อย่าไปซื้อที่ดิน สปก. เด็ดขาด แม้จะราคาถูกแค่ไหนก็ตาม

420 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อย่าไปซื้อที่ดิน สปก. เด็ดขาด แม้จะราคาถูกแค่ไหนก็ตาม

               อย่าไปซื้อที่ดิน สปก. เด็ดขาด แม้จะราคาถูกแค่ไหนก็ตาม

              การซื้อขายที่ดิน สปก. ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ก็ยังมีผู้ที่ประกาศขายที่ดิน สปก. เป็นจำนวนมากและมักจะขายในราคาถูกกว่าที่ดินประเภทอื่นๆ โดยที่ดิน สปก.นั้น ไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแต่อย่างใด มีเพียงสิทธิในการทำประโยชน์ ซึ่งก็คือการทำเกษตรเท่านั้น เช่น ทำไร่ ทำนา เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายเมื่อผู้ซื้อได้ซื้อที่ดิน สปก. และได้ชำระเงินไปเรียบร้อยแล้วนั้น การซื้อขายดังกล่าวจะตกเป็นโมฆะ ก็คือถือว่าไม่ได้มีการซื้อขายกัน เท่ากับว่าไม่ได้มีสิทธิอะไรในที่ดินเลย และเงินที่ได้ชำระไปแล้วให้แก่ผู้ขายก็ไม่สามารถที่จะเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนได้

               พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518  มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

               และระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535 ข้อ 7 กำหนดว่า เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับมอบที่ดินให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินมีหน้าที่ปฏิบัติดังต่อไปนี้

               (1) ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองเต็มความสามารถและไม่นำที่ดินนั้น ทั้งหมดหรือบางส่วนไปให้บุคคลอื่นไม่ว่าจะโดยการขาย ให้เช่า หรือเข้าทำประโยชน์ หรือโดยพฤติกรรมใด ๆ ที่แสดงให้เห็นในลักษณะนั้น

              ที่ดิน สปก. มีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยมุ่งเน้นให้ทำเกษตรเท่านั้น จะทำประโยชน์อื่นใดไม่ได้ เช่น ทำรีสอร์ท โรงแรม หรือบ้านพักอยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวมิได้ หากมีคนร้องเรียนหรือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตรวจสอบก็จะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกจากที่ดิน สปก. ดังกล่าว

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2293/2552

              พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้จะมีการซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยกันจริง นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยก็เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

              ในเขตปฏิรูปที่ดิน บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองจากผู้ที่ได้รับการจัดการ เพราะหากผู้ได้รับการจัดสรรละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองจะตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมต่อไป และ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 37 บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรือสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว

             สรุปก็คืออย่าไปซื้อที่ดิน สปก. เด็ดขาด เพราะไม่สามารถซื้อขายกันได้ หากซื้อขายก็จะตกเป็นโมฆะ เงินที่จ่ายค่าที่ดินไปแล้วก็ฟ้องเรียกเงินคืนไม่ได้ด้วย

 

 


ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

สำนักงานทนายความ สำนักงานกฎหมาย

แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้