หมิ่นประมาท เป็นคดีอาญาแจ้งความหรือฟ้องเองได้ทันที - ทนายนิธิพล

162693 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หมิ่นประมาท เป็นคดีอาญาแจ้งความหรือฟ้องเองได้ทันที - ทนายนิธิพล

หมิ่นประมาท เป็นคดีอาญาแจ้งความหรือฟ้องเองได้ทันที

          คดีหมิ่นประมาทเป็นคดีที่เกิดขึ้นได้ง่ายและเป็นกรณีใกล้ตัว ซึ่งคดีหมิ่นประมาทนั้นเป็นคดีที่มีการฟ้องต่อศาลเป็นอันดับต้นๆ หมิ่นประมาทมีได้ทั้งสองกรณีคือ หมิ่นประมาทแบบธรรมดา และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ซึ่งมีอัตราโทษที่แตกต่างกัน โดยคดีหมิ่นประมาทนั้นเป็นคดีอาญา และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนของคดีแพ่งได้ด้วย โดยข้อหาหมิ่นประมาทนั้นจะบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้

             มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ซึ่งการหมิ่นประมาทแบบธรรมดา ตามมาตรา 326 นั้นจะเป็นการหมิ่นประมาทโดยการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ซึ่งไม่ใช่การป่าวประกาศให้บุคคลโดยทั่วไปได้รับทราบข้อความที่ใส่ความนั้น มีลักษณะเป็นการใส่ความแบบตัวต่อตัว หรือเพียงกลุ่มบุคคลเท่านั้น อย่างเช่น การพูดนินทากับเพื่อนการใส่ความในกลุ่มปิดมีบุคคลที่อยู่ในกลุ่มไม่มาก เป็นต้น ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เท่านั้น

          ส่วนการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา อัตราโทษจะสูงกว่าการหมิ่นประมาทแบบธรรมดา เพราะข้อความที่หมิ่นประมาทบุคคลโดยทั่วไปสามารถเห็นได้ ความเสียหายก็ย่อมจะมีมากกว่าการหมิ่นประมาทแบบธรรมดา ซึ่งหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาจะบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ซึ่งบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้

             มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

          การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จะเป็นการหมิ่นประมาทโดยป่าวประกาศหรือประจานออกไป ซึ่งบุคคลโดยทั่วไปสามารถเห็นข้อความดังกล่าวได้ เช่น การโพสข้อความกล่าวหาลงทางแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ติ๊กต็อก หรือลงหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

          เมื่อมีการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ผู้เสียหายสามารถไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจได้ และสามารถจะให้ทนายความทำเรื่องฟ้องต่อศาลโดยตรงได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวสามารถยอมความกันได้ จึงต้องกระทำการแจ้งความหรือฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่รู้ถึงการกระทำความผิด หากไม่ได้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดคดีย่อมขาดอายุความ แต่ปัญหาของการแจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทนั้นไม่ใช่เป็นความผิดร้ายแรง ปัญหาที่ทนายมักเจอก็คือ ตำรวจไม่อยากรับแจ้งความหรือรับแจ้งความไปแล้วคดีก็ไม่คืบหน้าเพราะคดีที่ตำรวจต้องทำนั้นมีจำนวนมาก จึงอยากแนะนำให้ว่าจ้างทนายความเป็นผู้ฟ้องเองต่อศาลจะดีที่สุด นอกจากนี้การที่ให้ทนายทำเรื่องฟ้องเองต่อศาลสามารถที่จะเรียกค่าเสียหายไปด้วยได้ในทันทีในการฟ้องเป็นคดีอาญา ไม่ต้องไปว่าจ้างทนายไปฟ้องเป็นคดีแพ่งต่างหากอีก ซึ่งการเรียกค่าเสียหายนั้นจะอยู่ในส่วนของกฎหมายละเมิดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งบัญญัติว่า

             มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

          ซึ่งการเกณฑ์การพิจารณาในเรื่องค่าเสียหายนั้นจะได้ค่าเสียหายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เช่น ผู้เสียหายเป็นนักธุรกิจการที่ถูกใส่ความย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจยอดขายลดลง หรือผู้เสียหายเป็นนักแสดงได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เป็นต้น ที่ยกตัวอย่างมาเป็นกรณีที่มีโอกาสสูงที่จะได้รับค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่หากผลกระทบมีน้อย ก็ย่อมจะได้รับความค่าเสียหายตามที่ศาลเห็นสมควร

          แต่การจะผิดหมิ่นประมาทได้นั้น ไม่ใช่ว่าทุกกรณีจะสามารถดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทได้ เพราะกฎหมายกำหนดชัดเจนว่า ต้องเป็นการใส่ความ ซึ่งข้อความที่จะเป็นการใส่ความนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือความเท็จถ้ามีการใส่ความก็เข้าหลักเกณฑ์ที่จะผิดข้อหาหมิ่นประมาท เช่น กล่าวหาว่าเป็นชู้ กล่าวหาว่าเป็นลูกหนี้ กล่าวหาเป็นพวกโกงเงินคนอื่น กล่าวหาว่าไปทำร้ายคนอื่น เป็นต้น ซึ่งจะแตกต่างจากการถูกด่าหยาบคาย เช่น ไอ้ควาย ไอ้สัตว์ เป็นต้น ซึ่งหากมีลักษณะเป็นการด่าหยาบคายเท่านั้นก็ย่อมไม่ผิดหมิ่นประมาทแต่จะผิดความผิดลหุโทษ ข้อหาดูหมิ่นนั้น สามารถเปรียบเทียบปรับที่สถานีตำรวจได้ และนอกจากนี้ต้องมีการระบุตัวตนของผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างชัดเจนที่บุคคลโดยทั่วไปสามารถจะทราบได้ทันทีว่าหมายถึงใคร เช่น มีการโพสรูปของผู้เสียหาย มีการเอ่ยชื่อนามสกุล มีการแท็กเฟซบุ๊ก หรือแม้จะไม่ได้มีการเอ่ยชื่อหรือรูปภาพ แต่เป็นการบรรยายลักษณะของผู้เสียหายแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ลูกหนี้เบี้ยวหนี้ ลูกหนี้บ้านมันอยู่หลังโลตัสนวมินทร์ บ้านหลังมุมแยก 2 หลังคาสีแดง เป็นลูกคนที่ 2 ของตาสม ทำงานอยู่ธนาคารกสิกรโลตัสนวมินทร์ ช่อง2 เป็นต้น แบบนี้ถือว่ามีการบรรยายถึงลักษณะของผู้เสียหายแบบเฉพาะจงเจาะ แบบนี้ก็เข้าข่ายที่จะผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว

          ซึ่งเรื่องข้อความที่ใส่ความหรือการระบุตัวตน ก็สามารถจะยกเป็นข้อต่อสู้ให้แก่จำเลยในการสู้คดีข้อหาหมิ่นประมาทได้ อีกทั้งยังมีข้อต่อสู้ที่เป็นประเด็นในการต่อสู้คดีอีกหลายกรณี เช่น ผู้เสียหายมาด่าหรือใส่ความก่อน หรือเป็นการติชมโดยทั่วไป เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เป็นต้น เมื่อมีการหมิ่นประมาทหรือถูกแจ้งความหรือฟ้องเป็นคดีหมิ่นประมาทแล้ว ควรรีบปรึกษาทนายความทันที โดยนำหลักฐานและเล่าข้อเท็จจริง เพื่อให้ทนายความประเมินคดีของคุณว่าควรจะดำเนินการไปในทิศทางใด โดยคุณสามารถติดต่อสำนักงานของเราได้ในช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ เราพร้อมและยินดีที่จะช่วยเหลือคุณ และพร้อมเคียงข้างคุณเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย
Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.
เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้