การบุกรุกมีความผิดอย่างไร - ทนายนิธิพล

12310 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การบุกรุกมีความผิดอย่างไร - ทนายนิธิพล

การบุกรุกมีความผิดอย่างไร

          ในความผิดฐานบุกรุกนั้น ได้ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 “ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

          พิจารณาองค์ประกอบของบุกรุกได้ดังนี้

               1. ผู้ใด ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นบุคคลธรรมดา ยกเว้นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น

               2. เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีการเข้าไปในพื้นที่อสังหาริมทรัพย์แล้ว หากอยู่บริเวณรอบๆอสังหาริมทรัพย์ ก็จะไม่ใช่กรณีเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์

               3. ของผู้อื่น อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ที่ไม่ใช่ของตน หรือเป็นของตนแต่ได้ให้ผู้อื่นเช่าไปแล้ว หากผู้ให้เช่าเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งให้เช่า ผู้ให้เช่าก็จะมีความผิดฐานบุกรุก

          เมื่อพิจารณาถึงความผิดที่จะมีลักษณะเป็นการบุกรุกตาม มาตรา 362 นั้นมีอยู่ 2 ความผิด คือ

               1) เพื่อถือการครอบครองของผู้อื่น ซึ่งมีลักษณะเป็นการแย่งการครอบครอง และการแย่งการครอบครองนั้น ผู้ที่ถูกแย่งการครอบครอง (ผู้เสียหาย) จะต้องเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น

               2) รบกวนการครอบครองของผู้อื่น หรือหากเป็นกรณีที่มีการเข้าไปรบกวนการครอบครองที่มีผู้เช่าอยู่ และถึงแม้ผู้ที่ไปรบกวนการครอบครองจะเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น เจ้าของนั้นก็จะเป็นผู้บุกรุกได้เช่นกัน

          สรุปก็คือ การบุกรุก คือกรณีที่ 1 เข้าไปเพื่อถือการครอบครองของผู้อื่น กรณี 2 เข้าไปรบกวนการครอบครองของผู้อื่น ซึ่งทั้งกรณี 1 และ 2 นี้ ต้องได้เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นแล้ว ก็จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม มาตรา 362

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1/2512 แม้ห้องพิพาทจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ของจำเลย แต่เมื่อโจทก์ยังครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นและยังโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่าอยู่ ถ้าจำเลยเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุข จำเลยก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ได้

          การที่จำเลยใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูห้องที่โจทก์ครอบครองในขณะที่โจทก์ไม่อยู่และปิดห้องไว้ ทำให้โจทก์เข้าอยู่ในห้องไม่ได้เป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของโจทก์ถือได้ว่าเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 แล้ว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 29/2511)

          คำพิพากษาฎีกาที่ 6894/2540 โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพร้อมบ้านพิพาท เนื่องจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน และจำเลยยินยอมส่งมอบการครอบครองที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองนับแต่วันทำสัญญา ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิอยู่ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทโดยชอบ หากจำเลยเห็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทต่อไป ก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้แย้งสิทธิกันในทางแพ่ง จำเลยชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน จำเลยจึงไม่มีอำนาจโดยพลการที่จะตัดโซ่คล้องกุญแจที่โจทก์ใช้ปิดประตูหน้าบ้านออกแล้วใช้กุญแจของจำเลยคล้องแทนทำให้โจทก์เข้าบ้านไม่ได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของโจทก์โดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ทั้งกุญแจพร้อมโซ่ที่จำเลยใช้ให้ช่างทำกุญแจตัดออกเป็นกุญแจของโจทก์ การที่จำเลยใช้ให้ช่างทำกุญแจพร้อมโซ่ของโจทก์จนเสียหายไร้ประโยชน์ย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358

กรณีนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่า โดยไม่มีอำนาจ เป็นความผิดฐานบุกรุก

          คำพิพากษาฎีกาที่ 2768/2551 ที่ดินที่ถูกกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบุกรุกนำสินค้ามาวางขายเป็นของโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมไม่ได้อนุญาตให้จำเลยนำไปให้ผู้ใดเช่า การที่จำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปให้บุคคลดังกล่าวเช่าโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362

ตัวอย่างความผิดที่ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานบุกรุก

          ไม่ได้เข้าไปถือการครอบครองที่ดินของผู้อื่น

          คำพิพากษาฎีกาที่ 2244/2532 ความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 นั้นต้องเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข จำเลยเข้าไปปลูกสร้างบ้านในที่พิพาทโดยความยินยอมของเจ้าของเดิมก่อนโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทมา หาใช่จำเลยเพิ่งเข้าไปครอบครองที่พิพาทเมื่อโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทแล้วไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362

          กรณีการจะเข้าถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นนั้น จะต้องมีเจตนาที่ต้องการจะเข้าถือการครอบครองด้วย หากไม่มีเจตนาเช่นว่านี้ ก็จะไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

          คำพิพากษาฎีกาที่ 3060/2525 จำเลยสร้างรั้วในที่ดินพิพาทก่อนที่ข้อเท็จจริงจะปรากฏแน่นอนจากการรังวัดสอบเขตโฉนดของโจทก์ร่วมว่าที่ดินส่วนที่เป็นรั้วอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ร่วม เป็นเรื่องเข้าใจว่ากระทำลงไปในที่ดินของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิด ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก จำเลยเพียงแต่เอาดินลูกรังมาถมทางเดินเดิมซึ่งเป็นคันนาเกลือไม่มีรั้วหรือสิ่งใดปิดกั้นห้ามเดินผ่าน เป็นการกระทำโดยเจตนาใช้เป็นทางเดินออกไปสู่ถนนใหญ่เท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเจตนายึดถือการครอบครองที่ดินของโจทก์ร่วมอันเป็นความผิดฐานบุกรุก

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้