3096 จำนวนผู้เข้าชม |
ปัญหาเพื่อนบ้านเสียงดัง ต้องทำอย่างไร
หากคุณกำลังมีปัญหากับเพื่อนบ้านในเรื่องที่เพื่อนบ้านทำเสียงดัง นี่คือบทความที่จะช่วยให้คุณเข้าใจปัญหาเหล่านั้นและวิธีการแก้ไขรวมถึงการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งการมีปัญหากับเพื่อนบ้านในเรื่องดังจะทำให้การอยู่อาศัยในบ้านของคุณเป็นอย่างไม่ราบรื่น เสียสุขภาพจิต ไม่มีสมาธิในการทำงาน พักผ่อนไม่เพียงพอ หากปล่อยไว้ระยะยาวยิ่งจะทำให้เพื่อนบ้านได้ใจและทำให้เกิดเสียงดังไปเรื่อยๆ เช่นการเปิดเพลงเสียงดัง การพูดเสียงดัง หรืออื่น
ปัญหาเพื่อนบ้านทำเสียงดัง การมีเสียงดังที่รบกวนอาจเป็นปัญหาที่รบกวนความสงบและความสุขของคุณ หากเพื่อนบ้านของคุณมีกิจกรรมที่ส่งเสียงดังหรือทำให้คุณรำคาญ เบื้องคุณสามารถคุยกับเขาเพื่อสอบถามและขอให้เขาลดการกระทำที่เป็นการรบกวนลง หรือเขียนจดหมายหรือจะให้ทนายความทำเอกสารเตือนพร้อมข้อกฎหมายเพื่อขอความกรุณาให้ลดเสียงดังลงก็สามารถทำได้ แต่หากการพูดคุยหรือแจ้งเตือนไปแล้วไม่เป็นผล ทนายความขอแนะนำให้อัดวีดีโอตอนที่เพื่อนบ้านทำให้เกิดเสียงดัง และพยายามอัดไว้ทุกครั้งที่มีเสียงดังขึ้น เพื่อนำไปร้องเรียนต่อหน่วยงานปกครองในพื้นที่ และทุกครั้งที่มีเสียงดังอย่างต่อเนื่อง คุณสามารถโทรแจ้งตำรวจในพื้นที่ได้ ซึ่งจะมึความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท”
หรือหากคุณอยู่ในคอนโดหรือหมู่บ้านที่มีนิติบุคคลของคุณมีสิทธิแจ้งนิติบุคคลหรือพนักงานรักษาความปลอดภัยให้ตักเตือนได้ แต่หากสิ่งที่กล่าวนั้น เพื่อนบ้านยังคงมีพฤติกรรมเสียงดังเหมือนเดิม ก็ให้นำหลักฐานคลิปวิดีโอดังกล่าวให้ทนายความทำเรื่องฟ้องต่อศาลเป็นคดีละเมิดได้เพื่อให้เขาหยุดพฤติกรรมดังกล่าวพร้อมกับเรียกค่าเสียหาย
แต่สิ่งที่ห้ามกระทำโดยเด็ดขาด ก็ถือ ห้ามเข้าไปหาเรื่องเพื่อนบ้าน เข้าไปด่าทอ หรือเข้าไปทำร้ายร่างกาย บุกรุกเข้าไปในบ้านของเพื่อน เพราะนอกจากจะทำให้ปัญหาลุกลามแล้ว การเข้าไปกระทำการดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อตัวคุณแต่อย่างใด เพราะเพื่อนบ้านอาจจะดำเนินคดีกับคุณได้ ซึ่งมีอัตราโทษดังต่อไปนี้
มาตรา 393 “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 295 “ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 362 “ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
แฟนเพจ : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น