12457 จำนวนผู้เข้าชม |
การคัดค้านการรังวัดสอบเขต
การรังวัดที่ดินสอบเขตช่วยให้เรามีข้อมูลที่แม่นยำเกี่ยวกับขอบเขตและขนาดของที่ดิน ทำให้รู้แนวเขตที่ชัดเจน ซึ่งโดยปกติเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ที่หวงสิทธิในที่ดินของตัวเอง มักจะทำการรังวัดที่ดินทุก ๆ 10 ปี เพื่อป้องกันการอ้างครอบครองปรปักษ์ แต่การรังวัดสอบเขตในก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน หากเจ้าของพื้นที่ข้างเคียงกับที่ดินของเราหรือเพื่อนบ้านของเรา ให้สำนักงานที่ดินมารังวัดสอบเขตแล้วมีการชี้แนวเขต ชี้หลักหมุดล้ำเข้ามาให้พื้นที่ที่ดินของเรา หมุดหาย หรือแม้กระทั้งย้ายหลักหมุดเข้ามาในพื้นที่ของที่ดินของเรา ก็จะเกิดเป็นประเด็นโต้กันขึ้นมาทำให้มีปัญหาระว่างคุณกับเจ้าของพื้นที่ข้างเคียงในทันที
เมื่อเจ้าของพื้นที่ข้างเคียงทำการรังวัด หากคุณเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแนวเขตคุณควรเข้าไปการสอบแนวเขตที่ติดกับแนวเขตของคุณด้วยว่า เจ้าหน้าที่รังวัดถูกต้องหรือไม่ และสามารถโต้แย้งในขณะนั้นได้ทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย แต่หากคุณไม่สามารถว่ามีการรังวัดในขณะนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่จากสำนักงานที่ดินรังวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็จะให้เจ้าของที่ดินโดยรอบลงลายมือรับรองการรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าว ซึ่งคุณก็จำเป็นที่จะต้องไปตรวจสอบความถูกต้องอีกทีว่าการรังวัดดังกล่าว ได้รังวัดเข้ามาในพื้นที่ดินของคุณหรือไม่ หากไม่ได้มีการล้ำเข้ามาก็ลงลายมือชื่อรับรองการรังวัดได้เลย
แต่หากไม่ถูกต้อง คุณก็ไม่ต้องลงลายมือชื่อในเอกสารการรังวัดใด และคุณก็จะต้องไปคัดค้านการรังวัดโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อสำนักงานที่ดินในพื้นที่ โดยจะเป็นไปตามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 69 ทวิ ดังนี้
ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 69 ทวิ วรรคห้า
หากปรากฎว่ามีผู้คัดค้าน ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจสอบสวนไกล่เกลี่ยโดยถือเอาหลักฐานแผนที่เป็นหลักในการพิจารณา ถ้าตกลงกันได้ก็ให้ดำเนินการไปตามที่ตกลง แต่ต้องไม่เป็นการสมยอมกันเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย หากตกลงกันไม่ได้ให้แจ้งคู่กรณีไปฟ้องต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าไม่มีการฟ้องภายในกำหนดดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ขอไม่ประสงค์จะสอบเขตโฉนดที่ดินนั้นต่อไป
ตามมาตราดังกล่าวให้เจ้าพนักงานที่ดินให้คู่กรณีมาเจรจากันก่อน หากตกลงกันได้ก็ให้ปฎิบัติตามนั้น แต่หากตกลงกันไม่ได้ กฎหมายใช้คำว่าให้แจ้งคู่กรณี หมายความว่าต้องแจ้งทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายผู้ขอรังวัดสอบเขตและฝ่ายผู้คัดค้าน ดังนั้นการนับระยะเวลา 90 วัน จึงต้องนับจากวันที่รับแจ้งของคู่กรณีฝ่ายล่าสุด ถ้ามีการฟ้องต่อศาลภายในกำหนด 90 วัน และนำหลักฐานการยื่นฟ้องพร้อมสำเนาคำฟ้องมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินภายในกำหนดเวลา 90 วัน การฟ้องเป็นหน้าที่ของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นจะฟ้องเองหรือใช้ทนายความก็ได้ครับ เมื่อคู่ความฝ่ายใดที่เสียประโยชน์ได้ฟ้องแล้วก็เป็นดุลยพินิจของศาลว่าจะตัดสินคดีอย่างไรต่อไป แต่หากไม่มีฝ่ายใดดำเนินการฟ้อง การรังวัดสอบเขตดังกล่าวก็เป็นอันยุติไป
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษากฎหมายด้านกฎหมาย
แฟนเพจ : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษากฎหมายด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น