9437 จำนวนผู้เข้าชม |
ที่ดิน ส.ป.ก. คืออะไร
ที่ดิน ส.ป.ก. ถือเป็นที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิของหน่วยงานสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งจะนำที่ดินมาปฏิรูปเพื่อประโยชน์ในทางเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิ และการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐจะนำที่ดินของรัฐ หรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อ หรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตามกฎหมาย เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเอง หรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น โดยมีหลักว่า “ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้”
บุคคลใดจะมีสิทธิได้รับที่ดิน ส.ป.ก.
คุณสมบัติของเกษตรกรผู้ที่จะมีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. นั้น ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2535 ระบุว่า
- มีสัญชาติไทย บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว (ไม่จำต้องบรรลุนิติภาวะ) แล้ว
- มีความประพฤติดี
- มีร่างกายสมบูรณ์สามารถประกอบการเกษตรได้
- จะต้องไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่จะมีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. กำหนดไว้ดังที่กล่าวมาเท่านั้น มิใช่เป็นเพียงเกษตรกรก็จะมีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดินดังกล่าว
ขอที่ดิน ส.ป.ก. ได้กี่ไร่
– จำนวนที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ สำหรับเกษตรกร และบุคคลในครอบครัวเดียวกัน เพื่อใช้ประกอบเกษตรกรรม
– จำนวนที่ดินไม่เกิน 100 ไร่ สำหรับเกษตรกร และบุคคลในครอบรัวเดียวกัน เพื่อใช้ประกอบเกษตรกรรม ประเภทเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ
– จำนวนตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เห็นสมควรสำหรับสถาบันเกษตรกร
– ถ้าเป็นที่ดินของรัฐ และมีเกษตรกรถือครองอยู่แล้วเกินจำนวนที่กำหนด ก่อนเวลาที่ คปก. กำหนด (พ.ศ. 2524) จัดให้ตามจำนวนที่เกษตรกรถือครองได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100 ไร่
ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถซื้อขายได้หรือไม่
พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 กำหนดว่า
“ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
จะเห็นได้ว่า ผู้ได้รับประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. มีเพียงสิทธิทำกินหรือทำประโยชน์ในที่ดินแทน หรืออาศัยสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น โดยผู้ได้รับประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. มีหน้าที่ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเอง และต้องไม่ทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้น ทั้งหมดหรือบางส่วนไปให้บุคคลอื่น ไม่ว่าจะโดยการขาย ให้เช่า หรือยกที่ดินที่ได้รับให้บุคคลอื่นเข้าทำประโยชน์ หรือโดยพฤติกรรมใดๆที่แสดงให้เห็นในลักษณะนั้น เว้นแต่เป็นการตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หากผู้ได้รับประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ประสงค์จะสละสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดิน ให้ยื่นคำขอสละสิทธิได้ตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น ที่ดิน ส.ป.ก. จึงไม่สามารถซื้อขายได้ หากมีการซื้อขายในขณะที่เอกสารสิทธินี้ยังมีผลอยู่จะเป็นโมฆะ แต่ที่ดิน ส.ป.ก. นั้น สามารถโอน แบ่งแยก และตกทอดทางมรดกให้แก่บุคคลในครอบครัวได้
คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2542 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท (ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน) ระหว่างโจทก์กับจำเลย มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ซึ่งตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 ที่โจทก์ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ดังนี้หนังสือสัญญากู้เงินฉบับพิพาทที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2293/2552 พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้จะมีการซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยกันจริง นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยก็เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ในเขตปฏิรูปที่ดิน บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองจากผู้ที่ได้รับการจัดการ เพราะหากผู้ได้รับการจัดสรรละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองจะตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมต่อไป และพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 37 บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรือสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2553 พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า ปัจจุบันเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน รัฐจึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) นั้นจะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่ ส. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้โจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นย่อมก่อให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายโดยใช้วิธีการทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ส่งมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้โจทก์เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2560 ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นทบวงการเมืองมีฐานะเทียบเท่ากรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินของรัฐ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพียงจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เข้าทำกินได้เท่านั้น สิทธิการครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์มีเพียงสิทธิทำกินหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนหรืออาศัยสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนจำเลยซึ่งมิได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมไม่อาจยกอายุความการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนและอาศัยสิทธิสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) มีข้อควรทราบและพึงปฏิบัติระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นมิได้ และเมื่อผู้ได้รับอนุญาตสละสิทธิในที่ดินแล้ว ย่อมสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน การที่ ส. มารดาจำเลยและจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทระหว่างปี 2533 ถึง 2535 และโจทก์มอบ ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่ ส. และจำเลยยึดถือไว้ตลอดมา พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้สละสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทให้แก่ ส. และจำเลยแล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ฟ้องขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย
Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์
เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.
เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145