2748 จำนวนผู้เข้าชม |
ความผิดที่เกิดขึ้นจากสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นสุนัข (หมา) แมว นก ช้าง วัว ควาย เป็นต้น
เมื่อสัตว์เลี้ยงของเราไปสร้างความเดือนร้อนให้แก่ผู้อื่น เช่น สุนัขไปกัดผู้อื่น สัตว์เลี้ยงวิ่งตัดหน้ารถยนต์จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ อื่นๆ เป็นต้น เมื่อเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งถือเป็นการละเมิดตามกฎหมาย หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงเพิกเฉย หรือปฎิเสธความรับผิดชอบ ผู้เสียหายมีสิทธิดำเนินคดีต่อศาลเป็นคดีแพ่งได้ เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว โดยมีอายุความ 1 ปี นับแต่เกิดเหตุ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้
ตามมาตรา 433 จะเห็นว่าแม้จะเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็ตาม แต่กฎหมายก็มีข้อยกเว้นที่ว่าถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าใช้ความระมัดระวังแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2510
พฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้เลี้ยงรักษาลูกช้างมิได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควร เจ้าของช้างใช้ให้บุคคลอื่นเอาช้างของตนไปรับจ้างลากไม้ เป็นการที่บุคคลนั้นทำแทนจำเลย เมื่อลูกของช้างนั้นไปทำอันตรายบุคคลภายนอกโดยผู้ที่เอาช้างของตนไปมิได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควร เจ้าของช้างต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ที่ถูกช้างนั้นทำอันตราย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1686/2493
ในกรณีเกิดความเสียหายขึ้นเพราะสัตว์ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 433 นั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เลี้ยงและเจ้าของกระบือได้ทำละเมิด ทำให้กระบือของตนขวิดกระบือของโจทก์เสียหายถึงตายเช่นนี้ ก็เป็นฟ้องอันชัดแจ้งและแสดงเหตุแห่งข้อหาอย่างบริบูรณ์ตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 172 แล้ว ไม่จำเป็นกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 867/2492
ตามมาตรา 433 ป.ม.แพ่ง ฯ เป็นหน้าที่ของผู้เป็นเจ้าของสัตว์จะพิสูจน์ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงสัตว์ การรักษาตามชะนิดและวิสัยของสัตว์ ช้างของจำเลยตกมันเต็มที่ ถ้าได้ยินเสียงคนเป็นไล่อาละวาดทันที ช้างของจำเลยได้เพ่นพ่านอยู่ในละแวกบ้านไม่น้อยกว่า 20 วัน จำเลยเป็นแต่คอยเฝ้าดูแลในเวลากลางวันห่าง ๆ เพราะเข้าใกล้ไม่ได้ ส่วนในเวลากลางคืนหาได้เฝ้าดูแลไม่ เมื่อปรากฎว่าช้างของจำเลยได้ทำร้ายผู้อื่นตาย จำเลยจึงได้ใช้วิธียิงขาช้างและจับได้ จะว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชะนิดและวิสัยของสัตว์แล้วไม่ได้
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
แฟนเพจสำนักงานกฎหมาย : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น