Last updated: 6 ส.ค. 2565 | 13439 จำนวนผู้เข้าชม |
การทารุณกรรมสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท โดยมาตรา 31 ซึ่งเป็นการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำ โดยทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือจิตใจ ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือถึงขั้นที่สัตว์นั้นตายและรวมถึงการใช้สัตว์ที่พิการหรือเจ็บป่วย สัตว์ชราหรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาผลประโยนช์กับสัตว์ หรือใช้สัตว์ประกอบกิจการ หรือใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควร หรือใช้ให้สัตว์ทำงานไม่สมควรเพราะสัตว์นั้นเจ็บป่วยชราหรืออ่อนอายุ
มาตรา 20 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์ โดยไม่มีเหตุอันสมควร
มาตรา 31 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ
เมื่อมีผู้ใดกระทำการดังกล่าวที่กล่าวมานั้นย่อมมีความผิดตามกฎหมาย หากมีการแจ้งความหรือกล่าวโทษ ตำรวจย่อมสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ซึ่งเป็นกฎหมายอาญา แต่ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ก็มีส่วนกำหนดไว้ให้การกระทำดังนี้ ไม่ถือว่ามีความผิดและไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งจะปรากฏในมาตรา 21
มาตรา 21 บัญญัติไว้ว่า การกระทําดังต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ตามมาตรา 20
(1) การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร
(2) การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจําหน่ายเนื้อสัตว์
(3) การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
(4) การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วย พิการ หรือบาดเจ็บและไม่สามารถ เยียวยา หรือรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยปราศจากความทุกข์ทรมาน
(5) การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา
(6) การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์ หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน
(7) การกระทําใดๆต่อร่างกายสัตว์ ซึ่งเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ โดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์หรือผู้ซึ่งได้รับยกเว้นให้กระทําได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภาตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์
(8) การตัด หู หาง ขน เขา หรืองา โดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์หรือการดํารงชีวิตของสัตว์
(9) การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น
(10) การกระทําอื่นใดที่มีกฎหมายกําหนดให้สามารถกระทําได้เป็นการเฉพาะ
(11) การกระทําอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ตัวอย่างคดีที่น่าสนใจ
1. คดีจับสุนัขโยนลงจากตึกสูงจนตาย
เหตุเกิดที่กรุงเทพมหานคร นาย ก. ให้การว่าอยู่ร่วมห้องเดียวกันกับ น.ส. ข. เนื่องจากสุนัขตัวดังกล่าวขับถ่ายไม่เป็นที่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนไปทั่วห้อง สิ่งของภายในห้องกระจัดกระจายทั้งบนพื้นและเตียงนอนมีรอยเท้าสุนัขและอุจจาระปรากฏอยู่ จึงโยนทรัพย์สินสิ่งของของ น.ส. ข. ออกไปนอกห้องและจับสุนัขโยนออกนอกระเบียงไปด้วย ศาลตัดสินลงโทษนาย ก. จำคุก 4 เดือน ให้การรับสารภาพลดกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 เดือน แต่เนื่องจากเป็นพฤติกรรมทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานและเจ็บปวดจนตาย ไม่มีเหตุให้ลดโทษให้ และไม่รอการลงโทษ
2. คดียิงหมา
หน้าห้างอิมพีเรียล มีนายวิชา บุญลือลักษณ์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์ ฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกข์เวทนา ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 และข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน หลังจากนายวิชา ใช้อาวุธปืน ยิงสุนัขสีขาวดำหลายนัด กระสุนปืนถูกหัวไหล่ทั้งสองข้าง ทำให้ขาทั้งสี่ข้างของ “เจ้าขาวดำ” เป็นอัมพาต ส่วนภายในมีเลือดไหลออกในปอดจำนวนมาก จนตายในที่เกิดเหตุหน้าห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล สาขาลาดพร้าว ช่วงค่ำวันที่ 13 มกราคม 2558 ซึ่งจำเลยรับสารภาพว่าบันดาลโทสะและอ้างว่า“เจ้าขาวดำ” ไล่กัดขณะขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านหลายครั้ง รวมถึงคนอื่นๆด้วย โดยวันเกิดเหตุก็ถูกสุนัขวิ่งไล่กัดอีก จึงทำไปเพราะความโมโห
คดีนี้ศาลจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 และลงโทษตามข้อหาอื่น คือ พระราชบัญญัติอาวุธปืนด้วย รวมโทษทั้งสิ้นจำคุก 14 เดือน หรือ 1 ปี 2 เดือน และปรับ 7,500 บาท แต่ให้รอลงอาญาและคุมความประพฤติเป็นเวลา 1 ปี และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่งโมง
3. คดีฆ่าชำแหละสุนัขเพื่อจำหน่าย
เหตุเกิดที่ จังหวัดหนองคาย นาย ก. ได้ทำการฆ่าสุนัขจำนวน 14 ตัว แล้วชำแหละแยกชิ้นส่วนบรรจุในถุงพลาสติก นำไปจำหน่ายให้กับผู้ที่นิยมบริโภคเนื้อสุนัข ศาลลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท ให้การรับสารภาพโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี
4. คดีใช้มีดฟันที่ใบหน้าสุนัข
เหตุเกิดที่ จังหวัดหนองคาย นาย ก. ได้ใช้มีดฟันที่ใบหน้าสุนัขของเพื่อนบ้านเป็นแผลฉกรรจ์ โดยให้การรับว่าได้กระทำผิดจริง แต่มีเหตุผลว่าสุนัขตัวดังกล่าวจะเข้าไปกัดไก่ของตนเอง จึงขว้างมีดไปที่สุนัข ไม่ได้หวังจะฆ่าให้ตาย คดีนี้ศาลตัดสินว่านาย ก. กระทำการทารุณกรรมสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย
Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์
เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.
เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145