11134 จำนวนผู้เข้าชม |
สู้คดีเช็คเด้ง ทำอย่างไร
เมื่อผู้สั่งจ่ายเช็ค ได้สั่งจ่ายเช็คแล้ว ผู้รับเช็ค หรือที่เรียกว่า “ผู้ทรงเช็ค” นำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร ปรากฎว่าเช็คเด้ง หรือธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน ผู้ทรงเช็คก็มีสิทธิที่จะนำเช็คดังกล่าวไปดำเนินคดีแพ่งเพื่อฟ้องเรียกเงินตามเช็คได้ หรือจะนำเช็คดังกล่าวไปดำเนินคดีอาญาได้ ตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินไม่เกิน 1 ปี ต่อการถูกปฎิเสธการจ่ายเงิน 1 ครั้ง และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
ซึ่งตามมาตรา 4 ดังที่กล่าวมานั้น การที่จะเข้าข่ายกระทำความผิดที่จะต้องได้รับโทษจะต้องมีเจตนาไม่ให้ใช้เงินตามเช็ค เช่น สั่งจ่ายเช็คทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ามีเงินไม่พอชำระ หรือจงใจนำเงินออกจากบัญชีเพื่อไม่ให้เพียงพอ หรือสั่งห้ามธนาคารให้สั่งจ่ายเช็คดังกล่าว ซึ่งแบบนี้จะผิดและไม่มีประเด็นที่จะโต้แย้งในชั้นศาลได้ เมื่อถูกดำเนินคดี แต่เนื่องจากความผิดตาม พรบ.เช็คนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้ ตามมาตรา 5 ที่บัญญัติว่า “ความผิดตามมาตรา ๔ เป็นความผิดอันยอมความได้” หากสามารถตกลงเจรจากับคู่กรณีได้ ก็สามารถถอนแจ้งความหรือถอนฟ้องได้ตราบใดก็ตามที่คดียังไม่ถึงที่สุด และคดีเช็คมีอัตราโทษไม่สูงมาก หากเช็คที่เด้งมีจำนวน 1-2 ฉบับ ก็ยังมีโอกาสได้รอลงอาญา หากไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน
แต่อีกส่วนนึงที่สำคัญในการต่อสู้คดีเช็ค หากมีพฤติการณ์ดังต่อไปนี้ ถือว่าไม่มีความผิดทางอาญา สามารถสู้คดีได้
1. หากเช็คที่ได้สั่งจ่ายนั้นเป็นเพียงเช็คค้ำประกันหรือประกันการชำระหนี้เท่านั้น กล่าวคือเป็นเช็คที่ไม่ได้มีไว้เพื่อชำระค่าสินค้า บริการ หรือชำระหนี้ แต่เป็นเช็คเพื่อนำมาวางค้ำประกันการชำระหนี้เท่านั้น ซึ่งหากมีพฤติการณ์แบบนี้ ผู้สั่งจ่ายเช็คสามารถที่จะว่าจ้างทนายต่อสู้คดีได้ เพราะเช็คค้ำประกันจะไม่มีความผิดตามกฎหมายอาญา
2. ผู้สั่งจ่ายเช็คออกเช็คเพื่อชำระหนี้ แต่หนี้ตามเช็คนั้นมีการนำดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดรวมเข้าไปในยอดเงินตามเช็คด้วย ซึ่งตามกฎหมายการที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยจะเป็นโมฆะ
3. ผู้ทรงเช็ค ไม่ได้แจ้งความภายในระยะ 3 เดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค แบบนี้จะทำให้คดีขาดอายุความ
4. สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนีเงินกู้ยืม แต่ขณะสั่งจ่ายเช็ค ยังไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินกัน แม้จะทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมกันภายหลัง ผู้ทรงเช็คก็ดำเนินคดีผู้สั่งจ่ายเช็คเป็นคดีอาญาไม่ได้
5. สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ ซึ่งหนี้ดังกล่าวขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือหนี้ที่ตามกฎหมายไม่ถือว่าเป็นหนี้ เช่น หนี้จากการพนัน หนี้จากหวยใต้ดิน หนี้จากการว่าจ้างให้กระทำผิดกฎหมาย หนี้จากการซื้อขายยาเสพติด เป็นต้น
6. การสั่งจ่ายเช็คที่ไม่ได้ระบุวันที่ กรณีนี้เช็คดังกล่าวจะนำมาใช้ฟ้องเป็นคดีอาญาไม่ได้ แม้ว่าผู้ทรงเช็คจะมีสิทธิระบุวันที่ที่ถูกต้องในภายหลังได้ก็ตาม แต่ก็นำไปใช้ดำเนินคดีกับผู้สั่งจ่ายเช็คได้เฉพาะกรณีของคดีแพ่งได้เท่านั้น
เมื่อมีพฤติการณ์ของคดีตามที่ได้กล่าวมานี้ ก็สามารถให้ทนายความดำเนินการสู้คดีได้ เพื่อให้ศาลพิพากษายกฟ้อง และไม่ต้องรับผิดทั้งโทษจำคุกและปรับตามกฎหมาย หากคุณกำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้ คุณสามารถปรึกษาแนวทางการสู้คดีหรือว่าจ้างทนายความจากสำนักงานกฎหมายของเรา เพื่อช่วยเหลือคุณทางคดีได้ ทางสำนักงานทนายความของเราพร้อมและยินดีจะช่วยเหลือคุณในปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษากฎหมายด้านกฎหมาย
แฟนเพจ : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษากฎหมายด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น