลัย อ. รวมทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยบางส่วน ในฐานะเป็นอธิการบดีซึ่งทำการแทนมหาวิทยาลัย อ. มิได้กระทำเป็นส่วนตัว เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. ที่ทำให้มหาวิทยาลัย อ. จำต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดทางวินัย รวมถึงสาเหตุของการเผยแพร่ใบปลิวและความวุ่นวายที่เกิดจากการชุมนุมปราศรัยของโจทก์กับพวก เพื่อให้ทราบความจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย อ. และปกป้องประโยชน์ของทางราชการย่อมถือเป็นการให้ข่าวสารข้อมูลของทางราชการเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2529 ให้อำนาจจำเลยไว้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งในมูลละเมิดแก่โจทก์ได้ เพราะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2559
จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นการทำกรมธรรม์ที่มีลักษณะที่เหมือนกับการฝากเงินกับธนาคารสามารถที่จะถอนเงินได้แต่มีสิทธิพิเศษคุ้มครองโดยการประกันชีวิต และให้ ส. ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิตแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 การฉ้อฉลดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดในเนื้อหาหรือลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยไปจากโจทก์จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้โจทก์อันเนื่องมาจากเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559
ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6811/2559
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพียงแต่โจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นเท่านั้น ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 จะต้องได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ถูกผู้อื่นยักยอกทรัพย์ได้และสิทธิดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 352 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง จึงไม่อาจถูกยักยอกได้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์เองโจทก์มิเคยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการโดยพลการ เงินที่ได้มาจึงมิใช่เงินที่จำเลยที่ 5 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์มีแต่สิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9315/2559
คำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้องเป็นการเสนอคดีฝ่ายเดียว ผู้ร้องจะยื่นคำคัดค้านหรือไม่ก็ได้ และคำคัดค้านของผู้ร้องไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 177 ที่จะต้องยื่นภายในสิบห้าวันและแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดให้ผู้ร้องทำการคัดค้าน ทั้งการที่ผู้ร้องและทนายความของผู้ร้องมาศาลทุกนัด ยื่นบัญชีระบุพยาน ถามค้านผู้คัดค้านที่เบิกความในการไต่สวน และศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องนำพยานเข้าเบิกความและอ้างส่งพยานหลักฐานในการไต่สวนด้วยนั้น แสดงให้เห็นโดยปริยายว่าผู้ร้องมีเจตนาคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แม้ผู้ร้องจะมิได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แต่ก็เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทที่ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (2) จึงสมควรที่ศาลชั้นต้นจะฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบการพิจารณาวินิจฉัยข้ออ้างของผู้คัดค้านด้วย กรณีมีเหตุสมควรที่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2559
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอให้ลงโทษในความผิดฐานยักยอก ชั้นไต่ส่วนมูลฟ้องศาลชั้นต้นให้ประทับรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง และยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 3 สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นการหลอกหลวงโจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อข้อหายักยอกตามฟ้องและข้อหาฉ้อโกงที่โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองข้อหามีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง, 193 วรรคหนึ่ง และมาตรา 193 ทวิ ซึ่งนำมาปรับใช้กับคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้เช่นเดียวกับในชั้นพิจารณา คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงชอบแล้ว
ส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า แม้ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องแตกต่างจากฟ้องก็มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลมีอำนาจใช้ ป.วิ.อ. 192 ได้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานฉ้อโกง คดีจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่าคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่หากคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12622/2558
ผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยความซื่อสัตย์ของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างไว้จากโจทก์ผู้เป็นนายจ้างระหว่างปฏิบัติงานจำเลยที่ 1 รับชำระหนี้จากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์และไม่ส่งเงินทดรองคืนโจทก์ เข้าเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ผู้ร้องจึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ผู้ร้องสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์เรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนที่ใช้ไปจากจำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์) ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่งและมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยผู้รับประกันภัยเป็นโจทก์ฟ้องในนามของผู้รับประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่การรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการบังคับคดี
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 การบังคับคดีเป็นสิทธิของคู่ความฝ่ายชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิให้ผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีของผู้เอาประกันภัยได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาเอาแก่จำเลยทั้งสองไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10157/2558
จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับเงิน ออกใบเสร็จรับเงิน ลงรายการรับเงิน เลขที่ใบเสร็จและจำนวนเงินในสมุดควบคุมเงิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าเช่าซื้อของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าสำนัก จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นพนักงานจัดการทรัพย์สิน จำเลยที่ 5 เป็นหัวหน้าสำนักงานภายหลังจำเลยที่ 2 คำฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์จ้างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้ทำงานและมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดเก็บเงินรวมถึงทรัพย์สินของโจทก์แต่กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีความบกพร่องและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์อันเป็นสภาพการจ้างตามสัญญาจ้าง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในเรื่องผิดสัญญาจ้างไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2542 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2550 ฟ้องโจทก์ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบโดยไม่ได้มอบหมายให้มีพนักงานทะเบียนและพนักงานรับเงินเป็นคนละคนกันเนื่องมาจากว่าหากคนใดไม่มาทำงานจะไม่สามารถรับเงินจากลูกค้าได้ และต้องตรวจดูทะเบียนลูกหนี้รายตัวประกอบใบเสร็จรับเงินจึงจะทราบว่าการลงทะเบียนใบเสร็จรับเงินเป็นเท็จ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีหน้าที่ดูแลงานด้านอื่นด้วย ไม่มีหน้าที่ควบคุมการรับเงินอย่างเดียวโดยตรง กองคลังของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบโดยตรงก็ยังตรวจสอบไม่พบถึงความผิดปกตินั้น การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบได้อย่างเคร่งครัดจึงเป็นเพียงการการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อธรรมดา โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดเฉพาะกรณีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น มิได้ให้รับผิดกรณีประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14802/2558
โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์ได้ให้เช่าซื้อทองรูปพรรณแก่จำเลยแล้ว กรรมสิทธิ์ในทองรูปพรรณดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ ส่วนจำเลยคงมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์เท่านั้น การที่จำเลยนำทองรูปพรรณไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต ถือได้ว่าจำเลยเบียดบังทองรูปพรรณของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตแล้ว แม้ จ. เบิกความว่า จำเลยตกลงจะเอาทองรูปพรรณของโจทก์มาคืนหรือจะนำเงินมาชดใช้ค่าเสียหายก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากความผิดยักยอกได้เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการบรรเทาผลร้ายให้ได้รับการลงโทษทางอาญาน้อยลงเท่านั้น หาใช่เป็นการตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแล้วผิดสัญญากันไม่ ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา แต่โต้เถียงว่าการที่จำเลยนำทองรูปพรรณที่เช่าซื้อจากโจทก์ไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว มิใช่เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8865/2558
การที่ ร. ได้รถยนต์พิพาทมาด้วยการกระทำความผิดฐานยักยอกซึ่งคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว ร. จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตแต่เป็นการซื้อจาก ร. ผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่า ร. คือไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12811/2558
กรณีจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาแย่งการครอบครองทรัพย์นั้นโดยทุจริตตั้งแต่ที่เข้าแย่งการครอบครอง แต่ขณะที่จำเลยยืมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจากผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาจะเอาไปในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ตั้งแต่แรก จำเลยยังคงพักอยู่ที่โรงแรมตรงข้ามอู่ซ่อมรถของผู้เสียหาย เหตุที่จำเลยหลบหนีออกจากโรงแรมโดยนำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปด้วย เพราะไม่ต้องการชำระค่าซ่อมรถที่จำเลยค้างชำระผู้เสียหาย จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองเป็นของจำเลยโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอก
ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145