468 จำนวนผู้เข้าชม |
ขั้นตอนการไปร้องเรียนที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ
สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ นั้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า การใช้บริการ การซื้อคอนโด การซื้อบ้านจัดสรร การเช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เมื่อมีเหตุที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือได้รับความไม่เป็นธรรมจากผู้ประกอบกิจการ ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะร้องเรียนผู้ประกอบกิจการต่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ ได้ แต่ทั้งนี้บทความนี้จะมาพูดถึงขั้นตอนการร้องเรียนของ สคบ. ว่าเมื่อร้องเรียนแล้วจะเป็นไปในทิศทางใด
ตามหลักแล้วเมื่อผู้บริโภคยื่นข้อร้องเรียนต่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว ทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจะนัดคู่พิพาทมาเจรจากันที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคก่อน ซึ่งการเจรจากันนั้นอาจจะสามารถตกลงกันได้ภายในครั้งเดียว หรืออาจจะใช้เวลาในการเจรจากันหลายครั้ง ซึ่งระยะห่างของการเจรจาแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่ ก็ 15 วันขึ้นไปหรือแล้วแต่คู่พิพาทจะตกลงวันนัดกัน หรือในหลายๆกรณีแม้จะเจรจากันมาแล้วครั้งแล้ว สุดท้ายก็จบด้วยการไม่สามารถเจรจากัน
เมื่อเจรจากันไม่ได้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ ซึ่งในกรณีที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเห็นว่าผู้ประกอบกิจการผิดแบบชัดเจน ก็จะดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคโดยให้อัยการเป็นฟ้องคดีแทนให้ แต่ทั้งนี้คำว่า ผิดแบบชัดเจน ก็เป็นการตีความค่อนข้างยากว่ากรณีของคุณจะผิดแบบชัดเจนหรือไม่ โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเจรจากันไม่ได้ การร้องเรียนที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคก็จะยุติลงแล้วคุณซึ่งเป็นผู้บริโภคก็ต้องไปดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป โดยระยะเวลาในการร้องเรียนที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภครวมถึงการเจรจา ส่วนใหญ่ก็จะใช้เวลาตั้งแต่ 3 – 6 เดือน และบางกรณีก็อาจจะนานกว่านั้น โดยผู้บริโภคก็ควรต้องคำนึงถึงอายุความในการฟ้องคดีด้วย เพราะคดีแต่ละประเภทอายุความจะไม่เท่ากัน หากเรื่องอยู่ในสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเลยกำหนดอายุความในศาลแล้ว ก็จะเสียสิทธิที่จะดำเนินคดีผู้ประกอบกิจการในภายหลังได้ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันในสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
สำนักงานกฎหมาย สำนักงานทนายความ ทนายความ
แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น