คดีกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย - ทนายนิธิพล

Last updated: 27 ต.ค. 2564  |  43985 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย - ทนายนิธิพล

 

 

                                            คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ

 

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2559

                         เหตุคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถกระบะที่อยู่ด้านหน้าล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถของผู้ตาย ซึ่งหากจำเลยไม่ขับรถจักรยานยนต์แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตายเหตุครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็ว ก็อาจเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำความผิดของจำเลย ประการสำคัญขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ในช่องเดินรถของตน การที่ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็วดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน แต่การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน และผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ผู้ตายหามีส่วนประมาทด้วยไม่ ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายย่อมมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้

 

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12114/2556


                     การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปซ่อมรอยรั่วซึมของถังน้ำมัน โดยจำเลยไม่ได้แจ้งให้นายจ้างทราบก่อน กลับแจ้งผู้ตายโดยตรงให้ซ่อมถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการทำงานที่มีขึ้นเพื่อความปลอดภัย และจำเลยไม่ได้บอกผู้ตายว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกน้ำมันเบนซินมาด้วย ทำให้ผู้ตายไม่ทราบข้อเท็จจริงจึงไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงาน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันเกิดระเบิดขึ้นและผู้ตายถึงแก่ความตาย นับเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียวที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วยไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19300/2556

                    การที่โจทก์ร่วมทั้งสี่ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 เป็นการยื่นคำร้องโดยอาศัยสิทธิตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ เมื่อคำฟ้องของพนักงานอัยการบรรยายว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทด้วย โจทก์ร่วมทั้งสี่จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องโดยไม่จำต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เช่นนี้ ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสี่ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และ 30

 

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8155/255

                      คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทรัพย์สินเสียหายตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 โดยบรรยายถึงการกระทำโดยประมาทของจำเลยว่า ก่อนจำเลยขับรถเข้าทางร่วมทางแยกที่เกิดเหตุ สัญญาณจราจรในทางเดินรถของจำเลยเป็นสัญญาณจราจรไฟสีแดง จำเลยต้องหยุดรถเพื่อให้รถอื่นที่ได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวขับผ่านทางร่วมแยกไปก่อน และเมื่อทางเดินรถของจำเลยได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้ว จึงค่อยขับรถเข้าทางร่วมทางแยก แต่จำเลยขาดความระมัดระวังขับเลี้ยวขวาโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับมาในทางร่วมทางแยกซึ่งผู้ตายได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียว เป็นการบรรยายฟ้องโดยอ้างเหตุประมาทว่า จำเลยขับรถเข้าทางร่วมทางแยกโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงเท่านั้น แต่ทางพิจารณาได้ความว่า รถคันที่จำเลยขับเป็นรถพยาบาลของทางราชการซึ่งจำเลยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ขับรถนำผู้ป่วยไปส่งยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง โดยขณะเกิดเหตุจำเลยเปิดไฟหน้ารถและเปิดสัญญาณไฟขอทางบนหลังคารถอันเป็นรถฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4 (19) ซึ่งจำเลยผู้ขับย่อมมีสิทธิขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใดๆ ที่ให้รถหยุดได้ เพียงแต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 75 (4) วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยซึ่งขับรถฉุกเฉินจึงมีสิทธิขับรถผ่านสัญญาณจราจรไฟสีแดงได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยขับรถโดยประมาทฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงเท่านั้น ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าวให้เป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงการขับรถโดยประมาทของจำเลยไว้ด้วย แม้จะฟ้งว่าจำเลยขับรถผ่านสัญญาณจราจรไฟสีแดงโดยมิได้ลดความเร็วให้ช้าลงและมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้เพราะไม่ใช่การกระทำโดยประมาทตามที่โจทก์ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2555

                        โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 291 และ 390 ผู้ร้องได้รับความเสียหายเพราะเหตุรถยนต์ที่เฉี่ยวชนกระเด็นมาชนรถยนต์ของผู้ร้องที่จอดอยู่ ผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายหรือเป็นผู้ได้รับอันตรายแก่กาย ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 39, 40, 43, 151 และ 157 เป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2554

                          การที่ศาลจะรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของ ส. ยิ่งกว่าคำเบิกความต่อศาลนั้น จะต้องมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่า ส. เบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิดแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส. ไม่ได้เป็นญาติของจำเลย และไม่เคยรู้จักกันมาก่อนทั้งยังมีภูมิลำเนาอยู่คนละอำเภอ เห็นเหตุการณ์เพราะมีบ้านอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุเท่านั้น ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียกับฝ่ายใด โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองก็ไม่ได้ถามค้านหรือนำสืบให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือในคำเบิกความของ ส. นอกจากนี้ก่อนเบิกความ ส. ได้สาบานตนแล้วเบิกความต่อหน้าศาลและคู่ความทุกฝ่าย เปิดโอกาสให้มีการถามค้านได้แต่การให้การต่อพนักงานสอบสวนนั้นเป็นการให้การสองต่อสอง อาจถูกพนักงานสอบสวนชี้นำให้ให้การตามแนวทางการสอบสวนของตนเองก็ได้ เชื่อว่า ส. เป็นพยานคนกลางเบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4992/2553

                           คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหกล้อโดยเห็นอยู่แล้วว่าในช่องเดินรถด้านหน้าช่องเดินรถเดียวกับจำเลยมีรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งมี ส. เป็นผู้ขับ กำลังขับสวนทางมา จำเลยยังคงขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควรโดยไม่ชะลอความเร็วของรถให้ช้าลง เป็นเหตุให้รถที่จำเลยขับพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ส. ขับจนล้มลง รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายและ ส. ถึงแก่ความตายทันที ฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า ผู้ตายมีส่วนในการกระทำผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามฟ้องของโจทก์ถือว่า ผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ข. โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายจึงมีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) 
แม้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่รถทั้งสองคันชนกันมิได้เกิดขึ้นจากความประมาทของจำเลย แต่เกิดจากความประมาทของผู้ตายก็ตาม แต่โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียว ซึ่งโจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้ว่า เหตุเกิดเนื่องมาจากผู้ตายมีส่วนกระทำโดยประมาทด้วย

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2553

                           ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์กระบะแซงรถจักรยานยนต์ของ ป. ล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตาย ขณะเดียวกันผู้ตายก็ขับรถจักรยานยนต์ล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นเหตุให้รถชนกันเช่นนี้ จำเลยจึงขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายและผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดไปได้
ผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มารดาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4883/2553

                           แม้จำเลยจะขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงด้วยความเร็วสูง แต่จำเลยขับรถในทางเดินรถของตนโดยถูกต้อง ส่วน ส. มิได้จอดรถเพื่อรถกลับรถในช่องกลับรถอย่างในภาวะปกติธรรมดา หากแต่เป็นเพราะรถที่ ส. ขับเกิดเสียการทรางตัวแล้วหมุนเข้าไปในทางเดินรถของจำเลยและขวางรถที่จำเลยขับในระยะกระชั้นชิด ในภาวะเช่นนั้นไม่ว่าจำเลยจะขับมาในลักษณะเช่นใดจำเลยย่อมไม่อาจจะหลบหลีกเพื่อมิให้ชนกับรถที่ ส. ขับได้ ดังนั้น การที่จำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงด้วยความเร็วสูงและไม่ขับให้อยู่ในช่องเดินรถด้านซ้ายจึงมิใช่เป็นผลโดยตรงที่ทำให้เกิดการเฉี่ยวชนกันจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3055/2551

                          การที่จำเลยขับรถขณะเมาสุราอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุราจนไม่สามารถลดความเร็วของรถลงและหยุดรถเพื่อให้รถยนต์ของผู้ตายเลี้ยวขวาผ่านไปก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถยนต์ที่ผู้ตายขับ และผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2550

                           การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถโดยประมาทแซงรถที่อยู่ข้างหน้าไปในหน้าไปในช่องเดินรถขวามือในขณะที่ผู้ตายขับสวนมา เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเสียหายและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 346/2550

                           เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 จอดรถรอเลี้ยวอยู่ในช่องกลับรถไม่ล้ำเข้าไปกีดขวางการจราจรในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3), 157 มาด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้างและความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว แต่เมื่อคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2550

                           การเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง นั้นหมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำผิดโดยเฉพาะ มิได้หมายถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิดด้วย การเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า เหตุคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 หลังเกิดเหตุเป็นเวลา 3 ปีเศษ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ไปแล้ว คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นเรื่องอายุความ
 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2550

                          จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายเต็มคันรถในเขตชุมชนใกล้ทางแยกเข้าหมู่บ้านกฤษดานคร ตามหลังรถยนต์กระบะไปตามถนน ควรใช้ความเร็วต่ำและเว้นระยะให้ห่างมากพอที่จะหยุดรถได้ทันโดยไม่ให้ชนรถคันหน้ายิ่งมีฝนตกและเป็นเวลากลางคืน ควรต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ต้องหักหลบไปทางขวาเมื่อรถยนต์กระบะต้องหยุดรถเพราะมีรถยนต์ออกจากปั๊มน้ำมัน ก็เกิดจากจำเลยที่ 1 เกรงว่าจะหยุดไม่ทันเนื่องจากบรรทุกของหนักเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับจะต้องใช้ความเร็วสูงทั้งไม่เว้นระยะให้ห่างรถยนต์กระบะซึ่งขับอยู่ข้างหน้าให้อยู่ในระยะที่สามารถหยุดรถได้ทันโดยไม่ต้องหักหลบเช่นนั้น รถของจำเลยที่ 1 จึงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับรถยนต์สวนมาและเกิดเหตุชนกับรถที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 และ ป.อ. มาตรา 291 แม้จะมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 ขับตามหลังมาไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ก็หามีผลให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดและการขับรถยนต์ประมาทของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่ผู้ตาย ส่วนกรณีที่ตรวจพบแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระดับนี้มีผลต่อร่างกาย ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้นั้น ก็ถือว่าผู้ตายมิได้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุชนกันขึ้น ไม่อาจทำให้ผู้ตายหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุชนกันได้ จึงไม่อาจทำให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดไปได้ และกรณีไม่อาจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 56 ได้

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7909/2549

                          โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงเกินสมควรจนไม่สามารถหยุดหรือลดความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะหลบหลีกไม่ชนรถคันอื่นหรือสิ่งอื่นใดที่กีดขวางอยู่ข้างหน้าได้ทัน โดยมิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทาง แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 67, 152 ตามคำขอท้ายฟ้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3966/2549
                           
การที่จำเลยขับรถยนต์สามล้อขณะเมาสุราอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถยนต์สามล้อด้วยความเร็วในขณะเมาสุราจนไม่สามารถควบคุมบังคับรถได้ตามปกติแซงรถจักรยานที่ผู้ตายขี่ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์สามล้อของจำเลยเฉี่ยวชนรถจักรยานของผู้ตายและผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
 
 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5207/2549
                           จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงและไม่ได้ชะลอความเร็วเมื่อมาถึงทางร่วมทางแยก แม้จะได้ความว่าทางเดินรถของฝ่ายแท็กซี่เป็นทางโทมีป้ายหยุดปักอยู่ตรงปากทางและผู้ขับรถแท็กซี่ไม่ได้หยุดรถของตนอันเป็นการกระทำโดยประมาทด้วยก็ตาม แต่การขับรถผ่านทางร่วมทางแยกนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ขับขี่รถทุกเส้นทางที่มาบรรจบทางร่วมทางแยกจะต้องลดความเร็วลงให้อยู่ในระดับความเร็วที่ต่ำหรือหยุดรถเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายอันเกิดจากการชนระหว่างรถที่กำลังแล่นผ่าน หาใช่ว่าผู้ที่ขับรถมาในทางเอกจะใช้ความเร็วในอัตราที่สูงโดยขับผ่านทางร่วมทางแยกไปโดยปราศจากความระมัดระวัง เมื่อจำเลยขับรถแล่นเข้าไปในทางร่วมทางแยกด้วยความเร็วสูงทำให้ชนกับรถยนต์คันที่ผู้ตายขับมาเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ย่อมถือได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความประมาทของจำเลยด้วย พฤติการณ์ความประมาทของจำเลยค่อนข้างร้ายแรง และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 คน แม้จำเลยจะวางเงินให้แก่ทายาทของผู้ตายทั้งสามคนก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็มิใช่การวางเงินโดยยอมรับผิดในการกระทำของตน ทั้งเงินดังกล่าวก็เป็นค่าเสียหายส่วนแพ่งที่จำเลยอาจต้องรับผิดต่อทายาทของผู้ตายกรณียังไม่สมควร รอการลงโทษให้แก่จำเลย
 
 

 

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้