สัญญาค้ำประกันคืออะไร 5 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะค้ำประกันให้ใคร

Last updated: 24 ต.ค. 2567  |  806 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สัญญาค้ำประกันคืออะไร 5 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะค้ำประกันให้ใคร

               สัญญาค้ำประกันคืออะไร 5 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะค้ำประกันให้ใคร

               สัญญาค้ำประกันเป็นข้อตกลงทางกฎหมายระหว่างสองฝ่าย โดยที่ฝ่ายที่หนึ่งคือผู้ค้ำประกันที่จะยอมรับให้เป็นผู้รับผิดชอบหรือเป็นคนที่ให้ความรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้หรือคู่สัญญาอีกฝ่าย ในกรณีที่บุคคลที่ค้ำประกันให้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาได้ เป็นการใช้ทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้หรือการปฏิบัติตามสัญญา ในกรณีลูกหนี้หรือฝ่ายที่ได้รับการค้ำประกันไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง หรือปฎิบัติตามสัญญาได้ เจ้าหนี้สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อบังคับให้ผู้ค้ำประกันใช้สิทธิตามที่ได้รับค้ำประกันในสัญญา สัญญาค้ำประกันสามารถใช้ในหลายกรณี เช่น การกู้ยืมเงินจากธนาคาร การเช่าอพาร์ทเมนท์ หรือการทำธุรกิจที่ต้องการการค้ำประกันเงินทุน เป็นต้น การตกลงในสัญญาค้ำประกันจะมีผลผูกพันต่อทั้งสองฝ่ายและต้องปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การละเมิดสัญญาค้ำประกันอาจทำให้เกิดค่าเสียหายหรือโทษทางกฎหมายตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญาได้

              การจะค้ำประกันให้ใครจึงต้องทบทวนอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนและควรพิจารณาตามปัจจัยดังกล่าวนี้ก่อนที่จะค้ำประกันให้กับใคร

              ข้อ 1. หากลูกหนี้หรือคู่สัญญาที่ค้ำประกันให้ ไม่ปฎิบัติตามสัญญา คุณในฐานะผู้ค้ำประกันสามารถยอมรับผลจากการผิดสัญญาได้หรือไม่ เช่น การที่ต้องชำระหนี้แทน หรือถูกยึดทรัพย์บังคับคดี เป็นต้น

              ข้อ 2. ประเมินความสามารถของลูกหนี้หรือคู่สัญญาที่ค้ำประกันให้ ว่ามีความสามารถในการปฎิบัติตามสัญญามากน้อยเพียงใด หากประเมินแล้วว่าลูกหนี้สถานะภาพทางการเงินหรือความสามารถในการปฎิบัติตามสัญญามีไม่มาก ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบหนี้แทน
 
             ข้อ 3. ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือคู่สัญญาที่ค้ำประกันให้มีอะไรบ้าง เพราะหากลูกหนี้หรือคู่สัญญาที่ค้ำประกันให้ผิดสัญญา เจ้าหนี้จะไปดำเนินการติดตามทรัพย์สินจากลูกหนี้ก่อน หากลูกหนี้มีทรัพย์สินที่จะนำไปขายทอดตลาดและเพียงพอกับหนี้สิน ผู้ค้ำประกันก็จะหลุดพ้นจากภาระหนี้ดังกล่าว

              ข้อ 4. ระยะเวลาการค้ำประกันมีระยะเวลานานเท่าใด ระยะเวลาการค้ำประกันก็มีความสำคัญเพราะยิ่งระยะเวลานานเท่าใด ก็จะตัดโอกาสในการไปค้ำประกันให้บุคคลอื่นหรืออาจส่งผลต่อการขอสินเชื่อต่อสถาบันทางการเงินได้ หรือในกรณีที่เอาทรัพย์สินไปจดจำนองเป็นประกันไว้ ทรัพย์สินดังกล่าวก็จะไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน ได้จนสัญญาค้ำประกันจะสิ้นสุดลง

              ข้อ 5. มีโอกาสที่จะต้องไปค้ำประกันให้บุคคลที่สำคัญในชีวิตหรือไม่ในอนาคต เช่น ลูก พ่อแม่ เป็นต้น เพราะหากไม่ค้ำประกันให้ใครก่อน แล้วมีเหตุจำเป็นที่จะต้องไปค้ำประกันให้บุคคลสำคัญ บุคคลใกล้ชิด ก็อาจจะไม่สามารถเป็นผู้ค้ำประกันได้

 
              กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ำประกันได้แก่ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังต่อไปนี้

              มาตรา 680  อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
               อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

               มาตรา 681  อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์
               หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน เว้นแต่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวตามมาตรา 699 จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้
               สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น
               หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทำด้วยความสำคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้นก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทำสัญญาผูกพันตน

               มาตรา 681/1  ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
               ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ในกรณีเช่นนั้นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690

               มาตรา 682 ท่านว่าบุคคลจะยอมเข้าเป็นผู้รับเรือน คือเป็นประกันของผู้ค้ำประกันอีกชั้นหนึ่ง ก็เป็นได้
               ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

               มาตรา 683  อันค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้นย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย

               มาตรา 684  ผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเพื่อค่าฤชาธรรมเนียมความซึ่งลูกหนี้จะต้องใช้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่ถ้าโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้นั้นก่อนไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันหาต้องรับผิดเพื่อใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเช่นนั้นไม่

               มาตรา 685  ถ้าเมื่อบังคับตามสัญญาค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ด้วยไซร้ หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใด ท่านว่าลูกหนี้ยังคงรับผิดต่อเจ้าหนี้ในส่วนที่เหลือนั้น

               มาตรา 685/1  บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 686 มาตรา 694 มาตรา 698 และมาตรา 699 เป็นโมฆะ

 

 


ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

 ทนาย ทนายความ สำนักงานกฎหมาย

สำนักงานทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้