Last updated: 27 ต.ค. 2564 | 8373 จำนวนผู้เข้าชม |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2552
จำเลยจงใจละทิ้งโจทก์โดยกลับไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่แท้จริงไม่เคยกลับไปอยู่กับโจทก์อีกเลย การจงใจละทิ้งโจทก์ของจำเลยจึงมีพฤติการณ์ต่อเนื่องกันตราบที่จำเลยยังไม่กลับไปอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จะฟ้องเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมยังคงมีอยู่ อายุความยังไม่เริ่มนับ แม้โจทก์ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปี โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/34 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2552
จำเลยจงใจละทิ้งโจทก์โดยกลับไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่แท้จริงไม่เคยกลับไปอยู่กับโจทก์อีกเลย การจงใจละทิ้งโจทก์ของจำเลยจึงมีพฤติการณ์ต่อเนื่องกันตราบที่จำเลยยังไม่กลับไปอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จะฟ้องเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมยังคงมีอยู่ อายุความยังไม่เริ่มนับ แม้โจทก์ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปี โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/34 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4734/2548
บันทึกด้านหลังของทะเบียนสมรส เจ้าหน้าที่ได้บันทึกถ้อยคำที่ผู้คัดค้านและผู้ตายให้ไว้ว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีความสมัครใจและเต็มใจที่จะจดทะเบียนสมรสกัน โดยทั้งผู้คัดค้านและผู้ตายได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ทั้งบันทึกด้านหลังทะเบียนสมรสนายทะเบียนได้ทำในวันและเวลาเดียวกันต่อเนื่องกับรายการจดทะเบียนสมรสด้านหน้า จึงถือว่าผู้คัดค้านและผู้ตายได้ให้ถ้อยคำและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายในเรื่องการจดทะเบียนสมรสด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความบกพร่องที่ผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าทะเบียนสมรสในเรื่องลายมือชื่อผู้ร้องขอจดทะเบียนยังไม่เป็นเหตุถึงกับทำให้การจดทะเบียนสมรสนั้นไม่สมบูรณ์และตกเป็นโมฆะ
การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1583 (เดิม) และ 1585 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 22 ที่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดานั้น มิได้บังคับว่า ความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีลายมือชื่อของบิดามารดาให้ความยินยอมแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ม. ซึ่งเป็นมารดาของเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. ได้ให้ความยินยอมในการที่ผู้ตายจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. เป็นบุตรบุญธรรม แม้ ม. จะไม่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนรับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายก็ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว เด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1586 (เดิม) หรือ 1598/28 (ใหม่) และถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (1) ตามมาตรา 1629 ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (3) จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ไม่มีอำนาจร้องขอจัดการมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3739/2548
แม้ตามสำเนาทะเบียนการสมรสจะปรากฏลายมือชื่อฝ่ายชายคือ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้องขอจดทะเบียนแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ในบันทึกด้านหลังของทะเบียนสมรสดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้บันทึกถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 และผู้ตายให้ไว้ว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีความสมัครใจและเต็มใจที่จะจดทะเบียนสมรสกัน โดยทั้งจำเลยที่ 1 และผู้ตายได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน บันทึกดังกล่าวได้ทำในวันและเวลาต่อเนื่องกับรายการจดทะเบียนสมรสด้านหน้า จึงย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และผู้ตายได้ให้ถ้อยคำและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายในเรื่องการจดทะเบียนสมรสด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความบกพร่องที่ผู้ตายไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าทะเบียนสมรสดังกล่าวยังไม่เป็นเหตุถึงทำให้การจดทะเบียนสมรสไม่มีผลสมบูรณ์เป็นโมฆะแต่อย่างไร
ในการรับบุตรบุญธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1583 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติว่า ถ้าผู้ที่บุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การรับบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดามารดา ถ้าไม่มีบิดามารดา ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมก็ได้ และมาตรา 1585 (เดิม) บัญญัติว่า การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์เมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย เมื่อพิจารณาประกอบ พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 22 แล้วจะเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดแต่เพียงว่า การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาเท่านั้น มิได้บังคับว่าคำยินยอมต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีลายมือชื่อของบิดามารดาให้ความยินยอมแต่อย่างไร ดังนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับ ม. ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนหย่าและแยกกันอยู่โดยมีบันทึกหลังทะเบียนหย่าว่าให้จำเลยที่ 1 รับเลี้ยงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วน ม. รับเลี้ยงบุตรคนเล็ก และต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายและผู้ตายได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งจำเลยที่ 4 ในฐานะนายทะเบียนได้ดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมให้แก่ผู้ตายโดยที่ให้เฉพาะจำเลยที่ 1 บิดาเป็นผู้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมแต่เพียงผู้เดียว โดยเห็นว่าตามบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนหย่ามีผลทำให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจปกครองจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงผู้เดียว แม้ข้อความในบันทึกหลังทะเบียนหย่ามิอาจถือได้ว่า ม. ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจปกครองจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ปรากฏว่านับแต่ผู้ตายจดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรบุญธรรมจนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นเวลากว่า 29 ปี ม. ก็มิได้ว่ากล่าวคัดค้านการรับบุตรบุญธรรม และยังทำหนังสือยืนยันว่าทราบเรื่องและให้ความยินยอมมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน และเหตุที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ก็เพราะขณะที่จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 ม. ตกลงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในการเลี้ยงดูของจำเลยที่ 1 นั้น หมายถึงการให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่ผู้เดียวด้วยและไม่ขอคัดค้าน รวมทั้งยังขอร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมโดยยืนยันการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม พฤติการณ์จึงฟังได้ว่า ม. ได้ให้ความยินยอมด้วยแล้วในการรับบุตรบุญธรรมของผู้ตาย การรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 349/2540
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1598/28เมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมบิดามารดาโดยกำเนิดของบุตรบุญธรรมนั้นย่อมหมดอำนาจปกครองไปตั้งแต่วันเวลาที่เป็นบุตรบุญธรรมแล้วดังนั้นเมื่อผู้ร้องยกเด็กชายส. ให้เป็นบุตรบุญธรรมแก่ร้อยตรีบ. แล้วผู้ร้องกับอ. ซึ่งเป็นบิดามารดาโดยกำเนิดของเด็กชายส. ก็หมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กชายส.เป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรีบ. และแม้ภายหลังร้อยตรีบ. ถึงแก่กรรมก็หาได้มีผลทำให้การรับบุตรบุญธรรมต้องเลิกหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่เด็กชายส. ยังคงเป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรีบ. อยู่ผู้ร้องกับอ. หาได้กลับมีอำนาจปกครองขึ้นมาใหม่ได้ไม่อำนาจปกครองของบิดามารดาโดยกำเนิดจะกลับคืนมาก็ต่อเมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1598/37เท่านั้นเมื่อเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์ไม่มีผู้ปกครองและผู้ร้องกับอ. ก็มิใช่เป็นผู้ได้อำนาจปกครองเด็กชายส. กลับคืนมาเช่นนี้จึงมีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายส. ได้เมื่อผู้ร้องเป็นบิดาโดยกำเนิดและโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์ศาลฎีกาเห็นสมควรตั้งผู้ร้องให้เป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2538
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1598/28ที่บัญญัติว่าบุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมและในวรรคที่2ที่บัญญัติว่าให้นำบทบัญญัติในลักษณะ2หมวด2แห่งบรรพนี้(ตั้งแต่มาตรา1561ถึงมาตรา1584/1)มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้นหมายความเพียงว่าให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรมาใช้บังคับแก่บุตรบุญธรรมโดยอนุโลมเท่านั้นไม่ได้บังคับว่าจะต้องนำทุนมาตรามาใช้บังคับทั้งหมดส่วนบทบัญญัติในมาตรา1562ที่บัญญัติว่าผู้ใดจะฟังบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้นั้นเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคลจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา29เดิม(มาตรา28ที่แก้ไขใหม่)ให้ความหมายของคำว่าผู้บุพการีไว้ว่าหมายถึงบิดามารดาปู่ย่าตายายทวดและผู้สืบสายโลหิตกันโดยตรงขึ้นไปตามความเป็นจริงจำเลยเป็นเพียงผู้รับโจกท์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ใช่บิดาโจทก์จึงไม่ใช่ผู้บุพการีของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1562
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2537
ผู้ตายจดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมโดยภริยาผู้ตายไม่ได้ให้ความยินยอม การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างผู้ตายกับโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 โจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นทายาทที่จะมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2601/2536
เมื่อบิดามารดาหย่าขาดจากกันโดยตกลงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของมารดา ดังนั้น บิดาย่อมไม่มีอำนาจปกครองบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520,1566(6) อำนาจปกครองจึงตกแก่มารดาแต่ผู้เดียว มารดาจึงมีอำนาจให้ความยินยอมในการที่บุคคลภายนอกจะรับบุตรผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมได้เพียงลำพังโดยไม่จำต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้สั่งอนุญาตแทนบิดาอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899/2535
การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนาที่จะหย่าขาดกับโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะให้การจดทะเบียนการหย่าและหนังสือสัญญาหย่ามีผลผูกพันซึ่งโจทก์ก็ทราบถึงเจตนาอันแท้จริงของจำเลยดังกล่าวและโจทก์เองก็ไม่มีเจตนาที่จะหย่าขาดกับจำเลย การจดทะเบียนหย่าและหนังสือสัญญาหย่าตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 117 นั้น เป็นฎีกานอกประเด็นจากที่จำเลยให้การต่อสู้คดีจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้ยกบุตรผู้เยาว์ของโจทก์และจำเลยให้เป็นบุตรบุญธรรมของ ก. สามีใหม่ของโจทก์ อำนาจปกครองบุตรจึงตกแก่ ก. ผู้รับบุตรบุญธรรม โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตามฟ้อง และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องดังฎีกาของจำเลยหรือไม่นี้ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้จำเลยก็หยิบยกขึ้นอ้างอิงปัญหานี้ในชั้นฎีกาได้ โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากัน โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ณ. บุตรผู้เยาว์แก่โจทก์เดือนละ10,000 บาท แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามสัญญา ดังนี้ แม้ว่าต่อมาโจทก์จะได้ยกเด็กหญิง ณ. ให้เป็นบุตรบุญธรรมของ ก. สามีใหม่ของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่า ก. จดทะเบียนรับเด็กหญิง ณ.เป็นบุตรบุญธรรมภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว อีกทั้งบุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/28 ด้วย การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวหามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามจำเลยให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาหย่า จำเลยได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ยอมชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้แก่โจทก์ตามหนังสือทวงถามถือได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2534
สามีผู้ตายได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ตายให้ความยินยอมและลงชื่อท้ายบันทึกทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมว่าเป็นคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม สามีผู้ตายแต่ผู้เดียวจึงเป็นผู้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม แม้บันทึกดังกล่าวจะมีข้อความว่าผู้ตายได้รับเป็นมารดาผู้ร้องด้วย ก็ไม่เป็นการรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย เมื่อผู้ตายมิได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมของผู้ตาย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2533
โจทก์ที่ 1 เป็นสามีของผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายต่อมาโจทก์ที่ 1 และผู้ตายต่างย้ายภูมิลำเนาจากที่เดิมไปอยู่ที่อื่นซึ่งเป็นคนละแห่งกันโดยมิได้มีการติดต่อเยี่ยมเยียน หรือส่งข่าวคราวให้แก่กันเลยเป็นเวลานานหลายปีจึงถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครได้รับข่าวคราวเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การที่ผู้ตายจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมในระหว่างที่แยกกันอยู่กับโจทก์ที่ 1 เช่นนี้กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/25การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจึงชอบด้วยกฎหมาย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2531
การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมซึ่งคู่สมรสฝ่ายหนึ่งกระทำลงโดยไม่ได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งย่อมไม่สมบูรณ์ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์และสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่ง อ. ได้กระทำลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นคู่สมรส จึงเป็นการฟ้องขอให้แสดงว่าฐานะของ อ. และจำเลยมิได้มีการเปลี่ยนแปลงเพราะการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมซึ่งไม่สมบูรณ์ดังกล่าว หาใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อเพิกถอนฐานะความเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163 และมาตรา 164และเมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดระยะเวลาที่โจทก์อาจฟ้องคดีเช่นว่านี้ได้แล้ว โจทก์ผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องคดีดังกล่าวได้เสมอ
ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145