ซื้อรถไม่มีเล่ม มีความผิดอย่างไร

Last updated: 18 ก.ย. 2566  |  2731 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ซื้อรถไม่มีเล่ม มีความผิดอย่างไร

               ซื้อรถไม่มีเล่ม มีความผิดอย่างไร

               การซื้อรถไม่มีเล่มนั้น ทางทะเบียนจะยังเป็นชื่อของเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม หากเป็นกรณีที่เจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้ขายให้และเล่มหายก็คงไม่มีปัญหาอะไร สามารถขับใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งกรณีนี้สามารถให้เจ้าของกรรมสิทธิ์รถ (ไม่ใช่ผู้ครอบครองรถ) ไปดำเนินการขอเล่มใหม่ที่กรมขนส่งทางบกได้หรือมอบอำนาจให้ผู้ซื้อไปดำเนินการขอเล่มรถ เล่มใหม่ได้ แต่หากเป็นกรณีรถที่ถูกขโมยมาหรือรถยังเป็นกรรมสิทธิ์ของไฟแนนซ์อยู่แล้วผู้เช่าซื้อนำรถมาขายต่อ แล้วไม่ได้มีการส่งค่างวดรถจนผิดสัญญากับไฟแนนซ์ กับไฟแนนซ์ได้มีการบอกเลิกสัญญาเรียบร้อยแล้ว กรณีนี้แบบนี้ผู้ซื้อรถที่ไม่มีเล่มรถมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก ซึ่งการซื้อรถที่ไม่มีเล่มนั้น หรือการซื้อรถเถื่อน จะมีราคาที่ถูกมากๆ แต่ความเสี่ยงก็มากตามเช่นเดียวกัน

               หากซื้อรถที่ไม่มีเล่มมาแล้ว ปรากฎว่าเป็นรถที่ถูกขโมยมาหรือไฟแนนซ์บอกเลิกสัญญาแล้ว  หากในกรณีที่ขับออกมาในท้องถนนทั่วไป และเจอด่านตรวจและตรงกับที่ผู้เสียหายได้แจ้งความรถหายไว้ ก็จะถูกยึดทันที และเสี่ยงที่จะโดนข้อหารับของโจรด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ระบุไว้ดังนี้

                มาตรา 357 “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                 ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท

                  ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท”

                  หรือกรณีที่ไฟแนนซ์เจอรถไฟแนนซ์ก็มีสิทธิดำเนินการยึดรถคืนได้ทันที และไฟแนนซ์ยังมีสิทธิดำเนินคดีข้อหารับของโจรได้เช่นเดียวกัน เมื่อนำมาวิเคราห์ก็จะพบว่าการซื้อรถไม่มีเล่ม แม้จะราคาถูก แต่ก็ไม่คุ้มที่จะซื้อมาเพราะหากโดนยึดเงินที่ซื้อมาก็เสียไปทันที และยิ่งไปกว่านั้น หากถูกดำเนินคดี ก็จะเสียทั้งเวลา อิสระภาพ เสียเงิน ซึ่งไม่คุ้มกันเลย และใช้งานแบบไม่สบายใจไม่รู้ว่าจะโดนยึดหรือถูกดำเนินคดีตอนไหน

 



ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้