Last updated: 27 ต.ค. 2564 | 331311 จำนวนผู้เข้าชม |
คดีพรากผู้เยาว์
พราก หมายถึง จากไป, พาเอาไปเสียจาก, แยกออกจากกัน, เอาออก จากกัน หรือก็คือ การทำให้เด็ก หรือผู้เยาว์ห่างจากผู้ปกครอง
เด็ก หมายถึงบุคคลที่มีอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปีบริบูรณ์
เยาวชน หมายถึงบุคคลที่มีอายุเกิน ๑๕ ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ปีบริบูรณ์
ผู้เยาว์ หมายถึง บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งจะบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อทำการสมรส ตาม
ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448
มาตรา 1448 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
การ “พรากผู้เยาว์” นั้นเป็นผู้ความผิดทางอาญา มีมาตรา 317, 318 และ 319 ดังนี้
มาตรา 317 ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2548
ป.อ. มาตรา 317 วรรคหนึ่ง มีความมุ่งหมายเพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีต่อผู้เยาว์มิให้ผู้ใดพาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแลโดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด และไม่คำนึงถึงระยะใกล้หรือไกล แม้ผู้เสียหายที่ 1 นั่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านของจำเลย แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ยังอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่มีสิทธิจะพาผู้เสียหายที่ 1 ไปยังที่ใดโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม การที่จำเลยมาอุ้มผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นไปบนบ้านพาไปห้องนอนแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ถือว่าจำเลยแยกสิทธิปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ในการควบคุมดูแลผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตาม มาตรา 317 วรรคสาม จำเลยนำอวัยวะเพศของจำเลยใส่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 อวัยวะเพศจำเลยได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ส่วนจำเลยจะสำเร็จความใคร่หรือไม่ย่อมมิใช่สาระสำคัญ
ในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย
มาตรา 318 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสีย จากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3767/2541
จำเลยขับรถแท็กซี่พาผู้เสียหายไปถึงปากทางเข้าหมู่บ้านการเคหะบางพลี ผู้เสียหายบอกจำเลยให้ขับรถไปส่งในหมู่บ้าน แต่จำเลยกลับขับรถเลยไปโดยพูดกับผู้เสียหายว่าขอควงผู้เสียหายไปเที่ยวบางแสน เมื่อจำเลยขับรถไปถึงบริเวณหน้าวัดหอมศีล จำเลยเลี้ยวรถกลับมุ่งไปทางกรุงเทพมหานคร และไปจอดอยู่ริมทางหน้าวัดหอมศีลซึ่งอยู่เลยทางเข้าหมู่บ้านการเคหะบางพลีประมาณ 10 กิโลเมตรระหว่างนั้นจำเลยได้ดึงตัวผู้เสียหายไปจูบแก้มรวม 3 ครั้งและพูดขอให้ผู้เสียหายยอมเป็นภริยา การกระทำของจำเลย ที่ไม่ยอมเลี้ยวรถเข้าไปส่งผู้เสียหายที่หมู่บ้านการเคหะบางพลีและขับรถเลยไปเพื่อจะกระทำอนาจารผู้เสียหายเป็นการพราก ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ดูแล โดยผู้เสียหายไม่เต็มใจไปด้วยจึงเป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม แล้ว หลังจากนั้นจำเลยได้พาผู้เสียหายไปไกลอีกถึง 10 กิโลเมตร จำเลยจึงได้กระทำอนาจารผู้เสียหายซึ่งเป็นการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 อีก การกระทำความผิด ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำต่างกรรมกับความผิด ตามมาตรา 318 วรรคสาม ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีจำคุก 1 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ปกครองผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่ บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี จำคุก 6 เดือน รวมกับโทษจำคุก 3 ปี ฐานพรากผู้เยาว์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 3 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เฉพาะเรื่องโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งที่จำเลยฎีกาว่า ท. ไม่ได้เป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เสียหายเพราะถ้าเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่ได้รับมอบหมายอำนาจปกครองจากมารดาผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายต้องพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ท.ท. จึงจะเป็นผู้ดูแลผู้เสียหายในฐานะผู้ปกครองได้ เมื่อผู้เสียหายกับ ท. ไม่ได้พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ท. จึงมิได้เป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เสียหาย และโจทก์ไม่นำสืบให้ชัดเจนว่า ท. ผู้ปกครองผู้ดูแลผู้เสียหายอย่างไร ท. จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกา
ในกรณีที่ผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย
มาตรา 319 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038/2534
จำเลยและผู้เสียหายรักใคร่ชอบพอกันฉันชู้สาว ผู้เสียหายเต็มใจให้จำเลยร่วมประเวณีโดยสมัครใจ หลังจากนั้นประมาณ 20 วันจำเลยสึกจากพระภิกษุ โดยจำเลยและผู้เสียหายอยู่กินฉันสามีภรรยาตลอดมาจนมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง โดยจำเลยแต่ผู้เดียวเป็นผู้ทำงานหาเลี้ยงผู้เสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยมีเจตนาพาผู้เสียหายไปและร่วมประเวณีกับผู้เสียหายด้วยประสงค์จะเลี้ยงดูผู้เสียหายเป็นภริยา แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยอยู่ในสมณเพศ แต่ต่อมาภายหลังจำเลยก็สึกจากสมณเพศโดยสมัครใจ และอยู่กินเลี้ยงดูผู้เสียหายตลอดมาจนเกิดบุตรด้วยกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2561
การกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหว เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก "พราก" ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไป หรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยนัดแนะ หรือแยกผู้เสียหายที่ 2 ไปยังที่ต่างๆในโรงเรียน จำเลยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น แม้หลังถูกกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 มิได้ถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง มีอิสระในการเคลื่อนไหว และสามารถกลับไปเรียนตามปกติได้ ก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารแล้ว
ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145