Last updated: 13 พ.ค. 2566 | 3778 จำนวนผู้เข้าชม |
กฎหมายจราจรที่จำเป็นต้องรู้
ลักษณะของรถที่ใช้บนท้องถนน รถที่เราขับควรจะอยู่ในสภาพที่ดี แข็งแรง มีการตรวจเช็คสภาพรถ ลมยาง และน้ำมันอยู่เสมอ ต้องติดแผ่นป้ายทะเบียน เลี่ยงการขับขี่ด้วยรถที่สร้างฝุ่นละอองหรือควัน เพราะจะสร้างทัศนวิสัยที่ไม่ดีให้แก่ผู้ร่วมทางจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้
สัญญาณและเครื่องหมายจราจร ไฟจราจร 3 สีต้องจำให้แม่น สีเขียวคือไปได้ สีเหลืองให้เตรียมหยุดไม่ใช่เตรียมเร่ง และสีแดงคือให้หยุดหลังเส้นให้หยุดรถ เพราะถ้าฝ่าไฟแดงก็เตรียมรับรูปเจ้าของและรถสวย ๆ ที่บ้านได้เลย หากเจอไฟสีแดงกระพริบที่ทางแยก ให้ชะลอรถหยุดแล้วมองทางให้มั่นใจว่า ปลอดภัยแล้วจึงค่อยขับต่อไป เสียงนกหวีดจากเจ้าหน้าที่ การเป่ายาวหนึ่งครั้งให้ผู้ขับหยุดรถทันที และการเป่านกหวีดสั้น ๆ สองครั้งคือให้ขับรถผ่านไปได้ สำหรับมือใหม่สิ่งที่ควรทำบ่อย ๆ คือ นำหนังสือกฎและเครื่องหมายจราจรมานั่งอ่านเพื่อทบทวนเพิ่มความมั่นใจ เพราะบางครั้งอาจจะไปเจอเครื่องหมายจราจรที่ไม่คุ้นชิน ทางที่ดีพกไว้บนรถเลยก็ได้
การใช้ไฟหรือเสียงสัญญาณ หากแสงสว่างไม่พอ มองเห็นได้ไม่ชัดเจนในระยะ 150 เมตร ก็ควรเปิดไฟหน้ารถ และเมื่อบีบแตรก็ควรมีเสียงดังไกลไม่น้อยกว่า 60 เมตร เพื่อส่งเสียงไปยังสิ่งกีดขวางข้างหน้าได้ทันท่วงที
การขับแซง ให้สัญญาณรถคันหน้าเสมอก่อนจะขับแซงขึ้นไปโดยการแซงขวาเท่านั้น รักษาระยะห่างพอสมควร เมื่อแซงผ่านแล้วก็ต้องเข้าเลนซ้าย ห้ามแซงคันที่กำลังเปิดไฟเลี้ยวขวา ห้ามแซงขณะรถขึ้นสะพานหรืออยู่ทางโค้ง มีทัศนวิสัยที่ไม่ดีก็ไม่ควรแซง
การขับรถออกจากที่จอด ถ้ามีรถขวางควรให้สัญญาณมือหรือไฟสัญญาณ เมื่อจะเลี้ยวรถต้องชะลอและเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวไม่ต่ำกว่า 30 เมตร ให้กลับรถในทางที่ปลอดภัย ไม่กลับรถบนสะพานหรืออย่างน้อย 100 เมตรจากทางราบเชิงสะพาน
การหยุดรถและจอดรถ ให้หยุดหรือจอดรถในทางที่ปลอดภัยไม่กีดขวางผู้อื่น จอดรถชิดซ้ายกับขอบทางในระยะห่างไม่เกิน 25 เซนติเมตร ห้ามจอดรถบนทางเท้า บนสะพาน ในอุโมงค์ ทางแยก หรือตรงที่มีป้ายห้ามจอด
ข้อควรปฎิบัตรเมื่อจะขับรถ
1. ทำตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด พกใบขับขี่ คาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ ขับขี่ด้วยความปลอดภัย ไม่ขับเร็วกว่ากฎหมายกำหนด
2. ขับขี่แบบใจเขาใจเรา เดินทางสายกลาง ไม่ใช้อารมณ์ส่วนตัวบนท้องถนน และไม่ประมาท
3. ก่อนขับต้องปรับตัวให้พร้อม นอกจากสภาพรถที่ต้องพร้อมแล้ว ผู้ขับขี่ก็ควรพักผ่อนให้เพียงพอ การหลับในเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของอุบัติเหตุ เมื่อรู้สึกว่าง่วง ก็ควรจอดรถพักผ่อน หรือเปลี่ยนกะ
4. ไม่ขับขี่รถยนต์ขณะมึนเมา หรือมีการดื่มสุราบนรถ
5. ฝนตกถนนลื่น ระวังเรื่องการลื่นไถล ควรขับด้วยความเร็วต่ำแต่ใช้เกียร์สูงเพื่อป้องกันการลื่นเสียการทรงตัว ไม่เหยียบเบรกแบบฉุกละหุก
6. เกิดอุบัติเหตุแล้วไม่หนี เพราะการสันนิษฐานแรก คือ ผู้ที่ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุแล้วขับหนี ผู้นั้นจะเป็นผู้กระทำผิด สิ่งที่ต้องทำ คือ หยุดรอเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ประกัน และหาเครื่องหมายสัญญาณแจ้งว่าเป็นพื้นที่อุบัติเหตุ เพื่อป้องกันเหตุซ้ำซ้อนจากรถที่ตามมา
7. ทำประกันไว้ อุ่นใจกว่า เพราะเดี๋ยวนี้ประกันหลายตัว ครอบคลุมการดูแลในเรื่องค่ารักษา ผู้เกิดอุบัติเหตุไม่ต้องออกค่ารักษาก่อน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิดก็มีประกันรับผิดชอบค่าเสียหาย เช่น ผู้ทำประกันฯ ชั้น 1 ก็อาจได้รับการดูแลทั้งฝ่ายถูกและฝ่ายผิด รวมทั้งประกันบางตัว มีการดูแลรับผิดชอบไปถึงเรื่องรถยนต์สูญหาย ถูกขโมย และเกิดเหตุไฟไหม้ นอกจากนี้ยังมีบริการให้รถสำรองขับในขณะที่ซ่อมคันเก่าอยู่ และประกันสมัยนี้ก็ขยันขันแข็งทำงานกัน 24 ชั่วโมง และมาถึงที่เกิดเหตุเร็วเสียด้วย
ข้อดีของกฎหมายจราจร
1. หากทำตามกฎหมายจราจร จะทำให้บนท้องถนนไม่ติดขัด เดินทางสะดวก แถมยังปลอดภัยอีกด้วย
2. การปฏิบัติตามกฎจราจรจะเป็นการปัองกันอุบัติเหตุ หากมีผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรอยู่เสมอ อุบัติเหตุบนท้องถนนก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆ
3. ประหยัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมทั้งยังลดมลพิษในอากาศ
4. ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน แน่นอนว่าหากเราทำตามกฎที่กำหนด จะไม่มีการเกิดอุบัติเหตุใดๆเลย
5. ลดปัญหาการถกเลี่ยงระหว่างผู้ขับต่อผู้ขับ หากต่างคนต่างไม่ทำตามกฎ อาจเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่ายๆ
ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 (อัปเดต 2564)
1. ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
โดยส่วนใหญ่เวลาเรานั่งรถยนต์ หรือ รถแท็กซี่โดยเฉพาะในส่วนของผู้โดยสารส่วนหน้าและผู้ขับ ซึ่งก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ละเมิดกฎจราจรข้อนี้อย่างบ่อยครั้ง และรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ก็จะมีระบบเตือนให้เราคาเข็มขัดนิรภัย แต่ก็ยังมีคนที่ไม่คาดด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ก็จะส่งผลกระทบรุนแรงกับผู้ใช้รถยนต์อย่างแน่นอน โดยกฎหมายได้มีการกำหนดให้ คาดเข็มขัดนิรภัยในขณะขับรถ บังคับใช้ทั้งรถเก๋ง รถกระบะ รถแท็กซี่ รถตู้ บังคับให้ผู้ขับรถยนต์ และผู้ที่นั่งตอนหน้าข้างคนขับต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วย หากฝ่าฝืนจะมีโทษคือ ผู้ขับขี่ไม่รัดเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง และความผิดที่ไม่จัดคนนั่งด้านหน้าคู่กับคนขับให้คาดเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสาร โดยมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ต่อคนตามมาตรา 123 วรรค 2
2. การขับรถเร็วเกินกำหนด
เป็นกฎหมายการจราจรที่มีผู้ฝ่าฝืนมากที่สุดในข้อกฎหมายเลยก็ว่าได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการแก้ปัญหาโดยการเพิ่มกล้องตรวจจับความเร็ว แต่พอเลยจุดที่ตรวจจับ ก็กลับมาใช้ความเร็วสูงเช่นเดิม โดยความเร็วที่ถูกกำหนดไว้นั่นคือ รถยนต์และรถจักรยนต์ ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกเขตเทศบาล และไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างในเขตเทศบาล กรุงเทพฯ และเมืองพัทยา แต่ในปัจจุบันก็ยังมีคนฝ่าฝืนกฎจราจรในข้อนี้จนเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง และมาตรา 152
3. การเลี้ยวรถโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว
ทุกครั้งที่ต้องการเปลี่ยนช่องจราจรหรือเลี้ยวรถต่างๆ ไม่ว่าจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ควรจะมีการเปิดสัญญาณไฟเลี้ยว เพื่อส่งสัญญาณให้รถยนต์ที่ขับอยู่ข้างหลังได้รู้ว่าคุณกำลังจะเลี้ยวออกไปฝั่งไหน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ แต่ที่ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆนั้น ก็มาจากการที่เปิดไม่เปิดไฟแล้ว และ การเลี้ยวแบบกระทันหัน ซึ่งในความจริงแล้ว เราควรเปิดไฟเลี้ยวให้รถยนต์คันหลังเห็นอย่างชัดเจนก่อนที่เราจะทำการเลี้ยวรถ เช่น หากรถวิ่งอยู่ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้เปิดไฟเลี้ยวล่วงหน้าก่อน 60 เมตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามมาตรา 36 วรรคหนึ่งและมาตรา 148
4. หยุดรถกีดขวางการจราจร
การหยุดรถในเขตห้ามหยุด จนเป็นสาเหตุให้เกิดการกีดขวางการจราจรให้รถยนต์คันอื่นนั้นไม่สามารถเข้าออกได้ ซึ่งสาเหตุแบบนี้เราก็สามารถพบเห็นได้บ่อยในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งจะมีโทษตามความผิด คือ ปรับไม่เกิน 500 บาท ตามมาตรา 43 อนุ 3
5. ไม่พกใบขับขี่
ในขณะที่ขับรถ หากไม่พกใบอนุญาตขณะที่ขับรถ และไม่สามารถแสดงใบอนุญาตได้ เมื่อเจ้าพนักงานจราจรขอตรวจ มีโทษปรับ 400 บาทตามมาตรา 31/1 วรรคหนึ่ง และมาตรา 152
6. การจอดรถยนต์ในที่ห้ามจอด
การจอดรถในที่ห้ามจอดหรือป้ายห้ามจอด สามารถพบเห็นได้บ่อยๆ ซึ่งการจอดรถในเขตพื้นที่ที่มีเส้นขาวแดงหรือว่าป้ายห้ามจอดนั้น จะมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามมาตรา 22 วรรคหนึ่งและมาตรา 152
7. ห้ามแซงซ้าย
หากจะขับแซงรถคันข้างหน้า จะต้องแซงด้านขวา หากแซงซ้ายจะเกิดอันตรายได้ ถ้าไม่ปฎิบัติตาม มีโทษปรับ 500 บาทตามมาตรา 45 และมาตรา 157
8. การขับรถในวงเวียน
จะต้องเลี้ยวอ้อมไปทางซ้ายของวงเวียนหรือเกาะที่สร้างไว้ เมื่อจะเลี้ยวอ้อมวงเวียนหรือเกาะที่สร้างไว้ หากไม่ปฎิบัติตามมีโทษปรับ 400 บาท ตามมาตรา 51 อนุ 3และมาตรา 148
9. ขับรถออกจากที่จอดรถ
การขับรถออกจากที่จอดรถจะต้องให้สัญญาณแขนหรือมือหือสัญญาณไฟ เพื่อให้รถคันอื่นได้ทราบ จะได้ใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ได้ หากไม่ปฎิบัติตาม มีโทษปรับ 500 บาท ตามมาตรา 50 และมาตรา 152
10. ลดความเร็ว
หากผู้ขับขี่ซึ่งจะเลี้ยวรถ ให้รถอื่นแซงหรือผ่านขึ้นหน้า จอดรถ หยุดรถ หรือกลับรถ ต้องลดความเร็วของรถ ถ้าหากไม่ลดความเร็วหากเกิดอุบัติเหตุได้และทำให้ผู้อื่นรับผลกระทบด้วยจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 500 บาท มาตรา 670 วรรคหนึ่ง และมาตรา152
11. ไม่ขับรถในช่องเดินรถประจำทาง
ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถแซงหรือผ่านขึ้นหน้ารถคันอื่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถประจำทาง เว้นแต่ในกรณีที่มีสิ่งกีดขวางการจราจรในทางเดินรถข้างหน้าหรือเมื่อต้องปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร แต่ทั้งนี้จะขับรถอยู่ในช่องเดินรถประจำทางได้เพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากไม่มีความจำเป็นมีโทษปรับ 200 บาท มาตรา 34 และมาตรา 151
12. ขับรถบรรทุกวัตถุอันตรายจะต้องติดแผ่นป้าย
ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถที่ใช้บรรทุกวัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายชนิดอื่นใด ต้องจัดให้มีป้ายแสดงถึงวัตถุที่บรรทุกและเครื่องดับเพลิง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการป้องกันอันตรายลักษณะและวิธีการติดป้ายแสดงถึงวัตถุที่บรรทุกและเครื่องดับเพลิงตลอดจนเงื่อนไขในการป้องกันอันตราย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากไม่ปฎิบัติตาม มีโทษปรับ 1,000 บาท ตามมาตรา 17 และมาตรา 158
13. ห้ามแซง
ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นด้านซ้าย เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
1. รถที่จะถูกแซงกำลังเลี้ยวขวาหรือให้สัญญาณว่าจะเลี้ยวขวา
2. ทางเดินรถนั้นได้จัดแบ่งเป็นช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป
การขับรถแซงด้านซ้ายตาม 1.หรือ 2.จะกระทำได้เมื่อไม่มีรถอื่นตามมาในระยะกระชั้นชิดและมีความปลอดภัยพอ หากไม่กระทำตามมีโทษปรับตั้งแต่ 500 บาท ตามมาตรา 45 และมาตรา 157
14. ห้ามฝ่าไฟเหลือง
ถือเป็นกฎจราจรเบื้องต้นในชีวิตประจําวัน ที่ควรรู้มาก ๆ เพราะเมื่อต้องขับรถบนถนน แน่นอนว่าต้องเจอสัญญาณไฟอยู่แล้ว! ซึ่งหลาย ๆ คนไม่ค่อยรู้ว่า ไฟเหลืองเนี่ย มันฝ่าไม่ได้ !! เนื่องจากไฟเหลืองเป็นสัญญาณที่กำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องเตรียมหยุดรถหลังเส้น เว้นแต่ว่า ไฟเหลืองจะโผล่หน้ามาหลังคุณขับรถเลยเส้นไปแล้ว ถึงจะขับผ่านไปได้เลย ทว่า หากจงใจฝ่าสัญญาณไฟ อาจโดนโทษปรับสูงสุด 500 บาท ฐานฝ่าฝืนพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 22 และมาตรา 152
15. ห้ามจอดรถบนสะพานหรืออุโมง
เพราะการขับรถในอุโมงหรือบนสะพานเป็นการขับรถในขณะที่ใช้ความระมัดระวังยาก เพื่อความปลอดภัยจึงต้องห้ามจอดรถในอุโมงหรือบนสะพาน หากฝ่าฝืน มีโทษปรับ 400 บาท ตามมาตรา 55 อนุ 3 และมาตรา 148
16. ห้ามจอดซ้อนคัน
การจอดรถตามท้องถนน ที่ ๆ สามารถจอดได้ หากมีรถจอดอยู่แล้วห้ามจอดซ้อนคันเพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้จากผู้ขับขี่บนท้องถนน จะทำการขับขี่ไม่สะดวก หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 200 บาท มาตรา 76 อนุ 6 และมาตรา 148
17.ห้ามจอดขวางตู้ไปรษณีย์
การจอดรถ หากเห็นตู้ไปรษณีย์จะต้องกระทำการจอดรถห่างจากตู้ไปรษณีย์เป็นระยะห่างสามเมตร เพื่อไม่กีดขวางตู้ไปรษณีย์ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 200 บาท มาตรา 77 อนุ 14 และมาตรา148
18. ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่เรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่ปรากฏจากมาตรแท็กซี่
หากฝ่าฝืน ปรับ 500 บาท ตามมตรา 89 วรรคหนึ่ง และมาตรา 152
19. ห้ามผู้ขับขี่รถบรรทุกคนโดยสารหรือผู้เก็บค่าโดยสาร
1. สูบบุหรี่หรือคุยกันในขณะขับรถหรือในขณะทำหน้าที่เก็บค่าโดยสาร มีโทษปรับ 300 บาท ตาม มาตรา 91 อนุ1 และมาตรา 152
2. กล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว หรือแสดงกิริยาในลักษณะดังกล่าวต่อคนโดยสารหรือผู้อื่น หากไม่ปฎิบัติตาม มีโทษปรับ 500 บาท ตามมาตรา 91 อนุ 2 และมาตรา 152
20. ไม่หลบรถฉุกเฉิน
ผู้ขับขี่จะต้องหยุกรถและจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือต้องชิดช่องทางประจำ เมื่อเห็ฯรถฉุกเฉิน หากไม่หลบทางให้รถฉุกเฉินและไม่ปฎิบัติตาม มีโทษปรับ 400 บาท ตามมาตรา 76 อนุ 2 และมาตรา 148
21. การปฎิเสธการรับผู้โดยสาร
ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร เว้นแต่การบรรทุกนั้นน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวเองหรือผู้โดยสาร ในกรณีที่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่มีความประสงค์จะไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสารให้แสดงป้ายงดรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร วิธีการแสดงป้ายและลักษณะของป้ายงดรับจ้างบรรทุกคนโดยสารให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ หากไม่ปฎิบัติตามมีโทษปรับ 400 บาท ตามมาตรา 87 และมาตรา 148
22. การขับรถแท็กซี่ห้ามปฎิเสธรับผู้โดยสาร
จะต้องแสดงป้ายงดรับผู้โดยสารทุกครั้ง หากจะไม่รับผู้โดยสาร ถ้าไม่ปฎิบัติตามมีโทษปรับ 500 บาท ตามมาตรา 93 วรรสอง และมาตรา 152
23. ขับขี่รถจักรยานไม่เปิดไฟ
โดยไม่เปิดโคมไฟแสงขาวหน้ารถ เพื่อให้รถคันอื่นมองเห็นรถของตัวเอง อาจเกิดอันตรายได้ หากฝ่าฝืน ปรับ 200บาท ตามมาตรา 82 และมาตรา 147
24. ห้ามตะโกนเรียกผู้โดยสาร
ห้ามมิให้เจ้าของรถโดยสาร ผู้ขับขี่รถโดยสาร ผู้เก็บค่าโดยสาร หรือบุคคลใดที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับรถบรรทุกคนโดยสาร เรียกให้คนขึ้นรถโดยส่งเสียงอื้ออึง หรือในลักษณะที่ก่อความรำคาญให้แก่คนโดยสารหรือผู้อื่น หรือต้อน ดึง เหนี่ยว หรือยึดยื้อ คนหรือสิ่งของของคนนั้นเพื่อให้คนขึ้นรถบรรทุกคนโดยสารคันใดคันหนึ่ง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500 บาท ตามมาตรา 86 และมาตรา 152
25. แซงเส้นทึบ
ห้ามขับรถแซงหรือผ่านขึ้นหน้ารถอื่นล้ำเข้าไปในเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถที่กำหนดไว้ หรือที่มีเครื่องหมายจราจรแสดงเขตอันตราย หรือเขตให้ใช้ความระมัดระวังบนทางเดินรถ ในกรณีที่ทางเดินรถด้านซ้ายมีสิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรคแก่การจราจรและทางเดินรถด้านขวามีความกว้างเพียงพอ ผู้ขับขี่จะขับรถหลีกสิ่งกีดขวางล้ำเข้าไปในเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถที่หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรกำหนดไว้ก็ได้ ในเมื่อไม่กีดขวางการจราจรของรถที่สวนทางมา หากมีฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500 บาท มาตรา 47 และมาตรา 158
26. ห้ามมิให้แข่งรถในทางหรือถนน
ห้ามมิให้ผู้ใดแข่งรถในทางหรือจัดสนับสนุน หรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ตามมตรา 134 และมาตรา 160 ทวิ
27. ห้ามมิให้เสพยาบ้า (แอมเฟตามีน) ขณะขับรถ
ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพหรือรับเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน (ยาบ้า) หรือวัตถุออกฤทธิต่อจิตและประสาทอย่างอื่นที่อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบันกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจัดให้มีการตรวจสอบทั้งประเภทตามที่กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกาาว่าได้เสพหรือรับเข้าร่างกายด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อประสาทอย่างอื่นที่กำหนดหรือไม่
ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แต่ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 80,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ตามมาตรา 43 ทวิ
28. ผู้ขับขี่และคนโดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวม “หมวกนิรภัย”
ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และคนโดยสารรถจักรยายนต์ ต้องสวมหมวกที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อป้องกันอันตราย ในขณะขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ในท้องที่ที่กำหนด ดังต่อไปนี้
- ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2535 เป็นต้นไป
- ในเขตท้องที่จังหวัดของแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิษณุโลก สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี ให้มีผลใช้บังคับนับตั้งแต่ 15 กันยายน 2536 เป็นต้นไป
- ในเขตท้องที่จังหวัดอื่น นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ให้มีผลใช้บังคับ 15 กันยายน 2537 เป็นต้นไป ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาทตามมาตรา 85และมาตรา 148
29. สภาพรถและแผ่นป้ายทะเบียนรถ
- ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง หรืออาจเกิดอันตรายหรืออาจทำให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยแก่ผู้ใช้ คนโดยสาร หรือประชาชนใช้ในทางเดินรถ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 400 บาท ตามมาตรา 6 วรรคหนึ่งและมาตรา 148
- ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียน แผนป้ายเครื่องหมายเลขทะเบียน หรือ ป้ายประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่ง กฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน กฎหมายว่าด้วยรถลาก หรือกฎหมายว่าด้วยรถจ้าง มาใช้ในทางเดินรถ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามมตรา 7 และมาตรา 152
30. เมาแล้วขับ
ขณะขับรถตรวจพบแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- กรณีที่ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา เว้นแต่ผู้ขับขี่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือมีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว หรือมีใบขับขี่สำหรับรถประเภทอื่น หรือไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรือถูกพักใบอนุญาตขับขี่ ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา
สรุป 1. เมาแล้วขับ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5 พัน ถึง 2 หมื่นบาท
2. เมาแล้วขับชนคนบาดเจ็บ จำคุก 1 ปีถึง 5 ปี และปรับ 2 หมื่น ถึง 1 แสนบาท
3. เมาแล้วขับชนคนบาดเจ็บสาหัส จำคุก 2 ปีถึง 6 ปี และปรับ 4 หมื่น ถึง 1 แสน 2 หมื่นบาท
4. เมาแล้วขับชนคนตาย จำคุก 3 ปีถึง 10 ปี และปรับ 6 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท
มีความผิดตามมาตรา 43
31. เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด
หลายครั้งที่เราเคยชินกับป้ายเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด จนเผลอลืมคิดไปเองว่าทุกซ้ายสามารถเลี้ยวได้ แต่ความจริงแล้วเลี้ยวซ้ายจะผ่านได้ตลอดก็ต่อเมื่อมีป้ายสัญลักษณ์บอกเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เลี้ยวซ้ายผ่านตลอต เท่านั้น หากไม่มีสัญลักษณ์หรือป้ายบอก ตามกฎหมาย พ.ร.บ. จราจรทางบก ได้ระบุไว้ว่าให้รอสัญญาณไฟเขียวเลี้ยวซ้ายก่อนจึงให้เลี้ยวได้ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท มาตรา 22 และมาตรา 152
32. จอดเลยเส้นตรงแยก
เรามักพบเห็นได้บ่อยกับการจอดรถเลยเส้นตรงแยก หรือจอดทับทางม้าลาย ทำให้คนข้ามถนนต้องเดินเลี่ยงออกจากทางม้าลายเพื่อข้ามถนน ทำให้เกิดอันตรายจากกรณีรถที่ขับมาจากอีกแยกเฉี่ยวชนได้ จึงมีกฎหมายจราจรออกมาบังคับเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก หากฝ่าฝืนอาจมีโทษปรับ 400 บาท มาตรา 57 อนุ 3 และมาตรา 148
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น