1978 จำนวนผู้เข้าชม |
ผู้ค้ำประกันตาย หนี้ก็ไม่ระงับหรือไม่
เมื่อได้มีการค้ำประกันให้คนอื่นแล้ว โดยการค้ำประกันนั้นจะต้องมีการลงลายชื่อในสัญญาหรือเอกสารใดๆก็ตาม ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการค้ำประกันหนี้หรือการค้ำประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยตามบทความนี้ จะกล่าวถึงในกรณีที่ผู้ค้ำประกันตายหนี้จะระงับหรือไม่
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 บัญญัติว่า กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
ซึ่งตามกฎหมายแล้วแม้ผู้ค้ำประกันจะตาย สัญญาค้ำประกันก็ไม่ระงับ การหนี้ค้ำประกันนั้นจะรับผิดต่อเมื่อลูกหนี้ตามสัญญาไม่ปฎิบัติตามสัญญา หรือไม่ชำระหนี้ โดยมูลหนี้ที่ค้ำประกันนั้นจะถือว่าเป็นมรดกที่จะตกทอดให้แก่ทายาทต่อไป เช่น บิดาไปค้ำประกันหนี้เงินกู้จำนวน 2 แสนบาท ให้นาย ก. ต่อมาบิดาเสียชีวิต หนี้ค้ำประกันก็จะเป็นมรดกของบิดา ลูกๆ จึงต้องรับผิดชอบในหนี้ค้ำประกันดังกล่าวต่อ เป็นต้น โดยทายาทของผู้ค้ำประกันสามารถถูกฟ้องให้รับผิดในมูลหนี้ของผู้ค้ำประกันได้ แต่ตามกฎหมายก็มีข้อยกเว้นเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือในกรณีที่ ทายาทจะไม่ต้องรับผิดชอบในมูลหนี้ค้ำประกันที่เกินกว่าส่วนที่ทายาทได้รับมรดกมา เช่น หนี้ค้ำประกัน จำนวน 1 ล้านบาท แต่ทายาทได้รับมรดกมาเป็นที่ดิน มูลค่า 4 แสน บาท ทายาทก็จะรับผิดชอบในหนี้ไม่เกิน 4 แสนบาทเท่านั้น เป็นต้น และหากเป็นกรณีที่ทายาทไม่ได้รับมรดกๆของผู้ค้ำประกันมาเลย ก็ไม่ต้องชดใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่อย่างใด
แต่ในเบื้องต้นนั้นเจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องทายาทต่อศาลได้ เมื่อทายาทถูกฟ้องให้รับผิดในหนี้ค้ำประกันแล้ว หากเป็นกรณีที่ได้รับมรดกมาน้อยกว่ามูลหนี้ค้ำประกันหรือไม่ได้รับมรดกอะไรมาเลย ก็จำเป็นที่จะต้องว่าจ้างทนายให้ทำเรื่องสู้คดี โดยยื่นคำให้การต่อสู้คดี และสืบพยานเพื่อแสดงให้เห็นว่า ได้รับมรดกมาจำนวนเท่าใด หรือ การที่ไม่ได้รับมรดกอะไรมา
แต่ทั้งนี้หากทายาทต้องชดใช้หนี้ไปในจำนวนเท่าใดในแก่เจ้าหนี้ตามสัญญา จำนวนเงินดังกล่าวนี้ก็มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยในจำนวนที่เสียไปกับลูกหนี้ตามสัญญาได้เช่นเดียวกัน
สรุปก็คือ แม้ผู้ค้ำประกันจะเสียชีวิต หนี้ค้ำประกันก็ไม่ระงับ แต่ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าส่วนที่ได้รับมรดกมาและในกรณีที่ได้ชดใช้หนี้ไปในจำนวนเท่าใดแทนลูกหนี้ตามสัญญา ก็มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเรียกเงินจำนวนดังกล่าวนั้นคืนได้ และที่สำคัญคือ อย่าไปค้ำประกันให้ใครดีที่สุด
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น