Last updated: 27 ต.ค. 2564 | 117900 จำนวนผู้เข้าชม |
ความผิดฐานลักทรัพย์
มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
มาตรา 334 ผู้ใดลักทรัพย์
(1) ในเวลากลางคืน
(2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ
(3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่ง เช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ
(4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
(5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
(6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
(7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้น ๆ
(9) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ
(10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
(11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
(12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ก็ได้
องค์ประกอบความผิด
1.ผู้ใด
2. เอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นรวมอยู่ด้วยไป คือการเอาทรัพย์นั้นไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยตัดกรรรมสิทธิ์ มีการพาทรัพย์นั้นไปทำให้ทรัพย์เคลื่อนที่ไป
3. โดยทุจริต
คำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2502
จำเลยเก็บกระเป๋าใส่เงินของเจ้าทรัพย์ซึ่งเหน็บไว้ที่เอวแล้วเลื่อนหลุดไปจากเอวในขณะนั่งดูภาพยนต์อยู่ใกล้เคียงกันในโรงภาพยนต์นั้นถือว่าทรัพย์นั้นยังอยู่ในความยึดถือของเจ้าทรัพย์ ไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่อยู่ในสภาพของตกของหายเมื่อจำเลยเอาไปเสีย ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2966/2539
ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรกนั้น ขึ้นอยู่กับตัวทรัพย์ที่ลักว่าเป็นของนายจ้างหรืออยู่ในความครอบครองของนายจ้างหรือไม่ หาได้จำกัดว่าต้องเป็นการลักทรัพย์ที่นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างครอบครองดูแลรับผิดชอบเท่านั้นดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างจะไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์ของกลางที่จำเลยลักไปรวมทั้งทรัพย์สินใด ๆ ในคลังสินค้าของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะถือว่าผู้ใดกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะซึ่งจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวินั้น จะต้องดูที่เจตนาของผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญว่าต้องการใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมหรือไม่ ส่วนยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้นจะเป็นของผู้ใดหาใช่ข้อสำคัญไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายมีหน้าที่ขับรถลักเอาน้ำมันพืช 24 ขวด และปลากระป๋อง 100 กระป๋อง จากคลังสินค้าของผู้เสียหายไปแล้วนำไปวางไว้บนรถยนต์กระบะของผู้เสียหายขับออกไปจากที่เกิดเหตุ เช่นนี้ย่อมเห็นเจตนาของจำเลยได้ชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาใช้รถยนต์กระบะคันดังกล่าวเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายขณะที่บรรทุกอยู่บนรถซึ่งจำเลยมีหน้าที่ขับบรรทุกขนส่งแต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ.มาตรา 336 ทวิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2503
ทรัพย์สินหายเป็นเรื่องที่ทรัพย์หลุดพ้น ไปจากความยึดถือของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยมิได้ตั้งใจ ไม่ใช่เรื่องสละการครอบครอง ผู้ใดเก็บเอาทรัพย์นั้นไป จะเป็นลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สินหาย ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นราย ๆ ไป คือ ถ้าเก็บเอาไปโดยรู้หรือควรรู้ว่าทรัพย์นั้นเจ้าของกำลังติดตามหรือจะติดตามเพื่อเอาคืนเป็นลักทรัพย์ ถ้าไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้เป็นยักยอก ทรัพย์สินหาย รถทหารคว่ำทำให้ปืนทหารตกน้ำ 1 กระบอก ทหารงมหา 2 ครั้งไม่พบ จึงไปแจ้งความที่อำเภอ ต่อมาค่ำวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยไปจมเอาปืนนั้นมาขายเสียแสดงว่าจำเลยรู้หรือควรรู้ว่ารถทหารคว่ำปืนจมน้ำอยู่ แล้วถือโอกาสตอนปลอดผู้คนไปงมเอาปืนที่อยู่ในระหว่างเจ้าของกำลังติดตามเพื่อเอาคืน จึงผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2543
จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งระหว่างทางมีการบังคับให้ผู้เสียหายเข้าไปในกระท่อมแต่ผู้เสียหายไม่ยอม จำเลยที่ 2 เอามือรัดคอผู้เสียหายและดึงเอากุญแจมาส่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่ เมื่อมีคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้ามาช่วย จำเลยทั้งสองก็เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายขับหลบหนีไป ก่อนจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปมีจำเลยคนหนึ่งพูดว่าให้ผู้เสียหายไปเอารถจักรยานยนต์คืนที่โรงเรียนวัด บ. แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเพียงต้องการนำรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายขับไปใช้ชั่วคราวโดยตั้งใจจะคืนให้ภายหลัง มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ตลอดไป จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2530
จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของกรมชลประทาน ได้รับคำสั่งให้ไปควบคุมเครื่องดันน้ำโดยกรมชลประทานส่งน้ำมันที่ใช้กับเครื่องดันน้ำให้ และมีเจ้าหน้าที่ไปควบคุมดูแลการปฏิบัติงานและตรวจสอบการใช้น้ำมันทุกวันน้ำมันดังกล่าวยังอยู่ในความครอบครองของกรมชลประทาน เมื่อจำเลยทั้งสองเอาน้ำมันไปขายจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ (ประชุมใหญ่ครั้งที่4/2530)จำเลยร่วมกันลักน้ำมันไปขาย 3 ครั้งเป็นความผิด 3 กรรมศาลอุทธรณ์ลงโทษเพียงกระทงเดียว แม้โจทก์จะไม่ฎีกาและจำเลยที่ 1 คนเดียวฎีกาศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเฉพาะการปรับบทและกระทงลงโทษให้ถูกต้อง ตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1626/2500
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฆ่าผู้ตายเพื่อเอาทรัพย์ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 250 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยฆ่าผู้ตายจนถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยจึงเกิดโลภเจตนาเอาทรัพย์ของผู้ตายในภายหลัง เช่นนี้ ถือว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความในการพิจารณาไม่แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวในฟ้อง ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 288 ได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2501)
โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องลักทรัพย์และขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 15,400 บาท เจ้าพนักงานจับจำเลยและได้เงิน 900 บาทเป็นของกลาง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยเอาเงินสดจากเจ้าทรัพย์ไป 500 บาท จึงควรหักเงินสดของกลางคืนให้เจ้าทรัพย์ 500 บาทเท่าที่ได้ความว่าจำเลยเอาไป เหลือนอกนั้นคืนให้จำเลย ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของโจทก์ที่จะดำเนินการบังคับคดีต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 611/2530
จำเลยขับรถยนต์เข้าไปสั่งให้เติมน้ำมันรถยนต์ที่ปั๊มน้ำมันของผู้เสียหาย เมื่อคนเติมน้ำมันเติมน้ำมันเกือบจะเต็มถังจำเลยพูดว่าไม่มีเงินเดี๋ยวจะเอามาให้ คนเติมน้ำมันบอกว่าต้องไปบอกผู้เสียหายก่อน แต่จำเลยได้ขับรถออกไปทันที ขณะเติมน้ำมันจำเลยไม่ได้ดับเครื่องยนต์รถและฝาปิดถังน้ำมันก็ไม่มีโดยใช้ผ้าอุดไว้แทนแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้วางแผนการไว้เพื่อจะไม่ชำระเงินค่าน้ำมันเมื่อได้น้ำมันมาแล้ว โดยจะรีบหนีไปอันเป็นอุบายอย่างหนึ่งในการที่จะทำให้ลักทรัพย์สำเร็จ พฤิตการณ์แสดงว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่ต้นที่จะลักเอาน้ำมันของผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3245/2545
จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่เบื้องต้น ส่วนการหลอกลวงว่าจะรับซื้อที่ดินจำนวนมากก็ดี หรือการหลอกลวงว่าจะพาไปซื้อรถยนต์ราคาถูกก็ดี ล้วนเป็นการสร้างกลอุบายเพื่อให้บรรลุผลเอาเงินสดของผู้เสียหายไปโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2530
จำเลยกับพวกนำรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปขอรับจ้างบรรทุกถั่วเขียวของผู้เสียหายเพื่อส่งให้แก่ลูกค้าของผู้เสียหาย แล้วเอาถั่วเขียวดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนกับพวก ดังนี้ เป็นการใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์โดยมีเจตนาทุจริตมาแต่แรกจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2510
เงินที่ได้จากการขายข้าวซึ่งโจทก์ร่วมและบิดาทำร่วมกันเมื่อได้ความว่ายังไม่ได้แบ่งเงินรายนี้ระหว่างคนทั้งสองจึงต้องถือว่าทั้งบิดาและโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเงินรายนี้ร่วมกันอยู่ดังนี้ จึงต้องถือว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย ย่อมมีสิทธิที่จะร้องทุกข์ได้ตามกฎหมาย คดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้เรียกเอาเงินและทองมาใส่ถุงย่ามเพื่อเป็นสิริมงคลในการที่จำเลยจะทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ของโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมจึงได้ห่อธนบัตรจำนวนเงิน 2,006 บาท กับเอาสร้อยคอทองคำทองหนักหนึ่งบาทหนึ่งเส้นบรรจุใส่ในกล่องพลาสติกส่งให้จำเลยจำเลยเอาห่อเงินและกล่องบรรจุสายสร้อยดังกล่าวใส่ลงไปในถุงย่ามแล้วลงเรือนไป มีนายประสิทธิและโจทก์ร่วมเดินตามหลังระหว่างเดินกันไปทางบ้านใหม่ของโจทก์ร่วมเพื่อจะทำพิธี จำเลยล้วงเอาห่อธนบัตรนั้นไปเสีย จึงเห็นได้ว่าเป็นการลักทรัพย์เพราะโจทก์ร่วมเจ้าของทรัพย์ยังมิได้สละการครอบครองให้จำเลยเขาเพียงแต่ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นการชั่วคราว ดังนี้ การที่จำเลยเอาห่อธนบัตรนั้นไป ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2512
ผู้เสียหายทำปากกาของตนตกอยู่ในบริเวณร้านขายกาแฟที่ผู้เสียหายขายของอยู่ผู้เสียหายได้ออกไปขายขนมที่อื่นห่างเพียงประมาณ 1 เส้น เป็นเวลาไม่เกิน 5นาที ก็รู้ว่าปากกาหายจึงรีบกลับไปค้นและสอบถาม ได้ความจาก ป. ว่าเป็นผู้เก็บปากกานั้นได้และถามหาเจ้าของ จำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของ ป. จึงมอบปากกาให้จำเลยไปผู้เสียหายไปถามจำเลย จำเลยปฏิเสธดังนี้ ถือว่าทรัพย์ยังอยู่ในความยึดถือของผู้เสียหาย ไม่ใช่ทรัพย์ตกหายการที่มีผู้อื่นเก็บได้มิใช่จะทำให้ความยึดถือของผู้เสียหายขาดตอนไป จำเลยเอาไปจากผู้อื่น โดยรู้อยู่ว่าไม่ใช่ของตนจึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ต้องด้วยความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2553
จำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้น การที่จำเลยเอาสุราต่างประเทศใส่ในลังน้ำปลาแล้วนำไปชำระเงินกับพนักงานแคชเชียร์ของผู้เสียหายเท่ากับราคาน้ำปลา เป็นเพียงกลอุบายของจำเลยเพื่อเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น โดยพนักงานแคชเชียร์ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2552
จำเลยยังมิได้พาเตาอบไฟฟ้าของผู้เสียหายออกไปพ้นนอกห้างสรรพสินค้าของผู้เสียหาย แต่ก็ได้เคลื่อนย้ายไฟฟ้าออกจากจุดที่ผู้เสียหายเก็บหรือวางทรัพย์นั้นไว้ ทั้งยังผ่านจุดที่ลูกค้าจะต้องชำระค่าสินค้าแก่พนักงานเก็บเงินไปแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยพาทรัพย์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ไปแล้วโดยมีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2546
จำเลยกับพวกมีเจตนาลักหม้อแปลงไฟฟ้าของผู้เสียหายโดยขึ้นไปบนเสาไฟฟ้าแล้วใช้เลื่อยตัดสายลวดสลิงที่ยึดหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวใช้เชือกผูกผลักลงจากคานบนเสาไฟฟ้า เมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าเคลื่อนจากจุดที่ติดตั้งเดิมและถูกเคลื่อนมาอยู่บนพื้นดิน ถือว่าเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์หม้อแปลงไฟฟ้าอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แม้จำเลยกับพวกจะยังไม่ทันยกหม้อแปลงไฟฟ้าขึ้นรถยนต์กระบะของจำเลยเพราะหม้อแปลงไฟฟ้ามีน้ำหนักมากก็ตามหาใช่เป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2551
จำเลยขึ้นนั่งคร่อมและเข็นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากจุดที่จอดเดิมประมาณ 1 เมตร แต่จำเลยยังไม่ทันติดเครื่องรถขับเอาไปเพราะผู้เสียหายมาพบเห็นเสียก่อน จำเลยจึงทิ้งรถวิ่งหนีไปถือได้ว่าจำเลยเข้ายึดถือครอบครองและเอาทรัพย์เคลื่อนไปในลักษณะที่พาเอาไปได้เป็นการลักทรัพย์สำเร็จแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1002/2535
การกระทำที่จะถือว่าเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ตลอดไป จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย มีหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์นำรถไปส่งให้ผู้เช่าและติดตามรถคืน ได้นำรถยนต์ของผู้เสียหายไปทำความสะอาด ต่อมาจำเลยได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อรับน้าชายกับครอบครัวไปจังหวัดนครราชสีมา แต่เฟืองท้ายรถเสียจำเลยไม่สามารถหาเฟืองท้ายไปซ่อมรถยนต์คันดังกล่าว ตำรวจจึงให้ลากรถยนต์ไปจอดไว้ที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ จำเลยมอบกุญแจรถยนต์ไว้กับเจ้าของฟาร์มเก็บใบขับขี่ บัตรประจำตัวและหลักฐานเกี่ยวกับทะเบียนรถไว้ในรถแล้วจำเลยกลับกรุงเทพมหานคร และไปทำงานที่ห้างผู้เสียหายตามปกติจำเลยพยายามหาซื้อเฟืองท้ายแล้ว แต่ซื้อไม่ได้ ต่อมาผู้เสียหายได้รับรถยนต์คืนจากตำรวจท้องที่ ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการพารถยนต์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ไป อาจเป็นการแย่งการครอบครองไปจากผู้เสียหาย ถือเป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปอันอาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ แต่ตามพฤติการณ์จำเลยเจตนาเอารถของผู้เสียหายไปใช้ชั่วคราว มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายตลอดไป จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2552
จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า ป. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์ร่วมอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินเดือนของจำเลยล่วงหน้าได้ แม้จำเลยจะไม่ได้ขออนุมัติจาก ป. ก่อนตามระเบียบการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าของพนักงาน ก็ไม่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยมีเจตนาทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2966/2539
ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรกนั้น ขึ้นอยู่กับตัวทรัพย์ที่ลักว่าเป็นของนายจ้างหรืออยู่ในความครอบครองของนายจ้างหรือไม่ หาได้จำกัดว่าต้องเป็นการลักทรัพย์ที่นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างครอบครองดูแลรับผิดชอบเท่านั้นดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างจะไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์ของกลางที่จำเลยลักไปรวมทั้งทรัพย์สินใด ๆ ในคลังสินค้าของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะถือว่าผู้ใดกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะซึ่งจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวินั้น จะต้องดูที่เจตนาของผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญว่าต้องการใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมหรือไม่ ส่วนยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้นจะเป็นของผู้ใดหาใช่ข้อสำคัญไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายมีหน้าที่ขับรถลักเอาน้ำมันพืช 24 ขวด และปลากระป๋อง 100 กระป๋อง จากคลังสินค้าของผู้เสียหายไปแล้วนำไปวางไว้บนรถยนต์กระบะของผู้เสียหายขับออกไปจากที่เกิดเหตุ เช่นนี้ย่อมเห็นเจตนาของจำเลยได้ชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาใช้รถยนต์กระบะคันดังกล่าวเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายขณะที่บรรทุกอยู่บนรถซึ่งจำเลยมีหน้าที่ขับบรรทุกขนส่งแต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ.มาตรา 336 ทวิ
ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145