95 จำนวนผู้เข้าชม |
ปลอมแปลงเอกสาร มีโทษถึงจำคุก
การปลอมแปลงเอกสารนั้น ในลำดับแรกจะต้องแยกก่อนว่าสิ่งใดเป็นเอกสารสิ่งใดเป็นเพียงทรัพย์สิน โดยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) จะให้ความหมายของคำว่าเอกสาร ดังต่อไปนี้
(7) “เอกสาร” หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
ซึ่งเอกสารนั้นจะต้องปรากฎความหมายด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญว่าจะถือเป็นเอกสารหรือไม่ หากไม่ได้เป็นเอกสาร ก็จะไม่มีความผิดข้อหาปลอมเอกสาร แต่หากถือว่าเป็นเอกสารตามกฎหมายแล้ว การที่ปลอมเอกสารไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เติมหรือตัดทอนข้อความในเอกสารที่แท้จริง ประทับตราปลอม ลงลายมือชื่อปลอม หรือรวมไปถึงกรณีที่มีบุคคลหนึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารเปล่า และมีการไปเติมข้อความขึ้นมาเองในภายหลัง โดยที่เจ้าของลายมือชื่อไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย
โดยในส่วนความผิดของส่วนการปลอมเอกสารจะบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ที่บัญญัติว่า
มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การปลอมเอกสารนั้นจะเป็นการที่ผู้ทำปลอมนั้นไม่มีอำนาจที่จะทำเอกสารดังกล่าว เช่นปลอมสัญญากู้ยืมเงินและลงลายมือชื่อปลอมของคนอื่น หรือไปแก้ข้อความในสัญญาเช่าหลังจากเซ็นสัญญาแล้วให้ผิดไปจากความเป็นจริงและคู่สัญญาไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมให้ทำ เป็นต้น แต่หากผู้กระทำผิดนั้นมีอำนาจที่จะกระทำได้ก็จะไม่ถือว่าเป็นการปลอมเอกสาร เช่น กรรมการบริษัท มีอำนาจนัดประชุมผู้ถือหุ้น ทำรายงานการประชุม แต่ปรากฎว่ากรรมการบริษัทไปทำรายงานการประชุมว่ามีการประชุมเรียบร้อยแล้วแต่ความเป็นจริงไม่ได้มีการประชุมแต่อย่างใด กรณีนี้แบบนี้ถือเป็นเอกสารเท็จ ไม่ใช่เอกสารปลอม ซึ่งเอกสารเท็จจะก็มีความผิดอาญาได้หากนำไปอ้างหรือใช้ แต่รายละเอียดจะขอกล่าวในบทความต่อๆไป
การที่จะต้องได้รับโทษหนักขึ้น
การที่จะต้องได้รับโทษหนักขึ้น จะเป็นกรณีที่ได้กระทำการปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ หรือเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ พินัยกรรม ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ ตั๋วเงิน หรือบัตรเงินฝาก เป็นต้น โดยเอกสารราชการ หมายถึง เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (8) และความหมายของเอกสารสิทธิ หมายถึง เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (9) และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 บัญญัติว่า
มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
อัตราโทษ เป็นอย่างไร
1. โดยหากเป็นการปลอมเอกสารธรรมดาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. หากเป็นเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
3. หากเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ พินัยกรรม ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ ตั๋วเงิน หรือบัตรเงินฝาก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
สำนักงานทนายความ สำนักงานกฎหมาย
แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น