ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ – มาตรา 95 - มาตรา 106

213 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ – มาตรา 95 - มาตรา 106


            ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ – มาตรา 95 - มาตรา 106

             มาตรา 95  ในการเรียกประชุมใหญ่ คณะกรรมการของสมาคมต้องส่งหนังสือนัดประชุมไปยังสมาชิกทุกคนซึ่งมีชื่อในทะเบียนของสมาคมก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันหรือลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลายในท้องที่ฉบับหนึ่งก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก็ได้
              การเรียกประชุมใหญ่ต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และระเบียบวาระการประชุมและจัดส่งรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องตามควรไปพร้อมกันด้วย สำหรับการเรียกประชุมใหญ่โดยการพิมพ์โฆษณา รายละเอียดและเอกสารดังกล่าวต้องจัดไว้และพร้อมที่จะมอบให้แก่สมาชิที่ร้องขอ ณ สถานที่ที่ผู้เรียกประชุมกำหนด

               มาตรา 96  การประชุมใหญ่ของสมาคมต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ข้อบังคับของสมาคมจะกำหนดองค์ประชุมไว้เป็นอย่างอื่น
               ในการประชุมใหญ่ครั้งใด ถ้าไม่ได้องค์ประชุมตามที่กำหนดไว้และการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกตามคำร้องขอของสมาชิก ก็ให้งดการประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่ที่สมาชิกมิได้เป็นผู้ร้องขอ ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจำต้องครบองค์ประชุม

               มาตรา 97  มติของที่ประชุม ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่กรณีที่ข้อบังคับของสมาคมกำหนดเสียงข้างมากไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ
               สมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

               มาตรา 98  สมาชิกจะมอบอำนาจให้สมาชิกผู้ใดมาเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนตนก็ได้ เว้นแต่ข้อบังคับของสมาคมจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

               มาตรา 99  ในกรณีที่จะมีมติในเรื่องใด ถ้าส่วนได้เสียของกรรมการหรือสมาชิกของสมาคมผู้ใดขัดกับประโยชน์ได้เสียของสมาคม กรรมการหรือสมาชิกของสมาคมผู้นั้นจะออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้นไม่ได้

               มาตรา 100  ในการประชุมใหญ่ครั้งใด ถ้าได้มีการนัดประชุมหรือการลงมติโดยไม่ปฏิบัติตาม หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของสมาคมหรือบทบัญญัติในส่วนนี้ สมาชิก หรือพนักงานอัยการอาจร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติในการประชุมใหญ่ครั้งนั้นได้ แต่ต้องร้องขอต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ

               มาตรา 101  สมาคมย่อมเลิกด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้
               (1) เมื่อมีเหตุตามที่กำหนดในข้อบังคับ
               (2) ถ้าสมาคมตั้งขึ้นไว้เฉพาะระยะเวลาใด เมื่อสิ้นระยะเวลานั้น
               (3) ถ้าสมาคมตั้งขึ้นเพื่อกระทำกิจการใด เมื่อกิจการนั้นสำเร็จแล้ว
               (4) เมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้เลิก
               (5) เมื่อสมาคมล้มละลาย
               (6) เมื่อนายทะเบียนถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนตามมาตรา 102
               (7) เมื่อศาลสั่งให้เลิกตามมาตรา 104

               มาตรา 102  ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนได้ในกรณีดังต่อไปนี้
               (1) เมื่อปรากฏในภายหลังการจดทะเบียนว่า วัตถุประสงค์ของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และนายทะเบียนได้สั่งให้แก้ไขแล้วแต่สมาคมไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด
               (2) เมื่อปรากฏว่าการดำเนินกิจการของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ
               (3) เมื่อสมาคมหยุดดำเนินกิจการติดต่อกันตั้งแต่สองปีขึ้นไป
               (4) เมื่อปรากฏว่าสมาคมให้หรือปล่อยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการของสมาคมเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคม
               (5) เมื่อสมาคมมีสมาชิกเหลือน้อยกว่าสิบคนมาเป็นเวลาติดต่อกันกว่าสองปี

               มาตรา 103  เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้ถอนชื่อสมาคมใดออกจากทะเบียนตามมาตรา ๑๐๒ แล้ว ให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสมาคมนั้นโดยมิชักช้า และประกาศการเลิกสมาคมในราชกิจจานุเบกษา
               กรรมการคนหนึ่งคนใดหรือสมาชิกของสมาคมจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และให้นำความในมาตรา 82 วรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา 104  เมื่อมีกรณีตามมาตรา 102 ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้นายทะเบียนถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนได้ ถ้านายทะเบียนไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอโดยไม่แจ้งเหตุผลให้ผู้ร้องขอทราบภายในเวลาอันสมควร หรือนายทะเบียนได้แจ้งเหตุผลให้ทราบแล้วแต่ผู้ร้องขอไม่พอใจในเหตุผลดังกล่าว ผู้ร้องขอนั้นจะร้องขอต่อศาลให้สั่งเลิกสมาคมนั้นเสียก็ได้

               มาตรา 105  เมื่อสมาคมมีเหตุต้องเลิกตามมาตรา 101 (1) (2) (3) หรือ (4) ให้คณะกรรมการของสมาคมที่อยู่ในตำแหน่งขณะมีการเลิกสมาคมแจ้งการเลิกสมาคมต่อนายทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเลิกสมาคม
               ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้สมาคมล้มละลายตามมาตรา 101 (5) หรือมีคำสั่งถึงที่สุดให้เลิกสมาคมตามมาตรา 104 ให้ศาลแจ้งคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวให้นายทะเบียนทราบด้วย
               ให้นายทะเบียนประกาศการเลิกสมาคมในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา 106  ในกรณีที่มีการเลิกสมาคม ให้มีการชำระบัญชีสมาคมและให้นำบทบัญญัติในบรรพ 6 ลักษณะ 22 ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด มาใช้บังคับแก่การชำระบัญชีสมาคมโดยอนุโลม

 

 


ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้