คดีเช่าทรัพย์,คดีเช่าซื้อ - ทนายนิธิพล

Last updated: 27 ต.ค. 2564  |  26195 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีเช่าทรัพย์,คดีเช่าซื้อ - ทนายนิธิพล

 

                                                       คดีเช่าทรัพย์

มาตรา 537 อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง ชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่ง อย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่า มีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา 539 ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาเช่านั้น คู่สัญญาพึงออกใช้เสมอกัน ทั้งสองฝ่าย

มาตรา 540 อันอสังหาริมทรัพย์ ท่านห้ามมิให้เช่ากันเป็นกำหนดเวลาเกินกว่า สามสิบปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นท่านก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี อนึ่งกำหนดเวลาเช่าดังกล่าวมานี้ เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้ แต่ต้อง อย่าให้เกินสามสิบปีนับแต่วันต่อสัญญา

มาตรา 541 สัญญาเช่านั้นจะทำกันเป็นกำหนดว่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือ ของผู้เช่าก็ให้ทำได้ 


มาตรา 542 บุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์อันเดียวกันอาศัยมูลสัญญาเช่า ต่างราย ท่านว่าทรัพย์ตกไปอยู่ในครอบครองผู้เช่าคนใดก่อนด้วยสัญญาเช่าทรัพย์นั้น คนนั้นมีสิทธิ ยิ่งกว่าคนอื่น ๆ

มาตรา 543 บุคคลหลายคนเรียกร้องเอาอสังหาริมทรัพย์อันเดียวกัน อาศัย มูลสัญญาเช่าต่างราย ท่านให้วินิจฉัยดังต่อไปนี้ (1) ถ้าการเช่านั้นเป็นประเภทซึ่งมิได้บังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องจดทะเบียน ท่านให้ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้ทรัพย์สินไปไว้ในครอบครองก่อนด้วยสัญญาเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่า คนอื่น ๆ (2) ถ้าการเช่าทุก ๆ รายเป็นประเภทซึ่งบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องจดทะเบียน ท่านให้ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้จดทะเบียนการเช่าของตนก่อนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่น ๆ (3) ถ้าการเช่ามีทั้งประเภทซึ่งต้องจดทะเบียนและประเภทซึ่งไม่ต้องจดทะเบียน ตามกฎหมายยันกันอยู่ไซร้ ท่านว่าผู้เช่าคนที่ได้จดทะเบียนการเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่า เว้นแต่ ผู้เช่าคนอื่นจะได้ทรัพย์สินนั้นไปไว้ในครอบครองด้วยการเช่าของตนเสียก่อนวันจดทะเบียนนั้น แล้ว

มาตรา 544 ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีใน ทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่ จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า ถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา 545 ถ้าผู้เช่าเอาทรัพย์สินซึ่งตนเช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงอีกทอดหนึ่งโดยชอบ ท่านว่าผู้เช่าช่วงย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง ในกรณีเช่นว่านี้หากผู้เช่าช่วงจะได้ใช้ค่าเช่า ให้แก่ผู้เช่าไปก่อน ท่านว่าผู้เช่าช่วงหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ให้เช่าได้ไม่ อนึ่งบทบัญญัติอันนี้ไม่ห้ามการที่ผู้ให้เช่าจะใช้สิทธิของตนต่อผู้เช่า

 

 

                                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ 

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2498

                           โจทก์เถียงว่าจำเลยทำนาโจทก์โดยการเช่า แม้สัญญาเช่าจะสิ้นแล้วแต่จำเลยยังคงทำต่อมา เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยได้เช่าต่อมาโดยไม่มีกำหนดและจำเลยครอบครองไว้แทนโจทก์ไม่ใช่เพื่อตนเอง จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิ แต่คดีได้ความว่าชั้นต้นจำเลยเช่าแต่ตอนหลังโจทก์จะไปเก็บค่าเช่า จำเลยไม่ยอมให้ทั้งบอกว่าเป็นที่ของจำเลยมิได้เช่าจากโจทก์แล้ว ดังนี้ก็เป็นการแสดงว่าจำเลยถือตนว่าเป็นเจ้าของนานั้น และไม่ยอมตนว่าเป็นผู้ครอบครองแทนโจทก์ฐานผู้เช่าต่อไปแล้ว (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381) โจทก์ต้องฟ้องภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องภายในกำหนดคดีโจทก์จึงขาดอายุความ

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10255/2551

                         จำเลยเข้าอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจาก ฮ. การที่จำเลยครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าใหม่และไม่ชำระค่าเช่า ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากยึดถือแทนเป็นยึดถือเพื่อตน จำเลยจึงเป็นผู้ยึดถือทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง จำเลยจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนอีกต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่มีเจตนายึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง การได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 (เดิม) เป็นคนละเรื่องกับความรับผิดของคู่ความฝ่ายแพ้คดีที่จะต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 (เดิม) ดังนั้น แม้จำเลยจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา แต่เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองได้

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1606/2498
                         ผู้เช่าเช่านาซึ่งไม่มีหนังสือสำคัญแล้วต่อมาได้ฟ้องเจ้าของนาต่อสู้กรรมสิทธิคดีถึงที่สุด ผู้เช่าแพ้คดี ศาลฟังว่าเป็นการเช่านากัน เจ้าของนาจึงฟ้องขอให้ขับไล่ ผู้เช่าจะอ้างว่าได้มีเจตนาถือสิทธิในที่พิพาทแล้วตั้งแต่วันฟ้องคดีแรกเจ้าของนามิได้ฟ้องผู้เช่าเสียภายใน 1 ปีจึงขาดอายุแล้ว เช่นนี้มิได้ เพราะผู้เช่าจะต้องแจ้งให้ผู้ให้เช่ารู้เสียก่อนว่าตนได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือไม่ยึดถือไว้แทนผู้ให้เช่าต่อไป จึงจะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 765/2538

                          แม้ที่ดินที่ปลูกบ้านพิพาทถูกเวนคืนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1304ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎรแต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกันโจทก์มีสิทธิยึดถือและใช้สอยบ้านพิพาทกับมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้ใดเกี่ยวข้องในสถานะเช่นเดียวกับเจ้าของเมื่อจำเลยเป็นคู่สัญญาผู้เช่าบ้านพิพาทยอมรับสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าและได้รับประโยชน์ในบ้านพิพาทที่เช่าจำเลยจะเถียงว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่เมื่อการเช่าสิ้นสุดลงเพราะจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซึ่งโจทก์บอกเลิกการเช่าโดยชอบแล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระได้และการที่จำเลยอยู่ต่อมาได้ชื่อว่าอยู่โดยละเมิดสิทธิโจทก์จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย คดีไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามที่ฟ้องปัญหาเรื่องค่าเสียหายจึงเป็นประเด็นโดยตรงที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยแม้ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยแต่เมื่อโจทก์และจำเลยต่างก็นำสืบจนคดีเสร็จสำนวนแล้วศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่อีก
 
 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 410/2515

                        ในการให้เช่าทรัพย์สินนั้น ผู้ให้เช่าหาจำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นเสมอไปไม่ ฉะนั้น เมื่อจำเลยยินยอมทำสัญญาเช่าที่ดินจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะเป็นผู้ให้เช่าและมีอำนาจฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาเช่าได้ จำเลยย่อมถูกปิดปากมิให้คัดค้านโต้แย้งอำนาจของผู้ให้เช่าซึ่งตนยอมรับว่ามีฐานะเช่นนั้นตามสัญญาเช่าซึ่งตนได้ทำไว้กับโจทก์แล้วนั้นได้

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2517
 
                     

                         การได้มาซึ่งที่ดิน แม้จะเป็นเพียงสิทธิครอบครองในฐานะเจ้าของ ก็ต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 ด้วย เมื่อโจทก์ (ซึ่งเป็นคนต่างด้าว) มิได้ยื่นคำขออนุญาตให้ได้มาซึ่งที่พิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8(พ.ศ.2497)ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ข้อ 2 และไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ตามความในมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแม้โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินต่อกัน สัญญาดังกล่าวก็เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการโอนสิทธิครอบครองให้คนต่างด้าว อันเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 และ 111 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 โจทก์จึงอ้างว่ามีสิทธิครอบครองอย่างเจ้าของไม่ได้
โจทก์อ้างความเป็นเจ้าของสิทธิครอบครอง จึงมีอำนาจให้เช่าที่พิพาท ไม่ได้อ้างสิทธิอย่างอื่น จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ เมื่อวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาทแล้วโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และให้จำเลยเช่าที่พิพาทกับเรียกค่าเช่าที่ค้างจากจำเลยได้
 
                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1058/2500

                           การที่โจทก์ทำสัญญาเช่าที่วัดซึ่งเป็นจำเลยมีกำหนด10 ปีโดยมีข้อตกลงว่าโจทก์จะทำการก่อสร้างห้องแถวลงในที่เช่า มีจำนวนห้องที่จะต้องสร้างระบุไว้จำเลยได้ส่งมอบที่ให้โจทก์บางส่วน ยังไม่ครบตามสัญญาและโจทก์ได้ก่อสร้างห้องแถวลงบ้างแล้วต่อมาจำเลยไม่ส่งมอบที่ให้โจทก์เพื่อก่อสร้างห้องต่อไปตามสัญญาเมื่อศาลวินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญา บังคับให้จำเลยส่งมอบที่ตามสัญญาให้แก่โจทก์ศาลบังคับให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนสัญญาเช่ามีระยะเวลา 10 ปีตามที่ตกลงกันไว้ได้

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1346/2517
 

                         เมื่อห้องแถวซึ่งเป็นวัตถุแห่งการเช่าถูกไฟไหม้หมดสิ้นสัญญาเช่าย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567
ทรัพย์สินที่เช่าได้สูญหายไปหมดสิ้นเพราะถูกไฟไหม้โดยมิใช่ความผิดของโจทก์ผู้เช่า และโจทก์ยังใช้ทรัพย์สินที่เช่าไม่ครบถ้วนตามอายุการเช่า เมื่อสัญญาเช่ามิได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า ผู้เช่าไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าบางส่วนคืนจากผู้ให้เช่าในกรณีที่ทรัพย์สินที่ให้เช่าได้สูญหายไปเพราะเหตุใด ๆ แล้วโจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเช่าห้องแถวที่ได้ชำระให้แก่จำเลยผู้ให้เช่าไปแล้วนั้น คืนตามส่วนถัวของระยะเวลาที่โจทก์ไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7/2517)
เงินค่าใช้จ่ายในการทวงถามของทนายความซึ่งโจทก์ได้จ่ายไปแล้วนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินจำนวนนี้

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3134/2549

                          โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินกับกรมการศาสนาเพื่อปลูกสร้างอาคารห้างสรรพสินค้า โดยตกลงว่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมการศาสนาทันที แล้วโจทก์มีสิทธิเช่าอาคารดังกล่าว 30 ปี นับแต่วันที่กรมการศาสนารับมอบอาคารนั้น ถือได้ว่ากรมการศาสนาได้กรรมสิทธิ์ในอาคารนั้นมาโดยทางนิติกรรมด้วยการจำหน่ายจ่ายโอนของโจทก์ ต้องด้วยบทนิยามคำว่า "ขาย" ตามมาตรา 91/1 (4) แห่ง ป. รัษฎากร เมื่อโจทก์ขายอาคารห้างสรรพสินค้าดังกล่าวภายในกำหนด 3 ปี นับแต่เดือนที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวย่อมเป็นภาษีซื้อที่นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่ง ป. รัษฎากร ไม่ได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 82/5 (6) แห่ง ป. รัษฎากร ประกอบด้วยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 (6) แห่ง ป. รัษฎากร

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2515

                         แม้หน้าคำฟ้องในช่องคู่ความใส่เพียงชื่อโจทก์โดยไม่ได้บอกฐานะไว้ แต่ตามคำบรรยายฟ้องกล่าวว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องพิพาทดังนี้หาใช่โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวไม่
เงินค่าซ่อมแซมห้องที่ผู้เช่าให้ผู้ให้เช่าเพื่อที่จะได้เช่าห้องต่อไปมีลักษณะเป็นเงินกินเปล่า เป็นการเช่าธรรมดามิใช่สัญญาต่างตอบแทนนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดา
 
 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2512

                         ทำสัญญาเช่าห้องแถวสองชั้นฉบับแรกมีกำหนด 3 ปีระหว่างอายุสัญญาเช่าได้ทำสัญญาอีก 1 ฉบับ โดยผู้ให้เช่ารับจะให้เช่าห้องดังกล่าวต่อจากสัญญาเช่าฉบับแรกอีก 9 ปี และผู้เช่ารับภาระซ่อมแซมต่อเติมพื้นประตูและทำชั้นที่สามเพิ่ม ทั้งได้ทำการเหล่านี้แล้วสัญญาฉบับหลังย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดา
ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องมีเอกสารมาแสดงหรือบังคับให้จดทะเบียน

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2530

                         สัญญาเช่าห้องพิพาทไม่มีข้อความบ่งว่ามีข้อตกลงพิเศษที่โจทก์จะให้เช่าถึง 10 ปี ที่จำเลยเข้าซ่อมแซมต่อเติมปรับปรุงห้องพิพาทกับจ่ายเงินกินเปล่าแก่โจทก์ จึงเป็นธรรมดาของผู้เช่าที่จะต้องกระทำเพื่อซ่อมแซมตกแต่งปรับปรุงให้สวยงามและมีความสะดวกในการใช้สอยให้ได้รับอย่างสมประโยชน์ ส่วนเงินกินเปล่าย่อมถือเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า สัญญาเช่าห้องพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งไปกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2548

                         ตึกแถวพิพาทมีมาแต่เดิมแล้ว โจทก์ได้ทำสัญญาให้ อ. เช่าตึกแถวพิพาทดังกล่าวพร้อมที่ดิน อ. ไม่ได้ช่วยค่าก่อสร้างให้โจทก์ ดังนี้ แม้ อ. ได้จ่ายเงินให้ ส. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ขายตึกแถวพิพาทและสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่ อ. เป็นเงินจำนวน 1,400,000 บาทก็ดี หรือ บ. ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจาก ส. และ ส. จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้ บ. ก็ดี ก็ถือได้ว่าเป็นเพียงเงินที่จ่ายให้แก่กันเพื่อรับโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทจากบุคคลที่มีสิทธิก่อนตน คือจาก ส. มาเป็น อ. หรือจาก บ. มาเป็น ส. เท่านั้น หาใช่เงินค่าก่อสร้างไม่ และไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับ อ. มีลักษณะตอบแทนเป็นพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าทรัพย์ธรรมดาแต่อย่างใด

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2211/2516
                         
การที่ผู้ให้เช่ารับเงินกินเปล่าไว้จากผู้เช่านั้น หาใช่เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ไม่ หากแต่เป็นการรับไว้เนื่องจากผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่าทำสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าไม่ให้ผู้เช่าอยู่ครบกำหนดตามที่ตกลงกัน ผู้เช่าเรียกเงินกินเปล่าคืนเพราะผู้ให้เช่าผิดสัญญาจะต้องใช้อายุความทั่วไป ซึ่งมีกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
สัญญาเช่ามิได้จดทะเบียนมีผลบังคับเพียง 3 ปี แต่เมื่อผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่าไม่ทักท้วงย่อมถือได้ว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญากันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 ดังนั้น ตราบใดที่ผู้เช่ายังเช่าห้องพิพาทอยู่ สิทธิเรียกร้องเงินกินเปล่าของผู้เช่าจึงยังไม่เกิดขึ้น
 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2525

                         เงินที่จำเลยชำระให้แก่ผู้เช่าเดิมเพื่อให้ผู้เช่าเดิมออกไปจากตึกพิพาทก็เพื่อจำเลยจะได้เช่าตึกพิพาทจากโจทก์ผู้ให้เช่าต่อไป ซึ่งโจทก์มิได้รับประโยชน์จากเงินจำนวนดังกล่าว จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษ ส่วนการซ่อมแซมปรับปรุงตึกพิพาทสิ้นเงินไปจำนวนหนึ่ง ก็เป็นการซ่อมแซมปรับปรุงตึกของโจทก์ซึ่งมีพร้อมอยู่แล้ว มิได้ก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ และเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสะดวกสบายของจำเลยฝ่ายเดียว ถือไม่ได้ว่าเป็น สัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษเช่นกัน

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4392/2547
 

                         ต. ให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 30 ปี และจะให้จำเลยที่ 1 เช่าต่อไปอีก 30 ปี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงถ้าจำเลยที่ 1 ต้องการ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ ต. กู้ยืมเงิน 300,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินพิพาท การกู้ยืมเงิน ต. จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังไม่เรียกให้ ต. ชำระดอกเบี้ยนับแต่กู้ยืมเงินแต่ให้ชำระเมื่อครบกำหนดการเช่า 30 ปี ถ้ามีการต่ออายุสัญญาเช่าเป็นงวดที่สองอีก 30 ปี จำเลยที่ 1 จะไม่เรียกร้องดอกเบี้ยดังกล่าว ดังนี้ การได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับโดยสมบูรณ์ในตัวของแต่ละสัญญา สัญญาทั้งสองประเภทแม้จะผูกโยงสิทธิประโยชน์ต่อกัน แต่โดยผลแห่งสัญญาแล้ว แต่ละฝ่ายได้ป้องกันสิทธิอันจะก่อผลได้เสียภายหน้าของแต่ละสัญญาแล้ว ถ้าหากมี หาใช่ข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าตามปกติ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่าง ต. กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
ข้อความตามข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงคำมั่นของ ต. ว่าจะให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพัน ต. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สนองรับก่อน ต. ถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รู้อยู่แล้วว่า ต. ถึงแก่ความตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนด 30 ปี กรณีก็ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่ามิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นของ ต. ย่อมไม่มีผลบังคับ และไม่เป็นมรดกของ ต. จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เช่าให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนต่ออายุการเช่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 อีก 30 ปีไม่ได้
 

                                                 คดีเช่าซื้อ

 

มาตรา ๕๗๒ อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ

มาตรา ๕๗๓ ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง

มาตรา ๕๗๔ ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
       อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง 

                              คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6862/2550

                          ป.พ.พ. มาตรา 572 เช่าซื้อคือสัญญาซึ่ง "เจ้าของ" เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ซึ่งผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น "เจ้าของ" แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคต หาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ "เจ้าของ" จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อและหมายรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย เมื่อ ค. ได้ซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทมาจาก ห. โดย ห. ได้ทำหนังสือมอบอำนาจโอนลอยทางทะเบียนให้ ค. ไว้แล้ว เพียงจะนำไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดย ค. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ด้วย เท่ากับว่าจะโอนเป็นชื่อของบริษัทโจทก์เมื่อใดก็ได้ ต่อมาโจทก์ได้ให้ ห. เช่าซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาท และ ห. นำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย ดังนั้น กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น "เจ้าของ" รถแทรกเตอร์คันพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ห. ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์โดยไม่นำค่าเช่าซื้อที่ค้างไปชำระให้แก่โจทก์แต่กลับนำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดรถแทรกเตอร์คันพิพาทไว้จำต้องคืนให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ได้ใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336

 

 

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1617/2515

                          สัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่า ในวันทำสัญญา ผู้เช่าซื้อได้ชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้ให้เช่าซื้อแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนค่าเช่าที่เหลือจะชำระในวันที่กำหนดในสัญญาอีกงวดหนึ่ง ถือได้ว่าได้มีการตกลงชำระค่าเช่าซื้อกันเป็น 2 งวด และข้อตกลงว่าถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดสัญญาเช่าซื้อทั้งหมดไม่ขัดต่อมาตรา 574 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาแล้วนอกจากผู้ให้เช่าซื้อจะมีสิทธิเอาทรัพย์คืนและริบเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระไปแล้ว ผู้เช่าซื้อยังต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามที่ตกลงไว้ในสัญญาด้วย
คำฟ้องบังคับให้ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อ โดยมิได้บรรยายถึงว่า ผู้ให้เช่าซื้อเอาทรัพย์ที่เช่าซื้อกลับคืนแล้ว ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา ไม่จำต้องกล่าวในฟ้อง

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4024/2526

                         สัญญาท้ายฟ้องระบุราคารถยนต์ที่ซื้อขายเป็นเงิน 130,650 บาท โดยตกลงกันในข้อ 2 ว่า ผู้ซื้อจะชำระราคาแก่ผู้ขายเป็นรายเดือน เดือนละ 4,355 บาท รวม 30 เดือนและระบุไว้ในข้อ 10 ว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายยังเป็นของผู้ขายโดยไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าผูขายจะได้รับชำระค่าซื้อครบถ้วน ตามสัญญาแล้ว สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 ไม่ใช่เป็นสัญญาเช่าซื้อ แม้จะมีข้อ 11 ระบุว่าหากผู้ซื้อผิดสัญญา สัญญาเลิกกันทันทีโดยผู้ขายมิต้องบอกกล่าวและมีสิทธิเอารถคืนโดยไม่ต้องคืนเงินที่ผู้ซื้อชำระแล้ว ก็เป็นเพียงการรักษาผลประโยชน์ของผู้ขายเท่านั้น หาทำให้สัญญาซื้อขาย กลับกลายเป็นสัญญาเช่าซื้อไม่

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2872/2535

                          สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์จำเลย ใช้ชื่อสัญญาว่าจะซื้อขายที่ดิน มีข้อสัญญาว่า จำเลยผู้ขายตกลงแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่...ขายให้แก่โจทก์ผู้ซื้อเนื้อที่ 1 งาน ผู้ซื้อตกลงซื้อที่ดินจากผู้ขายโดยผ่อนชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายใน 60 เดือน เดือนละ 500 บาทนับแต่เดือน...รวมเป็นเงิน 30,000 บาท ผู้ซื้อมีสิทธิทำประโยชน์ทันทีที่ชำระเงินงวดแรก ผู้ขายจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ผู้ซื้อทันทีที่ชำระเงินงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า สาระสำคัญของสัญญาดังกล่าวได้ระบุราคาที่ดินที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ผู้ซื้อจะชำระราคาเป็นงวดรายเดือน และระบุว่าเมื่อโจทก์ชำระราคางวดสุดท้ายเสร็จจำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้โจทก์ทันทีจึงเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่มีเงื่อนไขหรือข้อสัญญาที่โจทก์จะต้องปฏิบัติต่อไปจนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไข ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เสียก่อน จำเลยจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ สัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าจำเลยเอาที่ดินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายที่ดินนั้นหรือจะให้ที่ดินนั้นตกเป็นสิทธิแก่โจทก์ โดยเงื่อนไขที่โจทก์ได้ใช้เป็นเงินจำนวนเท่านั้นคราวเท่านี้คราว ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา572 และไม่มีข้อตกลงที่แสดงว่าโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ด้วยการไม่ชำระราคาต่อไปโดยส่งมอบที่ดินคืนแก่จำเลย และถ้าหากโจทก์ผิดนัดไม่ชำระราคา 2 งวด ติดต่อกันจำเลยบอกเลิกสัญญาได้และริบเงินที่ได้ใช้มาแล้วได้ด้วย อันเป็นวิธีการของสัญญาเช่าซื้อตามมาตรา 573,574 ดังนั้น ข้อความในสัญญาจึงไม่อาจแปลได้ว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อที่ดิน แม้จำเลยจะออกใบเสร็จรับเงินราคาที่ดินที่โจทก์ผ่อนชำระรายเดือนว่าค่าเช่าซื้อที่ดินให้โจทก์ก็เป็นการกระทำของจำเลยฝ่ายเดียว ไม่อาจทำให้เป็นสัญญาเช่าซื้อที่ดินไปได้.
 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3350/2542

                         แม้ขณะทำสัญญาเช่าซื้อผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เช่าซื้อก็ตามแต่ผู้ให้เช่าซื้อก็อาจปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามสัญญาเช่าซื้อได้ หรือหากไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อก็เป็นกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งจะต้องรับผิดต่อไปดังนั้น ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือไม่นั้นไม่ทำให้ความสมบูรณ์แห่งสัญญาเช่าซื้อเสียไป สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่สมบูรณ์บังคับได้ตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ โดยบรรยายฟ้องว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 4 เป็นต้นมา ตามคำฟ้องดังกล่าวสาระสำคัญอยู่ที่ว่าทำสัญญากันเมื่อใด และจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด อันเป็นมูลเหตุที่ทำให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองรับผิด เมื่อโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในระหว่างที่สัญญายังไม่เกิด จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมขัดกันไม่อาจเข้าใจได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกกันชำระมิได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกเรื่องฟ้องเคลือบคลุมขึ้นเป็นข้อต่อสู้แต่จำเลยที่ 2 ได้ให้การในเรื่องนี้ไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งทำโดยจำเลยที่ 2 ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 1 ด้วย เพราะมิใช่เป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 59(1) จึงต้องถือว่าฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เคลือบคลุมด้วย
 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1249/2526

                       โจทก์ในฐานะผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิที่จะยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์คันพิพาท ตลอดจนมีหน้าที่ดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี เมื่อรถยนต์เกิดความเสียหายขึ้นไม่ว่าในกรณีใดๆโจทก์ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระจนครบเมื่อได้ใช้เงินให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว รถยนต์ก็ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ทั้งโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยโดยตรง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
กรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความว่า 'การชน ย. บริษัทจะใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาประกันภัยต่อรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ติดประจำเนื่องจาก ย.การชนหรือคว่ำหรือไฟไหม้อันเกิดจากการชนหรือคว่ำ' ย่อมคุ้มครองถึงอุบัติเหตุที่เกิดจากรถคว่ำด้วย โดยไม่ได้จำกัดว่าการคว่ำนั้นเกิดเพราะเหตุใด เมื่อปรากฏว่ารถยนต์คันพิพาทเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2550

                        แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระทั้งหมดเป็นของเจ้าของ และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลัน แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อไว้ไม่ทักท้วง แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 35 เป็นเวลา 9 งวด จำเลยมีหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองแจ้งให้มาติดต่อชำระหนี้ภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามหนังสือดังกล่าว และชำระหนี้ให้แก่จำเลยเป็นเช็ค 5 ฉบับ แล้วจำเลยยอมรับเช็คดังกล่าวไว้นำไปเรียกเก็บเงินได้ 3 ฉบับ แสดงว่าจำเลยยอมรับชำระหนี้จากโจทก์ที่ 1 ตามเงื่อนไขในหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ได้ ถือว่าจำเลยประสงค์จะให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับกันต่อไป ครั้นเมื่อเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ที่ 1 จึงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดดังกล่าวอีก หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 1 จะต้องบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในเวลาอันสมควรเสียก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อจำเลยยังไม่บอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา
หลังจากโจทก์ที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าแล้วจำเลยได้ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองทราบว่า จำเลยมายึดรถยนต์คืน โจทก์ทั้งสองก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยอย่างใด โจทก์ที่ 1 เพิ่งจะมอบให้ทนายความมีหนังสือขอให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนหลังเวลาล่วงเลยมาถึง 5 เดือน ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาเลิกกันด้วยเหตุอื่นมิใช่การเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป การที่จำเลยยึดรถยนต์คืนจึงไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์คืนหรือให้ใช้ราคาแทนและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ ส่วนจำเลยก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าติดตามรถ ค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อที่ระงับไปแล้วได้ แต่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จะต้องใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่จำเลยในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตามค่าแห่งการนั้น ๆ ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดค่าเสียหายดังกล่าวร่วมกับโจทก์ที่ 1 ด้วย

 

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3238/2552

                      การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ ท. และโจทก์ได้เรียกเก็บเงินค่าเปลี่ยนสัญญา ค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนโดยใช้แบบพิมพ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าตรวจสภาพรถ ค่าปรับล่าช้าและสั่งจ่ายเช็ครวม 6 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าและโจทก์ยึดรถจากผู้ครอบครองคือ ท. และเป็นการยึดรถที่จังหวัดยโสธรอันเป็นภูมิลำเนาของ ท. ซึ่งโจทก์รับในฎีกาว่ายึดรถยนต์ได้จาก ท. พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็น ท. นั้น โจทก์จะไม่อนุมัติในภายหลัง สัญญาเช่าซื้อก็เป็นอันเลิกกันแล้วนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703/2536

                       แม้จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 2 คราวติดต่อกัน โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็ไม่ได้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามข้อสัญญาโดยยังคงถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความผูกพันต่อกันตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป การที่ต่อมาจำเลยที่ 1 นำรถที่เช่าซื้อไปคืนให้แก่โจทก์ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ตามข้อสัญญาและตามมาตรา 573 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันตามมาตรา 573นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ มิใช่กรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย หรือประพฤติผิดสัญญาอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชดใช้ราคาค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ตามข้อสัญญา เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามมาตรา 573 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 3 งวด ก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันดังกล่าว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเลิกนั้นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3ได้ด้วย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247

 

 

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้