2644 จำนวนผู้เข้าชม |
พินัยกรรมเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง โดยบุคคลแสดงเจตนาในเรื่องทรัพย์สินของตนในกรณีที่เสียชีวิต ซึ่งพินัยกรรมจะมีผลบังคับได้ตามกฎหมายต่อเมื่อบุคคลที่ได้ทำพินัยกรรมได้เสียชีวิตแล้วเท่านั้น และเป็นการยกทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมให้แก่บุคคลที่ต้องการจะยกทรัพย์สินให้
การทำพินัยกรรมไว้ก่อนเสียชีวิตจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อเป็นการยกทรัพย์สินให้ตรงตามเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมและเป็นการป้องกันการทะเลาะกันในครอบครัวที่มักจะมีปัญหากันในเรื่องการแย่งมรดกหลังผู้ตายได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่การทำพินัยกรรมมีความซับซ้อน ต้องทำให้ถูกต้องตามแบบของกฎหมาย หากทำพินัยกรรมไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้พินิยกรรมที่ได้ทำไว้มีผลเป็นโมฆะได้ เมื่อพินัยกรรมเป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกทั้งหมดก็ต้องแบ่งให้แก่ทายาทตามส่วนของกฎหมาย
โดยพินัยกรรมนั้นมีทั้งหมด 5 รูปแบบ ได้แก่
1.) พินัยกรรมแบบธรรมดา
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 คือ เป็นการทำพินัยกรรมโดยการทำเป็นหนังสือตามแบบไม่ว่าจะเขียนหรือพิมพ์ โดยมีรายละเอียดตามที่ต้องการยกทรัพย์มรดก เขียนวันเดือนปีให้ชัดเจน พร้อมมีพยาน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรองพินัยกรรมขณะที่ทำพินัยกรรมขึ้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 บัญญัติว่า พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดังนี้ก็ได้ กล่าวคือต้องทำเป็นหนังสือลง วัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้
2.) พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 คือ เป็นพินัยกรรมที่เขียนเองทั้งฉบับ โดยเป็นลายมือของผู้ทำพินัยกรรม และไม่ต้องมีพยาน และลงวันเดือนปีในขณะที่ทำ
มาตรา 1657 บัญญัติไว้ว่า พินัยกรรมนั้นจะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้
บทบัญญัติ มาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรานี้
3.) พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 คือ การทำพินัยกรรมโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งความประสงค์โดยให้ถ้อยคำ หรือข้อความที่ต้องการใส่ในพินัยกรรมของตนแก่เจ้าพนักงานที่สำนักงานเขตสำหรับกรุงเทพฯ หรือที่ว่าการอำเภอสำหรับต่างจังหวัด พร้อมพยานอย่างน้อย 2 คนลงลายมือชื่อ และจะทำนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ ถ้าหากมีการร้องขอ และเจ้าพนักงานจะลงลายมือชื่อ วันเดือนปีที่ทำพินัยกรรม และจดข้อความว่าพินัยกรรมได้ทำขึ้นถูกต้อง พร้อมประทับตราตำแหน่งไว้ด้วย
มาตรา 1658 บัญญัติว่า พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองก็ได้ กล่าวคือ
(1) ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
(2) กรมการอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
(3) เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่าข้อความที่กรมการอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
(4) ข้อความที่กรมการอำเภอจดไว้นั้น ให้กรมการอำเภอลงลายมือชื่อและลงวัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติอนุมาตรา 1 ถึง 3 ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และกรมการอำเภอจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้
4.) พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1660 คือ เป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำสามารถเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ ลงลายมือชื่อเจ้าของมรดก และปิดผนึกพินัยกรรมพร้อมทั้งลงลายมือชื่อทับรอยผนึกด้วย และนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงาน ณ สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร หรือที่ว่าการอำเภอ ต่างจังหวัด พร้อมทั้งพยานอย่างน้อย 2 คน และแจ้งให้เจ้าพนักงานและพยานทราบว่า พินัยกรรมนี้เป็นของตน และเจ้าหน้าที่จะจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมไว้บนซอง และประทับตราตำแหน่ง โดยผู้ทำพินัยกรรม พยาน และเจ้าหน้าที่ต้องลงลายมือชื่อไว้หน้าซองตรงที่ปิดผนึก
มาตรา 1660 บัญญัติว่า พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารลับก็ได้ กล่าวคือ
(1) ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
(2) ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมนั้น แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
(3) ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อกรมการอำเภอ และพยานอีกอย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมมิได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย
(4) เมื่อกรมการอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมและวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองนั้นและประทับตราตำแหน่งแล้ว ให้กรมการอำเภอผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้
5.) พินัยกรรมทำด้วยวาจา
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1663 คือ ผู้ทำพินัยกรรมอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุ ผู้ทำพินัยกรรมอาการสาหัสอยู่ที่โรงพยาบาลก็สามารถทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้ โดยผู้ทำแสดงเจตนาต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน เมื่อพยานรับฟังข้อความนั้นแล้วจะต้องรีบไปแจ้งต่อราชการโดยเร็วที่สุด คือ ไปสำนักงานเขต สำหรับกรุงเทพมหานคร หรือที่ว่าการอำเภอ สำหรับต่างจังหวัด โดยให้แจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมสั่งไว้ด้วยวาจา พร้อมทั้งแจ้งวัน เดือน ปี และสถานที่ทำพินัยกรรม รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย และเจ้าหน้าที่จดข้อความที่ได้รับแจ้ง พร้อมทั้งให้พยานที่มาแจ้งลงลายมือชื่อ ในกรณีไม่อาจลงลายมือชื่อก็ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและให้พยานที่หามาใหม่อย่างน้อย 2 คน ลงลายมือชื่อรับรอง
มาตรา 1663 บัญญัติว่า เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม บุคคลนั้นจะทำพินัยกรรมด้วยวาจาก็ได้
เพื่อการนี้ ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
พยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้าและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ด้วย
ให้กรมการอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งนั้นไว้ และพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้ หรือมิฉะนั้น จะให้เสมอกับการลงลายมือชื่อได้ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2521
พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ซึ่งมีผู้ลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานคนหนึ่งและมีผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานอีกคนหนึ่ง กับมีนายอำเภอผู้จัดทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อในฐานะนายอำเภอนั้น การลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานใช้ไม่ได้ พยานในพินัยกรรมจึงเหลือเพียงคนเดียวขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 แต่พินัยกรรมฉบับนี้ได้ทำต่อหน้านายอำเภอ จึงถือได้ว่านายอำเภอเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยอีกผู้หนึ่ง โดยไม่จำต้องมีข้อความเขียนบอกว่าลงชื่อเป็นพยานอีกฐานะหนึ่ง เมื่อรวมแล้วจึงเป็นพินัยกรรมที่ทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกับอนุโลมเข้าแบบพินัยกรรมธรรมดาตามมาตรา 1656, 136 (อ้างฎีกาที่ 1612/2515)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6297/2556
การทำพินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 และ 1647 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะทำพินัยกรรม ผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดจาไม่ได้ บังคับร่างกายของตนก็ไม่ได้ จึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายได้ด้วยตนเอง ข้อความในพินัยกรรมจึงมิใช่เจตนาอันแท้จริงของผู้ตาย แต่เป็นข้อความที่แสดงเจตนาของผู้แอบอ้างจัดทำขึ้นเอง จึงเป็นพินัยกรรมปลอม ไม่มีผลบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8055/2556
ทรัพย์มรดกที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. เป็นที่ดิน ซึ่งผู้จัดการมรดกของ ธ. ได้ดำเนินการขายที่ดินทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งเงินแก่ทายาทของ ธ. เป็นคราว ๆ และ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกดังกล่าวด้วย เมื่อ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกของ ธ. แล้ว ก็หาได้ระบุกันเงินส่วนดังกล่าวไว้ต่างหากเป็นพิเศษไม่ เงินที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. จึงระคนกับเงินส่วนอื่นที่ ด. มีอยู่ ไม่อาจถือเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างได้ การที่ ด. ทำพินัยกรรมฉบับก่อนยกเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงหาเป็นพินัยกรรมลักษณะเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1651 (2) ไม่ เมื่อต่อมา ด. ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลังยกเงินจำนวนเดียวกันให้จำเลยอีก ข้อความของพินัยกรรมทั้งสองฉบับที่ระบุให้เงินของ ด. ตกแก่ทายาทต่างคนกันจึงขัดกัน และ ด. ผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 1697 ที่ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง โจทก์จึงหามีสิทธิใดๆในทรัพย์มรดกของ ด. ไม่ เพราะสิทธิของโจทก์ถูกยกเลิกไปแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3460/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1663 บัญญัติให้ผู้ตอยู่ในอันตรายใกล้ความตายทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้ การที่ผู้ทำพินัยกรรมมีอาการป่วยหนักพูดจาไม่ได้ ไม่สามารถให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ได้ แต่ไม่ปรากฏว่าขณะผู้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตายไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่น กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่จะทำพินัยกรรมด้วยวาจาตามบทบัญญัติดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 891/2493
เจ้ามรดกเจ็บครรภ์จะคลอดบุตร นั่งรถ 3 ล้อไปโรงพยาบาลในระหว่างทางเจ้ามรดกสั่งพยานที่ไปส่งด้วยว่า ถ้าเป็นอะไรให้ยกทรัพย์ให้จำเลย แล้วต่อมาเจ้ามรดกก็ตายที่โรงพยาบาลพยานเพิ่งนำความไปแจ้งแก่กรมการอำเภอภายหลังที่สั่งไว้ถึง 8 วัน ทั้งที่บ้านพยานก็อยู่ใกล้อำเภอเช่นนี้ จะปรับเข้าตามมาตรา 1663 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ เพราะไม่มีเหตุผลที่จะถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งเจ้ามรดกไม่สามารถทำพินัยกรรมได้ประการหนึ่ง และเป็นการขัดกับความในวรรค 3 แห่ง มาตรา 1663 ที่บัญญัติว่า ให้ไปแจ้งโดยมิชักช้า จึงจะถือเป็นนิติกรรมโดยชอบไม่ได้
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย
Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์
เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.
เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145