คดีขอรับชำระหนี้ - ทนายนิธิพล

21759 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีขอรับชำระหนี้ - ทนายนิธิพล

                  สิทธิ์ในการบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ 

                  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                  มาตรา194 บัญญัติว่าด้วยเหตุแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิ์จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้

                 คำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ เกี่ยวกับการขอชำระหนี้

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2543

                จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือนถือได้ว่า ค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์นั้นเป็นหนี้ที่กำหนด เวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 204 วรรคสอง หากจำเลยไม่ชำระตามกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดนับถัดแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป ซึ่งจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่งเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แถลงขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันฟ้องตามที่ศาลแรงงานวินิจฉัยไว้ คำพิพากษาของศาลแรงงานที่พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันฟ้อง จึงผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นไปโดยจงใจโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน

                กรณีเจ้าหนี้เรียกให้ชำระหนี้โดยพลัน

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2543

                โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโดยในสัญญากำหนดเรื่องการโอนไว้ว่า ผู้ขายจะโอนสิทธิให้ผู้ซื้อในภายหลังเมื่อผู้ซื้อต้องการให้โอน เป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคแรก

                กรณีลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ 

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2551

                จำเลยเช่าพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจากโจทก์มีกำหนด 3 ปี โดยสัญญาเช่ามิได้มีข้อความระบุว่า จำเลยจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อไรก็ได้ การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ถึง 389
จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระก่อนสัญญาเช่าครบกำหนดโดยมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งการที่โจทก์ฟัองจำเลยก็ไม่เป็นการบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าที่ค้างชำระ แม้จำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าไปก่อนครบกำหนดเวลาการเช่าก็ตา

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7548/2549

                 ในสัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงว่า จำเลยยินยอมให้ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่จ่ายเงินหักเงินได้รายเดือนของจำเลยตามจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระส่งชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนี้ การบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ต้องดำเนินการตาม ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ตั้งแต่มาตรา 271 ถึงมาตรา 323 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์กับจำเลยจะตกลงกันให้บังคับคดีโดยวิธีการอย่างอื่นไม่ได้ คำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์มีสิทธิขอรับเงินได้รายเดือนจากผู้มีอำนาจจ่ายเงินเพื่อจ่ายให้โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืมจนกว่าจะครบถ้วนนั้น เท่ากับยินยอมให้โจทก์ขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากผู้มีอำนาจหักเงินรายได้ของจำเลยได้โดยไม่ต้องขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและไม่ต้องดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์ของจำเลย จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการบังคับคดี ศาลฎีกาไม่อาจสั่งให้ได้
แม้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องตกลงวิธีการชำระหนี้กันไว้ล่วงหน้าโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย แต่ข้อตกลงเกี่ยวพันไปถึงบุคคลภายนอกผู้ทำหน้าที่หักเงินได้ ตราบใดที่โจทก์และจำเลยยังสมัครใจปฏิบัติต่อกันตามสัญญา บุคคลภายนอกก็ดำเนินการหักเงินได้ของจำเลยส่งให้โจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยเปลี่ยนใจไม่ยอมชำระหนี้ให้ บุคคลภายนอกก็ไม่ยอมหักเงินส่งให้โจทก์ แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะเป็นสิทธิของโจทก์และจำเลยที่จะตกลงกันเกี่ยวกับวิธีชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า แต่บุคคลภายนอกไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่ถูกผูกพันว่าจะต้องมีหน้าที่หักเงินส่งให้โจทก์ตลอดไป การที่จะบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติตามข้อสัญญาเป็นเรื่องวัตถุแห่งหนี้ที่คู่สัญญาตกลงกัน กรณีนี้วัตถุแห่งหนี้คือการบังคับให้จำเลยยินยอมชำระหนี้ต่อไปโดยบุคคลภายนอกดำเนินการหักเงินได้รายเดือนของจำเลยเพื่อจ่ายให้โจทก์ เป็นเรื่องที่ศาลไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ต่อไปตามสัญญาได้ เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้น

              

              กรณีเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้ ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้ และ การไม่รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไม่มีมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7548/2549 

             โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนถึงงวดที่ 12 แล้วไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 13 ถึง 15 ต่อมางวดที่ 16 โจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย จำเลยรับไว้โดยไม่ทักท้วง ไม่คิดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับ แสดงว่า จำเลยมิได้ยึดถือข้อสัญญาที่ว่า หากผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์โดยให้ระยะเวลาแก่โจทก์พอสมควร แม้จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าเลิกสัญญา ซึ่งโจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระโดยอ้างว่าโจทก์ชำระน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระซึ่งมีดอกเบี้ย ค่าติดตามรถและค่าแอร์รวมอยู่ด้วยนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อสัญญาหรือข้อนำสืบว่า ยอมให้คิดดอกเบี้ยจากการชำระล่าช้าได้หรือโจทก์ค้างชำระจริง จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระหนี้อื่นนอกจากค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เมื่อโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่มีเหตุจะอ้างตามกฎหมายจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยต้องส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ เมื่อจำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อและไม่คืนรถยนต์ให้แก่โจทก์โดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15383/2555

              โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและรับต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ไปยังจำเลยและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อถึงวันนัดโจทก์ไปสำนักงานที่ดินแต่จำเลยไม่ไป ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 207 โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันนัดจดทะเบียนโอนและไถ่ถอนจำนองที่ดินแก่โจทก์โดยโจทก์ไม่จำต้องวางเงินต่อศาลหรือต้องวางเงิน ณ สำนักงานวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 333 แต่ประการใด เพราะถือว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ในการไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ซึ่งจะต้องดำเนินการ ณ สำนักงานที่ดิน ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีได้ความว่าจำเลยปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวมาแต่ต้น การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรับชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง แล้ว และกรณีเช่นนี้โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินไปชำระ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตาม มาตรา 324 อีก

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2490

                  เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีอำนาจยึดทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้มาใช้หนี้ตามคำพิพากษาได้เสมอ แม้ลูกหนี้จะได้เอาทรัพย์นั้นไปวางเป็นประกันเงินกู้ หรือจำนำไว้แก่ผู้ใด หรือผู้ใดจะมีบุริมสิทธิหรือสิทธิยึดหน่วงในทรัพย์นั้นอย่างไร ผู้นั้นก็ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์นั้นไม่ได้คงได้แต่เรียกร้องบังคับตามสิทธิได้ในการบังคับคดีตามกำหนดเวลาในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7633/2550

                  แม้สัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยมิได้มีการตกลงไว้ว่าหากผิดสัญญาสามารถกำหนดเบี้ยปรับหรือค่าเสียหายกันได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ร่วมจะคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน แก่ลูกหนี้ทุกรายที่ผิดนัด รวมทั้งจำเลยด้วย เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วม จำเลยย่อมทราบแล้วว่าโจทก์ร่วมคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน การที่เช็คพิพาทเป็นเช็คค่าสินค้าที่คิดรวมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไว้ด้วยจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายโดยสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หาใช่เป็นการคิดค่าเสียหายเอาตามอำเภอใจของโจทก์ร่วมแต่อย่างใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนี้ตามเช็คพิพาทไม่ใช่หนี้กู้ยืม ย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง จึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย
 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4844/2545

                  การที่จำเลยจัดการหาสถานที่รับฝากสินค้าให้โจทก์ในประเทศสหราชอาณาจักรและเรียกเก็บเงินค่าเก็บรักษาสินค้าดังกล่าวจากโจทก์ในนามของจำเลยนั้น มิใช่เป็นการงานที่จำเลยทำให้เปล่าในฐานะที่จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์และตัวแทนของบริษัท อ. แต่จำเลยและบริษัท อ. มีผลประโยชน์ร่วมกันในการรับฝากสินค้าของโจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นตัวการร่วมกันในการรับฝากสินค้าที่สูญหายจากโจทก์ โดยมีบำเหน็จค่าฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657และมาตรา 659วรรคสอง เมื่อจำเลยกับพวกมิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อรักษาสินค้าของโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีวิชาชีพในกิจการค้าขายของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 659 วรรคสาม จำเลยจึงต้องรับผิดในการสูญหายของสินค้าดังกล่าวต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจะอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นพฤติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นโดยจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบหาได้ไม่
โจทก์ประกอบธุรกิจขายสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่และโจทก์ได้สั่งซื้อสินค้ามาเพื่อขายหากำไรในประเทศไทย ซึ่งน่าเชื่อว่าจำเลยเองก็ทราบดีอยู่แล้วถึงความในข้อนี้เพราะสินค้าดังกล่าวมีจำนวนมาก และจำเลยได้ติดต่อทำธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว การที่สินค้าของโจทก์สูญหายไปจำเลยควรจะคาดเห็นได้ว่าโจทก์จะต้องได้รับความเสียหายในส่วนที่เป็นค่าขาดกำไรจากการขายสินค้าดังกล่าว ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง
หนี้ค่าระวางการขนสินค้าตามฟ้องแย้งเป็นหนี้เงิน เมื่อโจทก์มิได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยนับแต่วันครบกำหนด 45 วัน ที่โจทก์ได้รับใบเรียกเก็บเงินจากจำเลย โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์จะนำหนี้ค่าระวางการขนส่งสินค้าที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยมาขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ค่าเสียหายนับแต่วันที่สินค้าของโจทก์สูญหายไปหาได้ไม่ เพราะหนี้ค่าเสียหายหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจำเลยยังมีข้อต่อสู้อยู่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้ตามฟ้องแย้งแก่จำเลยเกินคำขอของจำเลยในส่วนที่เป็นระยะเวลาคิดดอกเบี้ยช่วงก่อนฟ้องแย้งนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
 
 

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2546
 

                 ขณะที่มีการชำระบัญชีอยู่บริษัท ท. ยังเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างกรมสรรพากรโจทก์อยู่จำนวนหนึ่ง เนื่องจากเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องครบถ้วน การที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัท ท. แบ่งเงินอันเป็นสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ของบริษัทให้แก่จำเลยไป ไม่ว่าจำเลยจะรับไว้โดยสุจริตหรือไม่ ก็เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1269 ถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินส่วนแบ่งมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้จึงถือว่าเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยจำต้องคืนให้แก่บริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของเงินตามมาตรา 406
บริษัท ท. หรือผู้ชำระบัญชีมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงิน ส่วนแบ่งซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ท. ในฐานลาภมิควรได้และหากบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้น เป็นเหตุให้กรมสรรพากรโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรค้างต้องเสียประโยชน์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนบริษัท ท. ลูกหนี้ได้โดยโจทก์จะต้องขอหมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาในคดีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และมาตรา 234แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ฟ้องคดีแทนบริษัท ท. เพราะบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งที่จำเลยรับไปโดยมิชอบหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง รวมทั้งโจทก์มิได้ขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงของโจทก์เข้ามาในคดี จึงต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่ได้รับจากผู้ชำระบัญชีโดยมิชอบให้แก่โจทก์เองโดยตรง ซึ่งโจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยเช่นนั้นไม่ เนื่องจากจำเลยไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือตามกฎหมายที่จะต้องคืนเงินสินทรัพย์ของบริษัท ท. ที่ตนได้รับไว้คืนให้แก่โจทก์

 

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2536

                      การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ฟ้องคดีในนามของตนเองนั้น นอกจากลูกหนี้จะต้องขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว การขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นนั้นจะต้องทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ด้วย ซึ่งหมายความว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีอยู่โดยไม่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องนั้นไม่พอจะชำระหนี้ หากลูกหนี้มีทรัพย์สินอยู่พอที่จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้แล้ว การที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง ก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์แต่ประการใด โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 1เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 19 ตามตั๋วเงินจำนวน 58,267,483.30 บาทแต่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า หากมีการชำระบัญชีถึงที่สุดจำเลยที่ 19 มีความสามารถชำระหนี้เป็นเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทแสดงว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 19 มีทรัพย์สินประมาณ 500 ล้านบาทซึ่งหากโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้จำนวนดังกล่าวจริง ทรัพย์สินของจำเลยที่ 19 ก็สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ครบถ้วน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 19 ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องก็ก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233มาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 ได้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ทั้งห้าชำระค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสิบเก้า จำนวน 5,000,000 บาท เป็นการไม่ชอบ ย่อมเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหานี้ จึงเป็นการไม่ชอบ การกำหนดค่าทนายความแก่ผู้ชนะคดีเป็นดุลพินิจของศาลซึ่งตามตาราง 6 ท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ชนะโดยพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้นเฉพาะในศาลชั้นต้นอัตราขั้นสูงไม่เกินร้อยละ 5 ของทุนทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความ 5,000,000 บาท เพราะเหตุคดีมีทุนทรัพย์สูงถึง 5,857 ล้านบาทเศษ และใช้เวลาพิจารณานานเกือบ7 ปี กับเมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดกับอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้ว อัตราที่ศาลชั้นต้นกำหนดยังต่ำกว่าที่กฎหมายให้อำนาจอยู่มาก จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายและเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2558

                              โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจำนองที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จากผู้รับจำนองเดิม จำเลยที่ 1 กับภริยาของจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ชำระหนี้ที่บุคคลทั้งสองเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 รวม 118,191,930.54 บาท แทนโดยจำเลยที่ 1 จะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ลดหนี้ของจำเลยที่ 1 กับภริยาที่โจทก์จะชำระแทนลงเหลือ 42,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์โดยรับเงินมัดจำ 400,000 บาท ไปจากโจทก์และตกลงให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือ 4,800,000 บาท ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ชำระเงินบางส่วน 3,561,499.63 บาท ให้จำเลยที่ 2 และชำระเงิน 1,000,000 บาท ให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย ที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องตามข้อกำหนดในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ทำกับจำเลยที่ 2 แล้ว ระหว่างนั้นโจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้บุคคลอื่นในราคา 70,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ติดต่อขอชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กับภริยา ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่รับชำระโดยแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจการทำนิติกรรมของโจทก์แล้ว โจทก์ติดต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ขายที่ดินทั้ง 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามข้อตกลง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนผู้ร้องอ้างในคำร้องว่า ก่อนหน้าโจทก์ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และภริยานั้น จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับผู้ร้องไว้ก่อน จากนั้นอีกวันผู้ร้องจึงทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ โจทก์อาศัยสิทธิจากการทำข้อตกลงดังกล่าวไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 กลับทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นการฉ้อฉลผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และจำเลยทั้งสอง จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ ดังนี้ข้ออ้างของผู้ร้องเป็นการตั้งข้อพิพาทโต้แย้งขึ้นมาใหม่ต่างจากข้อพิพาทที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยผู้ร้องมิได้มุ่งขอบังคับเกี่ยวกับทรัพย์พิพาทเป็นสำคัญ การร้องสอดของผู้ร้องจึงเสมือนเป็นอีกคดีหนึ่ง ผู้ร้องไม่มีความจำเป็นต้องร้องสอดเข้ามาในคดีอย่างแท้จริง ทั้งมิได้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) และไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)

 

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11102/2558

                 คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจดทะเบียนขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ราคา 50,000 บาท และวินิจฉัยว่าจำเลยใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากไม่ชอบเนื่องจากก่อนนำเงินสินไถ่ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์จำเลยไม่เคยมาพบโจทก์เพื่อขอชำระหนี้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกเป็นของโจทก์ และพิพากษาให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขายฝาก กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้แก้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงย่อมฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ในราคา 50,000 บาท จึงถือได้ว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งมีเพียง 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ 51,000 บาท โดยนำเงินที่จำเลยวางเป็นค่าใช้จ่ายการวางทรัพย์ 1,000 บาท มารวมเป็นทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากโดยชอบเพราะก่อนที่จำเลยจะนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์นั้น จำเลยได้พบโจทก์และขอให้โจทก์รับสินไถ่แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยย่อมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1) ปัญหาตามฎีกาของโจทก์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5870/2557

                  โจทก์เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ก. ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 ตามหนังสือแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท ก. เป็นลูกหนี้ของจำเลยโดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 บริษัท ก. ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโครงการ ค. ที่มีต่อบริษัท ค. ให้แก่จำเลยตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งบริษัทดังกล่าวชำระเงินให้แก่จำเลยไม่ตรงตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยจึงยื่นฟ้องบริษัท ค. ต่อศาลและเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท ค. ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสำเนาคำพิพากษา ต่อมาบริษัท ก. ถูกพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัท ก. ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในมูลหนี้ที่มีอยู่ตามสัญญากู้ยืมเงิน ขายลดตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด ทรัสต์รีซีท และจำนอง ตามสำเนาคำขอรับชำระหนี้และสัญญาจำนอง ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2546 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ค. เด็ดขาด ตามสำเนาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์แนวหน้าฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2546 และลงประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2546 ตามสำเนาประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สำเนาประกาศหนังสือพิมพ์และราชกิจจานุเบกษาซึ่งจำเลยไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ค. ปัญหาว่าการที่จำเลยไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของบริษัท ค. เป็นการละเมิดต่อกองทรัพย์สินของบริษัท ก. จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องข้อ 2 ระบุว่าการโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัท ก. จำกัด มีต่อบริษัท ค. ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการประกันหนี้ต่าง ๆ ของบริษัท ก. ที่มีต่อจำเลย ซึ่งหากจำเลยได้รับชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องต่ำกว่าหนี้สิน บริษัท ก. ยังคงต้องรับผิดในส่วนที่ขาดต่อโจทก์ตามสัญญาข้อ 8 ทั้งยังต้องรับผิดในมูลหนี้เดิมตามสัญญาข้อ 9 ภาระหนี้ที่บริษัท ก. จะต้องรับผิดต่อจำเลยจึงเป็นไปตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งเกิดจากความสมัครใจของบริษัท ค. ที่จะตกลงผูกพันเช่นนั้น เมื่อทั้งบริษัท ค. และบริษัท ก. ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2493 มาตรา 91 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทุกคน ส่วนจำเลยจะยื่นคำขอรับชำระหนี้คนใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้คนใดก็เป็นสิทธิของจำเลย และเมื่อไม่ปรากฏว่าการงดเว้นไม่ขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทเป็นการงดเว้นการใช้สิทธิซึ่งมีความประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ก. การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อกองทรัพย์สินของบริษัท ก. จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้รับผิดค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557

                  ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ขอฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นข้อกฎหมายที่โจทก์จะยกอายุความสิทธิเรียกร้องมาบังคับให้จำเลยที่ 1 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเฉพาะส่วนที่ไม่ขาดอายุความ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แม้นิติบุคคลอาคารชุดจะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชำระหนี้อันเกิดจากหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 แต่เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอายุความ 5 ปี โจทก์จึงมีสิทธิขอชำระเพียงหนี้ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ถือเป็นการกล่าวชัดแจ้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย
                 ค่าใช้จ่ายส่วนกลางซึ่งเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติขึ้นภายหลัง ป.พ.พ. และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของเจ้าของร่วมก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่ไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ได้บัญญัติไว้แล้ว ค่าปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน มิใช่เป็นกรณีที่ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้อันจะต้องนำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด
                   ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ
                     โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์มิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่การที่โจทก์มีภาระหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้สินค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีและตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 นั่นเอง ชอบที่โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 376 เมื่อหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินค้างจ่าย มีอายุความ 5 ปี และโจทก์ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์จึงคงรับผิดรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่าปรับไว้อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ก็ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20338/2556

                  การที่โจทก์สั่งจ่ายเช็ค 13 ฉบับ ระบุชำระหนี้เงินต้นแทน ส. และเช็คทุกฉบับเรียกเก็บเงินได้แล้ว โดยจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิเสธการชำระหนี้ดังกล่าวทั้งที่อาจปฏิเสธได้เพราะเป็นการชำระหนี้แตกต่างจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 329 กำหนด จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจะนำเงินจำนวนตามเช็คไปหักชำระหนี้ของ ส. เฉพาะเงินต้นเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงนำไปหักชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ก่อนมิได้

 

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13389/2555
 

                  ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาตัวแทนหรือไม่ โดยใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์จำเลยทั้งสองแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ที่สืบมาฟังไม่ได้ตามข้อกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาตัวแทนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยไปตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในมูลหนี้เงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน กรณีจึงต้องวินิจฉัยไปถึงมูลดังกล่าวว่าจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระหรือไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จะซื้อจะขายไปโดยไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาตัวแทน การที่โจทก์ไม่อาจดำเนินการโอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงถือได้ว่าเป็นกรณีการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายโจทก์ต้องรับผิดชอบ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายที่รับผิดจำต้องส่งคืนมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินมัดจำตามฟ้อง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมาทั้งหมด ไม่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11027/2555

                       จำเลยที่ 4 รับว่าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 บริษัท ย. และ บริษัท อ. ไว้แก่โจทก์รวม 5 ฉบับ และจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นเงินรวม 3,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 4 จำนองที่ดินไว้ต่อโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 4 เอง รวมถึงที่จำเลยที่ 4 ได้ค้ำประกันหนี้สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับบริษัทในเครือดังกล่าวที่มีอยู่ต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองในวงเงิน 3,000,000 บาท ดังนั้น เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และจำเลยที่ 4 ได้ขอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามจำนวนเงินในสัญญาค้ำประกันรวม 5 ฉบับ เป็นเงิน 3,000,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อความรับผิดของจำเลยที่ 4 ตามสัญญาค้ำประกันทั้งหมด และโจทก์มิได้นำสืบให้ชัดว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 4 ชำระยังไม่เพียงพอต่อความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพราะยังมีดอกเบี้ยหรือค่าอุปกรณ์อื่น ๆ อีก จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 4 ชำระหนี้ครบถ้วนตามความรับผิดในสัญญาค้ำประกันแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 701 วรรคสอง

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19860/2555

                        แม้โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่ประมูลซื้อมาได้เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ อันเป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ก็ตาม แต่โจทก์ย่อมมีสิทธิในห้องชุดพิพาทในฐานะผู้ซื้อที่สุจริต และมีสิทธิที่จะขอให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ได้หากโจทก์ได้ชำระหนี้ที่เจ้าของเดิมของห้องชุดพิพาทค้างชำระ เช่นนี้ การที่โจทก์ขอชำระหนี้ของห้องชุดพิพาทที่ค้างชำระและขอให้ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังมีข้อโต้แย้งกันว่ายอดหนี้ค้างชำระของห้องชุดพิพาททั้งในส่วนค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับหรือเงินเพิ่มมีจำนวนเท่าใด ตลอดจนจำเลยที่ 1 จะเรียกให้โจทก์ชำระได้มากน้อยเพียงใด จึงเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวด้วยยอดหนี้ค้างชำระของห้องชุดพิพาทที่โจทก์จะต้องรับผิดชำระให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
 
 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 642/2555

                     ธนาคาร ก. ตกลงให้นำหนี้ของบริษัท น. และบริษัท ท. มารวม และให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้ ตามสัญญากู้เงินโดยมีโจทก์เป็นผู้กู้ ส่วนบริษัท น. และบริษัท ท. เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อพิเคราะห์บัญชีที่โจทก์จัดทำขึ้น โจทก์ได้บันทึกบัญชีว่า บริษัท น. และบริษัท ท. เป็นลูกหนี้เงินกู้ระยะยาว แต่ไม่ได้บันทึกดอกเบี้ยรับไว้ในบัญชี ตามสมุดรายวันทั่วไปของโจทก์ มีรายได้ดอกเบี้ยรับเงินกู้ระยะยาวจากบริษัท น. และบริษัท ท. อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงินและข้อมูลทางบัญชีเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของกิจการของโจทก์ พยานหลักฐานดังกล่าวย่อมฟังได้ว่าโจทก์ให้บริษัท น. และบริษัท ท. ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบริษัทโจทก์กู้ยืมเงิน เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5) 
กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นข้อที่โจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาล

 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8260/2550

                     จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์ซึ่งเป็นหนี้เงินจำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ เพราะการชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยเสนอชำระหนี้โดยให้โจทก์รับโอนทรัพย์จำนองแทนการชำระหนี้ด้วยเงิน จึงมิใช่เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ โจทก์ย่อมมีเหตุผลที่จะปฏิเสธการรับชำระหนี้ได้โจทก์จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207
มาตรา 733 แห่ง ป.พ.พ. เป็นบทบัญญัติสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณีโดยเฉพาะ และมิได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไปหรือธรรมเนียมประเพณีของสังคม จึงไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์อาจตกลงกับจำเลยเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ได้

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6605/2550

                    การรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 117 ถึงมาตรา 123 โดยทรัพย์สินซึ่งรวบรวมได้มานั้นมาตรา 123 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่จะนำออกขายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด ภายใต้เงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ เมื่อผู้คัดค้านขายสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อผู้ร้องในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าวโดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ จึงเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย
 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847/2548

                 ตามสัญญาร่วมชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ว่า การที่ผู้ให้สัญญายอมเข้าร่วมชำระหนี้กับผู้เช่าบริการโทรศัพท์ ไม่ทำให้คู่สัญญาเดิมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเดิมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิม จึงมิใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่ สัญญาเดิมไม่ระงับและการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์ก็ไม่ใช่การรับสภาพหนี้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แม้จะมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ก็มิใช่เงินที่ต้องผ่อนชำระทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระตั้งแต่งวดที่ 2 คือวันที่ 7 มิถุนายน 2536 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอคิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 40,703 บาท นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 7 มิถุนายน 2536 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยค้างชำระมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) โจทก์จึงฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2538 ไม่ได้เพราะขาดอายุความ 5 ปี คงเรียกได้เฉพาะดอกเบี้ยหลังจากวันที่ 30 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไปเท่านั้น

 

 

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้