3284 จำนวนผู้เข้าชม |
การที่บริษัทผิดสัญญาจะเป็นการผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่ากรณีที่บริษัทผิดสัญญานั้นเป็นการผิดสัญญาแบบใด เช่น ผิดสัญญาจ้างทำของ ผิดสัญญาเช่า ผิดสัญญาซื้อขาย ผิดสัญญาประกันภัย เป็นต้น ซึ่งหากเป็นการผิดสัญญาแล้ว ผู้ที่ได้รับความเสียหายจะต้องดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลซึ่งเป็นคดีแพ่ง ต้องมีการว่าจ้างทนายความเพื่อทำเรื่องฟ้องต่อศาล โดยการว่าจ้างจะเริ่มตั้งแต่สอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน และร่างคำฟ้องยื่นต่อศาล ว่าความตามนัดวันพิจารณาของศาล จนถึงขั้นตอนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว
เมื่อบริษัทผิดสัญญาท่านมีสิทธิส่งหนังสือบอกกล่าวหรือหนังสือทวงถามไปก่อนที่จะทำเรื่องฟ้องได้ เพื่อให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาก่อน หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามก็ดำเนินการฟ้องร้องในลำดับต่อไป และการฟ้องร้องนอกจากบริษัทจะเป็นจำเลยแล้วยังสามารถฟ้องกรรมการบริษัทได้ด้วย อีกทั้งหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องรับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นกับบริษัทด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีข้อยกเว้น หากเป็นการผิดสัญญาที่เป็นข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิด
มาตรา 483 คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้
มาตรา 484 ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ย่อมไม่คุ้มผู้ขายให้พ้นจากการต้องส่งเงินคืนตามราคา เว้นแต่จะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 485 ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย
แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเกิดการฟ้องคดีขึ้นหรือไม่ สิ่งสำคัญที่คู่สัญญาไม่ควรละเลยก็คือ การตกลงกันกับบริษัทให้ชัดเจนและควรบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยละเอียด เพื่อเป็นหลักฐานและอาจนำมาใช้อ้างอิงเมื่อเกิดปัญหา และอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการตรวจสอบประวัติหรือคุณสมบัติของบริษัทก่อนตกลงทำสัญญาต่างๆ เพราะสุดท้ายแล้วหากบริษัทดังกล่าว อาจมีประวัติที่ไม่ดีมาก่อน แม้จะถูกดำเนินคดีก็อาจเป็นการยากที่จะบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของบริษัทมาชำระหนี้ได้
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2529
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แทนบริษัท ท.ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างประเทศ บริษัท ท.ผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินค่าใช้จ่ายที่จำเลยรับไปจากโจทก์ ดังนี้เป็นคดีพิพาทด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา8 (1) อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ส่วนจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์หรือไม่ หรือรับผิดเท่าใดเป็นอีกกรณีหนึ่ง มิได้หมายความว่าเมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดแล้วคดีไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 วรรคสอง ห้ามโจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลอีกเฉพาะกรณีที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา ปรากฏว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อนไปแล้ว คดีนั้นจึงไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณา แม้จำเลยจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยมิได้สอบถามจำเลยก่อนก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจะถือว่าคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาหาได้ไม่ ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อน จำเลยได้รับมอบอำนาจจากบริษัทตัวการซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างประเทศทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แทนบริษัทตัวการไม่ว่าจำเลยจะได้รับมอบหมายอำนาจแต่เฉพาะการหรือรับมอบอำนาจทั่วไปก็ตาม จำเลยย่อมเป็นตัวแทนของบริษัทตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 การที่จำเลยได้รับอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาคนงานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ไม่ทำให้ฐานะของจำเลยเปลี่ยนเแปลงไปโดยไม่เป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไปได้ บริษัทตัวการไม่สามารถให้โจทก์ทำงานในต่างประเทศได้ตามปกติจนครบกำหนดตามสัญญาจ้างแรงงาน โดยจัดให้โจทก์เข้าทำงานในเดือนแรกส่วนเดือนต่อๆมาโจทก์มิได้เข้าทำงานและมิได้รับค่าจ้าง ซึ่งมิใช่ความผิดของโจทก์จะถือว่าบริษัทตัวการได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาจ้างแรงงานแล้วหาได้ไม่ เมื่อบริษัทตัวการผิดสัญญาต่อโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนในประเทศไทยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานแต่ลำพังตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย
Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์
เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.
เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145