Last updated: 28 มี.ค. 2566 | 1076 จำนวนผู้เข้าชม |
การรับรองบุตร หลายๆคนมักจะเข้าใจว่าเพียงแค่มีชื่อบิดาในใบสูติบัตรหรือใบเกิดลูกของบุตรเป็นการรับรองบุตรตามกฎหมายแล้ว แต่ความเป็นจริง ไม่ใช่แบบนั้น การรับรองบุตรจะสามารถกระทำได้เมื่อลูกมีอายุเพียงพอที่จะให้ความยินยอมได้ ประมาณ 6-7 ขวบขึ้นไป และบิดาและมารดาของบุตรต้องให้ความยินยอมด้วย โดยหากพ่อแม่ลูกให้ความยินยอมทั้งหมด สามารถไปจดทะเบียนขอรับรองบุตรที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอของจังหวัดได้เลย กับอีกกรณีหนึ่งคือกรณีที่บุตรอายุความยังไม่เพียงพอแก่การให้ความยินยอม หรือบิดา หรือมารดา ไม่ให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับรองบุตรตามกฎหมาย กรณีแบบนี้ก็ต้องมีการทำเรื่องยื่นคำร้องหรือคำฟ้องขอรับรองบุตรต่อศาลเยาวชนและครอบครัวในเขตพื้นที่ที่บุตรมีภูมิลำเนา
การร้องขอรับรองบุตรต่อศาลในกรณีที่พ่อแม่ ยินยอมให้มีการรับรองบุตร เพียงแต่ทำคำร้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด ยื่นต่อศาล หากไม่สามารถทำเองได้ก็สามารถว่าจ้างทนายให้ดำเนินการในส่วนนี้ให้ พร้อมกับว่าความในวันนัดไต่สวนคำร้องของศาล เมื่อศาลมีคำสั่งให้รับรองบุตรเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถนำคำสั่งของศาลไปจดทะเบียนที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอได้ทันที
แต่หากพ่อหรือแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความยินยอมในการรับรองบุตร กรณีนี้แบบนี้จะต้องทำเรื่องฟ้องเพื่อให้มีการรับรองบุตรตามกฎหมาย และพิสูจน์ถึงการเป็นบิดาที่แท้จริงของบุตร (มารดาจะได้รับการรับรองบุตรตามกฎหมายโดยอัตโนมัติอยู่แล้วเนื่องจากเป็นผู้คลอดบุตรย่อมเป็นหลักฐานชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นแม่ลูกกันจริง) หลักฐานที่พิสูจน์ว่าเป็นพ่อลูกกันจริงๆ ได้แก่ ยินยอมให้ระบุชื่อพ่อในสูติบัตร ยินยอมให้ใช้นามสกุล ยินยอมให้ลูกอยู่ในทะเบียนบ้านของพ่อ และมีการแสดงออกจากชัดเจนว่าเป็นพ่อลูกกัน โดยมีบุคคลระแวงบ้านรู้เห็น เป็นต้น ก็นำพยานหลักฐานดังกล่าวเสนอต่อศาล เมื่อศาลมีคำสั่งให้รับรองบุตรตามกฎหมายแล้ว ก็นำคำสั่งของศาลดังกล่าวไปยื่นจดทะเบียนที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอต่อไป
จะเห็นได้ว่าการที่ระบุชื่อบิดาในสูติบัตร ตามกฎหมายยังไม่ถือว่าเป็นการรับรองบุตรตามกฎหมาย แต่การระบุชื่อบิดาในสูติบัตรเป็นเพียงหลักฐานอย่างหนึ่งที่จะนำไปใช้พิสูจน์ว่าเป็นพ่อลูกกันจริงๆเท่านั้น เมื่อยังไม่ได้มีการรับรองบุตรตามกฎหมาย กฎหมายให้ถือว่ายังไม่ใช่บิดาตามกฎหมาย เมื่อยังไม่ใช่บิดาตามกฎหมาย จึงยังไม่เกิดสิทธิใดต่อบุตร รวมถึงอำนาจในการเลี้ยงดูบุตรและการเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรด้วย แต่หากเป็นกรณีที่มารดาของบุตรต้องการจะฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรก็ต้องมีการขอให้มีการรับรองบุตรไปพร้อมกับคำฟ้องขอเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรด้วย
เมื่อจดทะเบียนรับรองบุตรเรียบร้อยแล้ว อำนาจปกครองบุตรจากเดิมที่มารดาของบุตรจะมีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว จะกลายเป็นบิดาและมารดาจะมีอำนาจปกครองบุตรร่วมกัน หรือเท่ากัน ที่จะมีสิทธิมีอำนาจปกครองลูกในหลายๆกรณีตามกฎหมายต่อไป แต่ทั้งนี้ก็ไม่ตัดสิทธิให้บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องขออำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวได้ หากปรากฎว่าภายหลังบิดาและมารดาแยกทางกัน หรือมีพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ส่งผลกระทบต่อบุตร ซึ่งการขออำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ทางสำนักงานจะนำความรู้ทางกฎหมายมาทำเป็นบทความในโอกาสต่อไป
หากท่านกำลังต้องการทำเรื่องขอรับรองบุตรต่อศาล หรือกำลังประสบกับปัญหาการรับรองบุตร ท่านสามารถติดต่อทางสำนักงานกฎหมายของเราให้ช่วยเหลือท่านในทางคดีต่อศาลได้ หรือสอบถามหรือปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับการรับรองบุตรกับสำนักงานของเรา สำนักงานทนายความของเราพร้อมและยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือท่าน
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
แฟนเพจ : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น