Last updated: 26 ก.ค. 2565 | 16740 จำนวนผู้เข้าชม |
คดีฟ้องหย่านั้นมีสาระสำคัญ
มาตรา 1516 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติเรื่อง เหตุฟ้องหย่า ไว้ดังนี้
(1) สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง
ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปีอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิด
การกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควรอีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี
หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริต
ถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ
1. สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่41351/2541
บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เป็นการระงับข้อพิพาทในเรื่องการหย่าโดยตรงโดยเฉพาะข้อตกลงซึ่งระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงที่จะ ไม่ทำการจดทะเบียนหย่าซึ่งกันและกัน และโจทก์ยอมจ่ายเงิน ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินบำเหน็จหรือบำนาญให้แก่จำเลย ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ย่อมทำให้ประเด็นเรื่องการหย่าซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยยอมสละระงับสิ้นไปตามมาตรา 852 ในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความใดระบุว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ จึงไม่อาจแปลสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นเรื่องจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ กับโจทก์ แต่กรณีเป็นเรื่องจำเลยมีสิทธิที่จะหย่าโจทก์ได้ เนื่องจากโจทก์มีภริยาอีกคนหนึ่งและทิ้งร้างจำเลยไป การที่ โจทก์ยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นเรื่อง ที่โจทก์ไม่ยินยอมหย่ากับจำเลย และจำเลยสละสิทธิที่จะขอหย่ากับโจทก์โดยจำเลยขอรับค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนเท่านั้น แม้จำเลยทราบดีว่าเมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์จำเลย ก็ต้องแยกกันไปทำมาหากินเช่นเดิมก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติต่อจำเลย นับแต่โจทก์ทิ้งร้างจำเลยจนกระทั่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนั้นย่อมไม่เปิดโอกาสให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ได้ ก็ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีความสมัครใจที่จะ แยกกันอยู่กับโจทก์ นอกจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จำเลยได้ตกลงกันนอกเหนือจากข้อสัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จำเลยแยกกันอยู่มาเกิน 3 ปี นับแต่ วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ของจำเลยเพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ โดยปกติสุขแต่เป็นความสมัครใจของโจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) ได้
2. สามีหรือภริยาตกลงแยกกันอยู่ ฟ้องหย่าไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 780/2502
คดีก่อน ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยอ้างเหตุว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมในข้อที่กล่าวหาว่าจำเลยร้องเรียนต่อกรมมหาดไทย เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และที่ว่าจำเลยลงใจละทิ้งร้างโจทก์นั้น ในฟ้องไม่กล่าวว่า เหตุเกิดเมื่อใด ทิ้งร้างไปเมื่อใด โดยยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อโต้เถียงเรื่องการหย่าเลย โจทก์ฟ้องคดีหลังกล่าวหาว่าจำเลยร้องเรียนต่อกรมมหาดไทย และร้องเรียนต่อสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันและว่าจำเลยจงใจทิ้งร้างโจทก์เป็นเวลากว่า 1 ปี เป็นคนละประเด็น คนละเหตุไม่เป็นฟ้องซ้ำ กล่าวฟ้องว่า จำเลยมีเจตนาจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไป ย่อมแสดงความหมายอยู่ในตัวแล้ว ไม่จำต้องกล่าวว่ากระทำการอย่างใด อันได้ชื่อว่าเป็นการจงใจละทิ้งร้าง ฟ้องเช่นนี้ไม่เคลือบคลุม เมื่อปรากฏว่า โจทก์เองก็ไม่ต้องการจะให้จำเลยมาอยู่ร่วมกับโจทก์ โจทก์จะกลับมาฟ้องขอหย่าโดยอ้างเหตุว่าจำเลยมีเจตนาจงใจละทิ้งร้างโจทก์หาได้ไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอหย่าจำเลยตามข้ออ้างเช่นว่านี้ โจทก์ฟ้องขอหย่าอ้างเหตุว่า จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากัน แต่ปรากฏว่า เป็นเรื่องเกิดขึ้นก่อนที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมกัน โจทก์จะอ้างเหตุที่ว่านั้นมาเป็นข้อฟ้องหย่าหาได้ไม่ เพราะผลของสัญญาประนีประนอมนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
3.สามีหรือภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ฝ่ายเดี่ยว ฟ้องอย่าไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762/2542
การที่จำเลยไม่ได้อยู่กับโจทก์ฉันสามีภริยาที่ต่างประเทศ เนื่องจากโจทก์ไม่ให้ความยินยอมในการทำหนังสืออนุญาต เข้าประเทศ (วีซ่า) แก่จำเลย ต่อมาเมื่อโจทก์กลับมา รับราชการภายในประเทศไทย โจทก์เป็นฝ่ายแยกไปอยู่ต่างหาก กับน้องสาวของโจทก์เอง ถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่ กับจำเลยแต่ฝ่ายเดียว แต่จำเลยไม่ได้สมัครใจแยกกันอยู่ กับโจทก์ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข ตลอดมาเกิน 3 ปี อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) แต่อย่างใดไม่
4.สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
พิพากษาศาลฎีกาที่3608/2531
หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว จำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุให้เกิดความระหองระแหงในครอบครัว ด้วยการไปรับบุตรสาวซึ่งเกิดจากภริยาเก่ามาเลี้ยงดูอยู่ในบ้านเดียวกัน อันเป็นการผิดถ้อยคำพูดที่จำเลยเคยให้ไว้แก่โจทก์ว่าจำเลยไม่เคยมีภริยาและบุตรมาก่อนแล้วหลังจากนั้นจำเลยก็ไม่จ่ายเงินเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และครอบครัวเช่นที่เคยปฏิบัติมา เป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำเงินเดือนแต่ละเดือนของโจทก์มาใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวจำเลยเกือบหมดทั้งจำเลยยังติดต่อกับภริยาเก่าและแสดงกิริยาวาจาเหยียดหยามมารดาของโจทก์จนกระทั่งโจทก์ไม่สามารถอยู่ร่วมกับจำเลยต่อไปได้เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควรอันประกอบด้วยเหตุอื่น ๆ อีกถึงขนาดที่โจทก์เดือดร้อนเกินสมควรที่โจทก์จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยต่อไปได้อันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(6)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2559
แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้าน พฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2558
โจทก์ที่ 2 กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่กินฉันสามีภริยาที่บ้านพิพาทจนกระทั่งโจทก์ที่ 2 ล้มป่วยลงด้วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 โจทก์ที่ 2 กับจำเลยต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ซึ่งหมายความรวมถึงการดูแลทุกข์สุขและความเจ็บป่วยซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันในบ้านพิพาทจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้โจทก์ที่ 2 กับจำเลยสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสามีภริยาต่อกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สมัครใจที่จะดูแลโจทก์ที่ 2 การให้จำเลยออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทย่อมเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้จำเลยไม่สามารถดูแลโจทก์ที่ 2 ได้ เมื่อโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งในที่ดินและบ้านพิพาท ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยและอยู่อาศัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 จำเลยในฐานะภริยาของโจทก์ที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทเช่นกัน หากจำเลยมีพฤติกรรมกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างไร ก็ชอบที่โจทก์ที่ 2 จะใช้สิทธิฟ้องหย่าเป็นคดีต่างหาก โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ส่วนโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมจะใช้สิทธิของตนให้ขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นไม่ได้ จำเลยในฐานะภริยามีสิทธิพักอาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยด้วยเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5535/2558
ในคดีหย่า แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบเรื่องอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใดและอีกฝ่ายจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคสองและมาตรา 1522 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์มาตลอดตั้งแต่จำเลยที่ 1 เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปและเหตุหย่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ให้การหรือสืบพยานว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 1ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์คนละ 4,000 บาท ต่อเดือน จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558
บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า "ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง" แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2558
จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยมิได้ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าหนี้ที่จำเลยกู้เงินจากบิดามานั้นเป็นหนี้ร่วมที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดคนละกึ่งหนึ่ง หรือขอให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยให้หักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยหักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อนจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในฟ้องแย้ง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
การที่สามีภริยารับผิดในหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 และมาตรา 1490 นั้น จะต้องรับผิดต่อเมื่อสามีหรือภริยาชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว หากฝ่ายที่ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปเกินส่วนที่ตนได้สินสมรสไปเท่าใดก็มีสิทธิเรียกร้องอีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ให้ มิใช่ว่าหากสามีหรือภริยาหย่าและแบ่งสินสมรสแล้วจะต้องนำหนี้ร่วมมาหักออกจากสินสมรสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเก็บรักษาไว้เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนแล้วจึงจะแบ่งสินสมรสส่วนที่เหลือกัน เพราะหากไม่นำเงินที่หักไว้ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้อาจเรียกให้อีกฝ่ายรับผิดชำระหนี้เงินกู้เต็มจำนวนได้อยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557
แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการลักทรัพย์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเป็นการแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ศาลไม่อาจลงโทษฐานผู้ใช้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง คงลงโทษได้ในฐานผู้สนับสนุน การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและ ส. ก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตาม ป.อ. มาตรา 64
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557
โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8626/2557
ข้อความตามรายงานกระบวนพิจารณาระบุว่า คู่ความแถลงร่วมกันว่าคดีสามารถตกลงกันได้โดยโจทก์และจำเลยตกลงจะไปหย่าขาดจากกัน โดยให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงฝ่ายเดียว โจทก์ขอถอนคำฟ้องในประเด็นทั้งสองดังกล่าว คงเหลือประเด็นสินสมรสและค่าอุปการะเลี้ยงดู จำเลยไม่ค้าน และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้อง ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันในประเด็นหย่าและอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ส่วนประเด็นข้อพิพาทที่เหลือให้ศาลวินิจฉัยตามรูปคดี กรณีมิใช่ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 และ 176 ซึ่งศาลต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามมาตรา 132 เมื่อศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่เหลือแล้วจึงต้องมีคำพิพากษาตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องแย้งโดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเกี่ยวกับฟ้องแย้งเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 และ 167 วรรคหนึ่ง เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557
โจทก์จำเลยมิใช่เป็นผู้มีสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 24 บัญญัติว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" เมื่อได้ความว่า กฎหมายสัญชาติของโจทก์และจำเลยอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาดจากกันได้ ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาเหตุหย่าตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปว่าเป็นเหตุตามกฎหมายแห่งท้องถิ่นที่ยื่นฟ้อง คือ เหตุหย่าที่โจทก์อ้างมาในฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่ ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกันจะหมดไปเมื่อการสมรสสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง และมาตรา 1501 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องคำพิพากษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15028/2557
โจทก์ยกบ้านพิพาทให้จำเลยในระหว่างสมรส เป็นนิติกรรมสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 บัญญัติให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าโจทก์บอกล้างการให้เมื่อใด แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าและขอให้เพิกถอนการให้บ้านพิพาท ให้จำเลยคืนบ้านพิพาทแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ สัญญาจึงไม่มีผลบังคับอีกต่อไป โจทก์มีสิทธิเรียกคืนบ้านพิพาทจากจำเลยได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าข้อเท็จจริงจะฟังได้หรือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณโจทก์
ทนายนิธิพล ปรึกษากฎหมายฟรี
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร
Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ปรึกษากฎหมายฟรี
เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์
เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.
เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145