การแบ่งทรัพย์สินกับแฟน เมื่อเลิกกัน

427 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การแบ่งทรัพย์สินกับแฟน เมื่อเลิกกัน

         การแบ่งทรัพย์สินกับแฟน เมื่อเลิกกัน

         การที่คบหากับบุคคลใดคนหนึ่ง แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือที่เรียกว่า เป็นแฟนกันนั้น แล้วได้ร่วมกันทำมาหากินหรือร่วมทำมาหาได้จนมีทรัพย์สินกันขึ้นมา เมื่อต้องแยกทางกันหรือเลิกกัน ก็มีสิทธิที่ขอแบ่งทรัพย์สินที่ช่วยกันสร้างขึ้นมาได้ เพราะถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมนั้นเอง แม้จะไม่ได้เป็นสินสมรส ยกตัวอย่างเช่น

   1. เป็นแฟนกันแล้วช่วยกันค้าขายจนมีเงินไปซื้อบ้านและที่ดินได้ แม้จะเป็นชื่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว อีกฝ่ายก็มีสิทธิขอแบ่งกรรมสิทธิ์ร่วมได้

   2. ฝ่ายชายเป็นฝ่ายไปทำงาน ส่วนฝ่ายหญิงมีหน้าที่ดูแลบ้าน ทำงานบ้าน และเลี้ยงลูก จนฝ่ายชายสามารถซื้อรถยนต์ได้ กรณีนี้รถยนต์ก็ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมเพราะถือเป็นทรัพย์สินที่ร่วมกันหามาได้

   3. ฝ่ายชายทำธุรกิจให้เช่าที่ดิน โดยฝ่ายหญิงช่วยหาผู้เช่าหรือช่วยประสานงานกับผู้เช่า ค่าเช่าซึ่งเป็นรายได้จากการช่วยกัน ก็ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม มีสิทธิขอแบ่งเงินที่เป็นรายได้จากค่าเช่าได้

 

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 บัญญัติว่า ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน

          เมื่อมีสิทธิที่ขอแบ่งกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันแล้ว หากอีกฝ่ายไม่ยอมแบ่งให้ ก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีคำพิพากษาให้แบ่งทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมดังกล่าว โดยทางสำนักงานทนายความหรือสำนักงานกฎหมายของเรา ก็รับดำเนินการฟ้องร้องในเรื่องฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์ร่วมให้แก่ท่านในส่วนนี้เช่นเดียวกัน สามารถติดต่อสอบถามได้ทางช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ครับ

 

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1512/2519

       โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และได้ร่วมกันทำมาหากินในการประกอบการค้า ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยทำมาหาได้มาด้วยกัน ฉะนั้น โจทก์จำเลยจึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์เหล่านั้น การแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้โจทก์จำเลยเท่า ๆ กัน โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์จำเลยอยู่กินเป็นสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และได้ร่วมกันประกอบการค้า มีรายได้และเกิดทรัพย์สินขึ้นหลายอย่างดังที่ระบุไว้ในฟ้อง จึงขอแบ่งรายได้และทรัพย์สินตามฟ้องครึ่งหนึ่งให้โจทก์นั้น เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว และจำเลยก็ให้การต่อสู้มาทุกประเด็น แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาอย่างแจ้งชัด ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม สิทธิกรเช่าเป็นทรัพย์สิน และต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายและสัญญาซึ่งผู้เช่าจะโอนโดยผู้ให้เช่าไม่ยินยอมไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์จำเลยมีสิทธิในการเช่าร่วมกัน ก็ย่อมจะแบ่งสิทธินั้นกันได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2533

        การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่พิพาทมาในระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสนั้นถือว่าเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่ง แม้ที่พิพาทจะมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียวก็เป็นการกระทำแทนโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเอาที่พิพาทส่วนของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเป็นการไม่สุจริต ไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทด้วย.

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3725/2532

          แม้โจทก์จะเป็นหญิงแต่ก็มีนิสัยและทำตัวอย่างผู้ชาย คนทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์เป็นชาย โจทก์มีความรักใคร่จำเลยฉันชู้สาวจึงพาจำเลยมาอยู่กับโจทก์ในฐานะเป็นแม่บ้านของโจทก์เป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยโจทก์จำเลยได้ร่วมกันทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินซึ่งไม่ว่าจะเป็นด้วยแรงหรือเงินของฝ่ายใดก็ตาม ถือว่าทรัพย์ที่ได้มานั้นเป็นทรัพย์ที่ทั้งโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์และจำเลยจึงมีส่วนในทรัพย์ที่พิพาททั้งหมดคนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357.

       

 

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00 – 18.00

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้